เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้วที่คนไทยต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปพร้อมกับผู้คนทั่วโลก ซึ่งจนถึงขณะนี้ เป็นช่วงเวลาของการแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในเกณฑ์สูง จึงทำให้ทุกคนต้องระมัดระวังและใช้ชีวิตอยู่ในวิถี New Normal อย่างต่อเนื่อง บุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องทำงานหนัก ในขณะที่มีคนอีกจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อน ทำให้หลายหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมกันให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้คนไทยก้าวข้ามวิกฤติ ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ พลิกฟื้นคืนเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

หนึ่งในภารกิจช่วยเหลือจากองค์กรภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการบรรเทาผลกระทบมาโดยตลอด ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรกคือ “กองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19” ที่กลุ่มมิตรผล และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยจำนวนเงินรวม 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แก่โรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ หน่วยงานราชการทั่วประเทศ รวมถึงให้การช่วยเหลือในคลัสเตอร์ต่าง ๆ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล

การช่วยเหลือของกองทุนฯ นี้ มีทั้งการสนับสนุนในด้านการปฏิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุข พร้อมกับบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้คนในสังคมที่ได้รับผลกระทบ เป็นความช่วยเหลือที่มุ่งเสริมทั้งการสร้างเกราะป้องกันภัยและการสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับผู้รักษา ผู้ป่วย และผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่หน่วยงานสาธารณสุขที่ทำหน้าที่อย่างขันแข็งและเสียสละ การให้กำลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยการทำประกันชีวิตให้กับแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ รวมทั้งการส่งมอบถุงยังชีพที่ประกอบด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพ นับเป็นกำลังใจและความใส่ใจที่กองทุนฯ ตั้งใจส่งมอบไปถึงผู้ที่ปฏิบัติภารกิจและผู้ที่เดือดร้อน

ภายใต้สถานการณ์ล่าสุดของการระบาดระลอกใหม่ กองทุนฯ ยังได้ทำงานเชิงรุกด้วยการเข้าถึงพื้นที่ที่มีผู้ได้รับความเดือดร้อนแบบเจาะจง เพื่อให้มั่นใจว่าการกระจายความช่วยเหลือนั้นเป็นไปอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการเสริมกำลังให้บุคลากรทัพหน้า ในโรงพยาบาลหลัก ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญที่ช่วยแบ่งเบาภารกิจของบุคลากรด่านหน้าได้อย่างทันท่วงที เช่น เครื่อง CT Scan ห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) สำหรับผู้ป่วยวิกฤติ ICU เครื่องช่วยหายใจประเภทต่าง ๆ และกระจายการสนับสนุนให้กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลสนาม พื้นที่ชุมชนเสี่ยงสูง คลัสเตอร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และพื้นที่ห่างไกลอย่างตามขอบชายแดน รวมถึงการสนับสนุนระบบบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ให้แก่ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร มูลค่า 4 ล้านบาท ทำให้การบริหารจัดการการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และการสนับสนุนการจัดสร้างหอผู้ป่วยจิตเวชสำหรับกลุ่มติดเชื้อแก่โรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งนับเป็นการดูแลไปถึงกลุ่มคนเปราะบางในสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น กองทุนฯ ยังดำเนินการส่งความช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีพ ต่อลมหายใจให้ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งการช่วยเหลือทางตรงผ่านการมอบถุงยังชีพให้แก่กลุ่มประชาชนในชุมชนคลองเตย จำนวนกว่า 2,500 ถุง มูลนิธิซิสเตอร์ ศูนย์ชุมชนคนข้ามเพศ ในพื้นที่พัทยา กลุ่มเด็กกำพร้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนในเขตโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดปริมณฑล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร และปทุมธานี และการช่วยเหลือทางอ้อมผ่านหน่วยงานหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้คนในสังคม เช่น มอบเงินสนับสนุนโครงการ "ต้องรอด UP FOR THAI" เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบสำหรับทำอาหารปรุงสุกเพื่อส่งถึงชุมชนและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 1.5 ล้านบาท ฯลฯ

 

