“คนไทย...ประเทศไทย” ต้องรอด เรียนรู้...สู้...อยู่กับไวรัส...“โควิด-19” ให้ได้ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาวิธีการตรวจหาชิ้นส่วนของโปรตีนของโควิด-19
และ...โปรตีนตอบสนองการติดเชื้อในน้ำลายและจากตัวอย่างอื่นๆ
ด้วยการใช้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์ขั้นสูงโดยกระบวนการแมสสเปกโตรเมตรี โดยมีข้อเด่นสำคัญคือ...สามารถทำให้ตรวจจับไวรัสได้ในตัวอย่างจำนวนมาก โดยใช้เวลาไม่นาน
ศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า จากการศึกษาตัวอย่างน้ำลายและตัวอย่างอื่นๆ จากผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการ...
พบว่าสามารถตรวจพบโปรตีนจากไวรัส และโปรตีนตอบสนองต่อทั้งไวรัสโควิดสายพันธุ์ปกติ
รวมถึงสายพันธุ์ปกติ รวมทั้งสายพันธุ์อินเดีย อังกฤษและแอฟริกาใต้ เป็นไปอย่างได้ผลดี เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการตรวจด้วยพีซีอาร์ในตัวอย่างที่ได้จากการแยงจมูกและลำคอ แม้ในตัวอย่างที่มีปริมาณไวรัสจำนวนไม่มากก็ตาม
ประเด็นน่าสนใจมีว่า...จากการวิเคราะห์ด้วยตัวอย่าง “น้ำลาย” จากผู้ป่วยที่ได้ผลบวกจากการตรวจด้วยพีซีอาร์จากการแยงจมูก 87 ราย และตัวอย่างลบ 93 ราย พบว่า...ตรงกัน และมีตัวอย่างที่อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์อีก 915 ราย จากพื้นที่ และจากคลังที่มี 44,300 ตัวอย่างตั้งแต่ที่มีการระบาด
...
กระบวนการวิเคราะห์และแปลผลนี้ ทำโดยการประมวลข้อมูลจาก...ปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ด้วยเครื่อง เพื่อช่วยให้มีความสะดวก และตัดสินผลของการวิเคราะห์ได้โดยใช้เวลาไม่นาน
ที่สำคัญ...กระบวนการตรวจข้างต้นนี้อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรโปรแกรม
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่กระบวนการดังกล่าวยังไม่ได้มีการนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทำการประเมินความไว ความแม่นยำ ในตัวอย่างที่มากขึ้น โดยจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ด้วย “ปัญญาประดิษฐ์” และ “เครื่องมือ” เกิดความแม่นยำสูงสุด
ทั้งนี้...ด้วยมีจุดประสงค์ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการ “คัดกรอง” การ “ติดเชื้อ” ที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีความสะดวกในการเก็บตัวอย่าง เช่น น้ำลาย ที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้เกิดความประหยัดในการตรวจคัดกรองคนจำนวนมาก เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม องค์กรขนาดใหญ่
แน่นอนว่า...จะทำให้ยังคงสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์โรคระบาด
นอกจากนั้น “ข้อมูล” ที่ได้จากการ “วิเคราะห์โปรตีน” ยังสามารถผันไปใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษากลไกการตอบสนองทางร่างกายของผู้ติดเชื้อแต่ละราย และสามารถขยายขอบเขตในการวิเคราะห์วินิจฉัยโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆรวมทั้งกรณีโรคไม่ติดเชื้ออย่างอื่น อาทิ โรคสมองเสื่อมในแบบต่างๆ โรคในกลุ่มความผิดปกติของระบบเผาผลาญและภูมิคุ้มกันต่างๆ เป็นต้น
ข้อมูลการ “เฝ้าระวัง” ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบ “สายพันธุ์เดลตา” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 52...รองลงมา “สายพันธุ์อัลฟา” ร้อยละ 47.8 และ...“สายพันธุ์เบตา” ร้อยละ 0.2
...
ส่วนภูมิภาค พบ “สายพันธุ์อัลฟา” ร้อยละ 77.6 “สายพันธุ์เดลตา” ร้อยละ 18 และ “สายพันธุ์เบตา” ร้อยละ 4.4 โดยพบว่า “สายพันธุ์เดลตา” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ส่วนสายพันธุ์อัลฟา และเบตามีแนวโน้มลดลง ซึ่ง “สายพันธุ์เบตา” ส่วนใหญ่ยังพบในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาสมากที่สุด
ตอกย้ำ...สัดส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังสะสมทั้งประเทศ พบว่า “สายพันธุ์อัลฟา” ยังมากที่สุดในประเทศไทย แต่มีแนวโน้มลดลง ส่วน “สายพันธุ์เดลตา” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์
“การ์ดอย่าตก”...ป้องกันการติดเชื้อไวรัสร้าย “โควิด-19” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน...ยังคงเป็นหลักปฏิบัติสำคัญยิ่ง...ทำไม? เราต้องกลัวซึ่งกันและกัน ทำไม? ตรวจกันตอนนี้ ห่างกันเป็นโยชน์ ตรวจทางระบบประสาท พยายามให้ทำตามท่าทาง ยกแขน ขา กลอกตา ไม่แตะเนื้อต้องตัว ดูท่าเดิน การทรงตัว
ทำไม? ตอนนี้เราซักประวัติอาการเจ็บป่วยอย่างรวบรัดใช้เวลาน้อยสุด กันไม่ให้แออัดนี่เป็นเหตุและผลครับ ขณะนี้แพร่ทั่วไปไม่เจ็บป่วยมากอย่าเข้า รพ. เก็บที่ไว้ให้อาการหนักจริงๆ
...
แนวทางการปฏิบัติสำหรับ “บุคลากรทางการแพทย์” ที่สัมผัส “ผู้ป่วย” ยืนยัน “โรคโควิด-19” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ “เสี่ยงสูง”...พูดคุยในระยะใกล้กว่า 1 เมตร นานเกิน 5 นาที หรืออยู่ในสถานที่ปิดนานเกิน 15 นาที หรือโดนผู้ป่วยไอ จามใส่หน้า โดยที่ไม่ได้สวมหน้ากากป้องกันทั้ง 2 ฝ่าย...รับประทานอาหารวงเดียวกัน...มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝอยละออง โดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกัน PPE อย่างเหมาะสม
“เสี่ยงต่ำ”...กรณีอื่นๆที่ไม่ใช่เสี่ยงสูง
แนวทางการดำเนินการ “เสี่ยงสูง”...ให้กักตัว 14 วันหลังสัมผัสวันสุดท้าย เมื่อครบกำหนดและไม่มีอาการป่วยสามารถกลับมาทำงานได้ โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อ กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกลับมาปฏิบัติงานในโรงพยาบาลให้กักตัว 7 วันหลังสัมผัสวันสุดท้าย
กรณี “เสี่ยงต่ำ”...ไม่ต้องหยุดงาน/กักตัว
การตรวจหาเชื้อ “เสี่ยงสูง”...เมื่อมีอาการทางเดินหายใจหรือกรณีมีความจำเป็นอย่างที่ต้องกลับมาปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ให้ตรวจหาเชื้อในวันที่ 7 หลังสัมผัส
ส่วน “เสี่ยงต่ำ”...ให้ตรวจเมื่อมีอาการทางเดินหายใจ
“ทุกคน” ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่าง งดเว้นการรับประทานอาหารร่วมกัน และให้ทำแบบคัดกรองอาการป่วยโรคโควิด-19 ทุกวัน
ย้ำว่า...แนวทางการปฏิบัตินี้ หน่วยงานองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ปฏิบัติป้องกันการระบาดได้
...
ศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ย้ำทิ้งท้ายว่า การควบคุมโรคระบาดอาศัยทั้งความร่วมมือของประชาชนในการรักษาวินัยการคัดกรองอย่างเข้มข้นเป็นระยะสม่ำเสมอเข้าถึงได้ทุกคนและวัคซีน
“จีนใช้ sinovac แต่ที่คุมได้เป็นเพราะมีการตรวจคัดกรองทุกคนเป็นระยะสม่ำเสมอทำให้สามารถแยกตัวคนที่ปล่อยเชื้อออกไปได้ และทันทีที่พบการติดเชื้อจะมีการตรวจอย่างเข้มข้นหลายล้านคนภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ดังนั้นวัคซีน...จะปฏิบัติตัวเป็นตัวช่วยทำให้อาการไม่มากแม้ติดเชื้อ”
และแม้ว่าจะป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ดีเท่าวัคซีนอื่น แต่การคัดกรองดีเยี่ยมทำให้ชดเชยประเด็นนี้ไป พร้อมกับมีการปฏิบัติตามคำสั่งทางการอย่างเคร่งครัด เช่นกันประเทศที่ใช้วัคซีนที่ถือว่าดีและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แต่ถ้าเริ่มไม่มีวินัยและมีไวรัสที่ดื้อวัคซีน การระบาดก็จะกลับเป็นขึ้นมาใหม่
“...วนเวียนอยู่ตามเดิมแม้ว่าการระบาดจะไม่รุนแรงเท่าเก่า แต่ในที่สุด...วัคซีนเองจะพัฒนาจนถึงขีดที่ครอบคลุมได้กว้างขวางมากขึ้นและหวังว่าจะสามารถสยบไวรัสจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นไป”
ขึ้นอยู่กับว่า...ตามรายทางกว่าจะถึงจุดนั้น “เราสูญเสียไปมากเพียงใด” และ “พิสูจน์ให้เห็นอะไรได้มากมาย” ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ ในเรื่องวัคซีน ในเรื่องการคัดกรอง และเรื่องอื่นๆ.