โรคลัมปี สกิน หรือโรค LSD เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในโคกระบือ เกิดจากแมลงพาหะ เช่น เห็บ ยุง แมลงวัน หรือการสัมผัสใกล้ชิดกันของสัตว์ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน จัดเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน
สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ 2-5 ซม. ขึ้นบริเวณผิวหนังทั่วร่างกาย จากนั้นตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ด และเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร ทำให้สัตว์น้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือก และอาจตายในที่สุด
สถิติข้อมูล สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ณ สัปดาห์สุดท้ายของเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีวัวเนื้อ ป่วยสะสม 346,717 ตัว วัวนม 1,705 ตัว...วัวเนื้อตายไปแล้ว 14,532 ตัว วัวนม 85 ตัว
วัวเนื้อป่วยมากกว่าวัวนม 203 เท่า...วัวเนื้อตายมากกว่าวัวนม 170 เท่า ทั้งที่เป็นวัวเหมือนกัน ปัจจัยอะไรที่โรคนี้ถึงได้ระบาดในวัวเนื้อมากกว่าวัวนม
...
รศ.ดร.สมเกียรติ ประสานพานิช กรรมการสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย เผยถึงสาเหตุดังกล่าวว่า มาจากการบริหารจัดการฟาร์ม และกรรมวิธีการเลี้ยงวัวนมกับวัวเนื้อมีความแตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิทัศน์ของการเลี้ยงวัวนมนั้นมักจะเป็นที่โล่งโปร่ง แดดส่องถึง มีการเก็บวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นสัดส่วน ความสะอาด มีการกำจัดมูลออกนอกฟาร์มสม่ำเสมอ และในพื้นที่เลี้ยงแทบไม่มีน้ำขังอยู่เลย เลยทำให้ไม่มีที่อาศัยของแมลงพาหะ
ที่สำคัญการเลี้ยงวัวนมมีจุดประสงค์หลัก คือ ต้องการน้ำนมที่มีคุณภาพ มีปริมาณไขมันมากหรือได้เปอร์เซ็นต์ตามที่กำหนด ฉะนั้น อาหารที่ใช้เลี้ยงจึงมีความหลากหลาย มีทั้งอาหารสด อาหารข้น รวมถึงอาหารเสริม อย่างมันเส้น ถั่ว รำ กากน้ำตาล เมื่อวัวนมได้รับอาหารที่หลาก หลายมากกว่า ดีกว่า วัวนมจึงแข็งแรงสุขภาพดี มีภูมิต้านทานมากกว่าวัวเนื้อ
“ต่างจากวัวเนื้อที่มักปล่อยให้หากินกันในทุ่งเป็นฝูง ทำให้เสี่ยงต่อการสัมผัส ใกล้ชิดกันระหว่างวัวติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้มากกว่า และการเลี้ยงวัวเนื้อมักถูกปล่อยให้คลุกดินโคลน ไม่ค่อยมีการปรับพื้นที่ให้โล่งโปร่ง พื้นที่ในฟาร์มยังมีหลุมบ่อ ไม่ค่อยมีการกำจัดมูลไปนอกพื้นที่ ขาดการทำความสะอาด ทำให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของยุงหรือแมลงต่างๆที่เป็นพาหะ”
ดร.สมเกียรติ แนะว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้เลี้ยงวัวเนื้อต้องหมั่นกำจัดแมลงพาหะนำโรค ด้วยการใช้สารกำจัดแมลงแบบฉีดพ่น หรือแบบ ราดในสัตว์ทุกตัวในฝูง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์ม ให้โปร่งโล่ง ไม่ให้เป็นแหล่ง อาศัยของแมลงพาหะ กำจัด แหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำ หรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ หรือจะกางมุ้งให้สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด เป็นอีก หนึ่งวิธีในการป้องกันโรคลัมปี สกิน ได้.