คุณดอย ฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์ ศูนย์ชุมชนคนข้ามเพศ หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนข้ามเพศในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนมิตรผล-บ้านปูฯ ให้ความเห็นว่า “โควิด-19 มีผลกระทบกับกลุ่มน้อง ๆ LGBT ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่พัทยาที่มีกลุ่มคนข้ามเพศนับหมื่นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 มูลนิธิซิสเตอร์ จึงได้จัดทำโครงการจัดซื้อจัดหาความช่วยเหลือในรูปแบบของข้าวสาร อาหารแห้ง และการตรวจสุขภาพ ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตินี้ ต้องขอขอบคุณบ้านปู ที่เอื้อเฟื้อมอบถุงยังชีพและส่งกำลังใจมาให้คนที่นี่มีแรงที่จะสู้ต่อไป เพราะถุงยังชีพหนึ่งถุงที่พวกเขาได้รับสามารถส่งต่อความช่วยเหลือไปยังคนในครอบครัวของผู้รับได้อีกหลายคน วิกฤติโรคระบาดในที่สุดมันจะผ่านไป แต่การลงมือทำ การแบ่งปัน และการโอบอุ้มกันในช่วงเวลาแบบนี้สำคัญกว่า”

ทางด้าน ร้อยเอกศุภสิทธิ์ สิงหะ นายทหารฝ่ายส่งกำลังบำรุง หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 จังหวัดตาก กล่าวว่า “ทางหน่วยได้รับภารกิจให้สกัดกั้นคนที่ลักลอบเข้าออกประเทศ ทำให้กำลังพลของหน่วยมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทางหน่วยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับกำลังพล และเจ้าหน้าที่จากกองทุนมิตรผล-บ้านปูฯ ทำให้พวกเราสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย ขอบคุณที่ทางกองทุนเล็งเห็นความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือหน่วยของเรา เพื่อช่วยกันเป็นอีกหนึ่งกำลังในการร่วมกันป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ซึ่งในที่สุดแล้วก็ส่งผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนในประเทศไทยของเราในภาพรวม”

หากมองย้อนไปถึงวิธีการทำงานของ “กองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19” กองทุนฯ ได้ถอดบทเรียนจากแนวทางการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบของการให้ เพื่อยับยั้งวิกฤติระดับชาติครั้งนี้ด้วยหลักการทำงานอย่างรวดเร็วและไม่ซ้ำซ้อน โดยแต่ละบริษัทผู้ก่อตั้งกองทุนฯ จะแยกย้ายกันไปบริหารจัดการ และร่วมมือกันในบางโครงการ พร้อมกับสื่อสารกันตลอดเวลา ด้วยทีมงานขนาดเล็ก ทำให้ทำงานได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว ตั้งแต่การหาข้อมูล การตัดสินใจ ไปจนถึงการอนุมัติให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จนเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังกระจายความช่วยเหลือในเครือข่ายที่ไม่ทับซ้อนกัน ทำให้เข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง และส่งมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทันเวลา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “กองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19” ได้มอบความช่วยเหลือให้กับ 284 หน่วยงาน ใน 35 จังหวัด รวมมูลค่ากว่า 370 ล้านบาท ทว่าภารกิจของกองทุนฯ ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ยังคงมีการเตรียมพร้อมและเดินหน้าช่วยเหลือให้คนไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตินี้โดยเร็วที่สุด ซึ่งการระบาดระลอกครั้งล่าสุดนี้ กองทุนฯ ได้ให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือในพื้นที่เฉพาะเจาะจงที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น รวมถึงกลุ่มที่เกิดการแพร่ระบาดคลัสเตอร์ใหม่ๆ เช่น การมอบอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเชิงรุกให้แก่หน่วยงานในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ สำนักงานเขตหลักสี่ สำนักงานเขตห้วยขวาง สำนักงานเขตบางกะปิ สำนักงานเขตบางพลัด และสำนักงานเขตบางแค นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการสนับสนุนพื้นที่ของอาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์ให้เป็นจุดฉีดวัคซีนแก่ประชาชน และการสนับสนุนโครงการวัคซีนเพื่อคนไทย ของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้คนไทยได้ใช้วัคซีนโดยฝีมือคนไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ กองทุนฯ คาดหวังว่าภารกิจช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติ จะสร้างแรงบันดาลใจให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมมือกันส่งต่อความช่วยเหลือและกำลังใจไปยังบุคลากรด่านหน้า ตลอดจนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจให้สามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน