ปัจจุบันการแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากเมื่อ 3 ปีก่อน มีปลาหมอสีคางดำที่หลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก

ล่าสุดกรมประมงได้อาศัยความตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2560 ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 และจะมีผลบังคับใช้ 16 ส.ค.นี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตราย มิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ

...

ประกาศกระทรวงห้ามเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด ได้แก่

1.ปลาหมอสีคางดำ ชื่อสามัญ Blackchin tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodonmelanotheron

2.ปลาหมอมายัน ชื่อสามัญ Mayan cichlid ชื่อวิทยาศาสตร์ Mayaherosurophthalmus

3.ปลาหมอบัตเตอร์ ชื่อสามัญ Zebra cichlid ชื่อวิทยาศาสตร์ Heterotilapiabuttikoferi

4.ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม ชื่อสามัญ Peacock cichlid, Butterfly peacock bass ชื่อวิทยาศาสตร์ Cichlaspp.

5.ปลาเทราต์สายรุ้ง ชื่อสามัญ Rainbow trout ชื่อวิทยาศาสตร์ Oncorhynchusmykiss

6.ปลาเทราต์สีน้ำตาล ชื่อสามัญ Sea trout ชื่อวิทยาศาสตร์ Salmotrutta

7.ปลากะพงปากกว้าง ชื่อสามัญ Largemouth black bass ชื่อวิทยาศาสตร์ Micropterussalmoides

8.ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช ชื่อสามัญ oliath tigerfish, Giant tigerfish ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocynus goliath

9.ปลาเก๋าหยก ชื่อสามัญ Jade perch ชื่อวิทยาศาสตร์ Scortumbarcoo

...

10.ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO

11.ปูขนจีน ชื่อสามัญ Chinese mitten crab ชื่อวิทยาศาสตร์ Eriocheirsinensis

12.หอยมุกน้ำจืด ชื่อสามัญ Triangle shell mussel ชื่อวิทยาศาสตร์ Hyriopsiscumingii

13.หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena ชื่อสามัญ Blueringed octopus ชื่อวิทยาศาสตร์ Hapalochlaena spp.

สำหรับแนวทางการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฉบับนี้

...

เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเหล่านี้ ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตตามประกาศกรมประมงภายใน 30 วัน หลังมีผลบังคับใช้ และเมื่อไม่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่นกลุ่มดังกล่าวแล้วให้รีบนำสัตว์น้ำส่งมอบให้สำนักงานประมงจังหวัด หรือหน่วยงานกรมประมงอื่นๆในพื้นที่โดยด่วน

ประชาชนทำการประมงแล้วได้สัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้สัตว์น้ำตายก่อนนำไปจำหน่าย

กรณีสัตว์น้ำจากธรรมชาติทั้ง 13 ชนิดนี้หลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย

ส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใด หากต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมง

...

ห้ามผู้ใดปล่อยสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พ.ร.ก.การประมง 2558...ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การออกประกาศฉบับนี้ ถือเป็นอีกแนวทางช่วยลดปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นที่หลุดรอดเข้ามาแพร่พันธุ์และสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทย

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากท่านเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น และไม่ต้องการที่จะเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว อย่านำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ขอให้ท่านนำสัตว์น้ำเหล่านั้นมามอบให้กับทางกรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นเกิดการหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศในระยะยาว.

ชาติชาย ศิริพัฒน์