ทั่วทั้งโลกต่างยอมรับว่าเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นพลังงานรักษ์โลก ไม่ก่อให้เกิดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปริมาณก๊าซพิษน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น แถมยังเป็นพลังงานหมุนเวียนสามารถปลูกสร้างใหม่ขึ้นมาได้

แม้แต่สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจตัวพ่อที่เคยดื้อแพ่ง ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาประชาคมโลกช่วยกันลดโลกร้อน เพราะนายทุนเจ้าของบริษัทน้ำมันปิโตรเลียมที่ก่อมลพิษให้โลก รับไม่ได้กับยอดขายที่ต่ำลง...วันนี้ยังต้องเปลี่ยนนโยบาย จะนำพาสหรัฐฯให้กลายเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานสะอาดของโลก และส่งออกเทคโนโลยีพลังงานสะอาดไปทั่วโลก

ส่วนบ้านเรายังจำได้มั้ยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เจอปัญหาฝุ่นควันพิษ พีเอ็ม 2.5 มีการรณรงค์ให้รถบรรทุกใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 จะสามารถช่วยลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ ด้วยน้ำมันไบโอดีเซลปาล์มเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่มีกำมะถันเจือปนเหมือนน้ำมันปิโตรเลียมจากฟอสซิล

แต่วันนี้ไม่น่าเชื่อ หน่วยราชการไทยคิดกลับตาลปัตร ด้วยเหตุผลฟังดูดี๊ดี...เพื่อลดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กรมควบคุมมลพิษเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้อนุมัติการยกระดับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยจากยูโร 4 ขึ้นไปเป็นยูโร 5 ในปี 2564 และเป็นยูโร 6 ในปี 2565

...

คนทั่วไปฟังแล้วเคลิ้มตาม เพราะอากาศบ้านเราจะดีขึ้น...แต่จะมีใครรู้บ้างมั้ยว่า ใช้มาตรฐานยูโร 5 แล้วอะไรจะเกิดขึ้นตามมา

หนึ่งนั้น...น้ำมันจะมีราคาแพงขึ้น อย่างน้อยๆอีกลิตรละ 40 สตางค์ เพราะโรงกลั่นจะต้องลงทุนเพิ่มในการกำจัดกำมะถันให้เหลือน้อยลง

อีกหนึ่ง...ราคารถยนต์จะแพงขึ้นอีกอย่างน้อยๆคันละ 25,000 บาท สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลยูโร 5 และแพงขึ้นคันละ 55,000 บาท กรณีบังคับใช้มาตรฐานยูโร 69 เพราะทางโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ต้องติดอุปกรณ์เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อรองรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดใหม่

ตัวเลขนี้ไม่ใช่ได้มาแบบมั่วๆ เป็นรายงานของกระทรวงพลังงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

และอีกหนึ่งผลกระทบที่ตามมา...บังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่เป็นยูโร 5 พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจะสูญเสียรายได้ไปมหาศาล…เพราะมีรายงานว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์ยูโร 5 จะไม่สามารถใช้น้ำมันดีเซล บี 10 ได้ ใช้ได้เพียง บี 7 เท่านั้น

การศึกษาของ ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ คำนวณสมดุลสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของประเทศ พบว่า หากไม่สามารถใช้น้ำมันดีเซล บี 10 ได้ จะทำให้ระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มในปี 2567 พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 9 แสนถึง 1 ล้านตัน...ที่ผ่านมาแค่มีสต๊อกเกิน 2.5 แสนตัน เกษตรกรเดือดร้อนทั่วหน้า

และถ้าวันนั้นมาถึง สต๊อกล้นเป็นล้านตันจะกระทบต่อเกษตรกรขนาดไหน ราคาปาล์มมีโอกาสต่ำกว่า กก.ละ 3 บาท เกษตรกรขาดทุน เป็นภาระรัฐบาลต้องควักเงินประกันรายได้นับหมื่นล้าน

แถมเรื่องนี้ยังสวนทางกับมติคณะรัฐมนตรี 7 ก.ค.63 ที่รับทราบมติ กนป. ครั้งที่ 1/2563 เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 เพื่อให้ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบสามารถรองรับปริมาณผลปาล์มน้ำมัน

แต่ยังโชคดีที่แผนผลักดันของราชการบางหน่วยงานยังไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้เลื่อนกำหนดการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ไปเป็นปี 2567 และยูโร 6 เป็นปี 2568 ยืดเวลาให้เกษตรกร ประชาชนทั่วไปมีเวลาต่อลมหายใจไปได้อีก 3 ปี

...

กระนั้นก็ตามดูเหมือนการยืดต่อลมหายใจคงจะไม่เป็นผลสักเท่าไร เพราะวันนี้เริ่มขายน้ำมันยูโร 5 นำร่องไปแล้ว ด้วยมั่นใจว่านโยบายนี้เดินหน้าแน่นอน 1,000% ไม่เชื่อไปดูตามปั๊มน้ำมันได้

ดีเซลพรีเมียมนั่นแหละ ลิตรละเท่าไร แพงกว่าดีเซลพื้นฐาน (B10) ลิตรละ 7-9 บาท…ไม่ใช่ลิตรละ 40 สตางค์

มันเลยเกิดคำถามง่ายๆ ในเมื่อมีเจตนาต้องการลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทำไมต้องคิดอะไรให้วุ่นวาย ในเมื่อรู้กันอยู่ เชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน เอทานอลจากอ้อยและมันสำปะหลัง เป็นเชื้อเพลิงไร้กำมะถัน

ทำไมถึงไม่กำหนดมาตรฐานให้น้ำมันเชื้อเพลิงมีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น และส่งเสริมให้ใช้กันมากกว่าเดิม นอกจากจะช่วยให้อากาศดีขึ้น ยังลดการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม ประชาชนไม่ต้องซื้อรถที่แพงขึ้น เกษตรกรขายผลผลิตได้มากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

ในขณะที่บังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ยูโร 6 คนได้ประโยชน์มีแค่กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ได้ผลประโยชน์จากขายน้ำมันชนิดใหม่ ได้เงินเพิ่มปีละไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท กับกลุ่มธุรกิจยานยนต์ จะได้เงินมากขึ้นจากการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นยูโร 5 ปีละ 15,000 ล้านบาท และจากเครื่องยนต์ยูโร 6 ปีละ 33,000 ล้านบาท นี่คิดคำนวณจากยอดรถดีเซลจดทะเบียนใหม่ปี 2562 ที่มีประมาณปีละ 6 แสนคัน (ก่อนเจอผลกระทบโควิด) เท่านั้นนะ

...

แค่ตัวรถและน้ำมันที่ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงถึงปีละ 4 หมื่นกว่าล้าน นี่ยังไม่รวมที่รัฐจะต้องอุ้มราคาปาล์มทะลายอีกปีละ 1.5 หมื่นล้าน...รวมทั้งหมดแล้วเราต้องเสียเงินกันปีละเกือบ 6 หมื่นล้าน 10 ปีสูญไป 6 แสนล้าน

แต่ถ้าบังคับให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น อะไรให้ประโยชน์กับคนไทยและประเทศชาติมากกว่ากัน

เรื่องแค่นี้ทำไมถึงคิดกันไม่ได้ หรือต้องคิดซับคิดซ้อน เพราะมีผลประโยชน์สอดไส้เป็นวาระซ่อนเร้น.

ชาติชาย ศิริพัฒน์