สมช.จัดให้ คลายล็อก 4 ประเภทก่อสร้าง “โครงการสร้างใต้ดิน-นั่งร้าน-งานจราจร-รพ.สนาม” ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังพุ่งสูงเกือบ 6 พันคน ตายเพิ่ม 44 ศพ ป่วยอาการหนักพุ่งลิ่ว 2,147 คน หลายจังหวัดต้องเฝ้าระวังหลังพบเด็กเล็กติดเชื้อจากผู้ปกครองพุ่ง ส่วนภูเก็ตยันพบคนติดเชื้อในพื้นที่เพิ่มแค่ 2 คน แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา 3 วัน กว่า 1.2 พันคน ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย ด้าน “หมอนิธิพัฒน์” ยันเชื้อเดลตาอันตรายจริง จี้ผู้กุมนโยบายต้องกล้าใช้ยาแรง พร้อมซัดปมจัดหาวัคซีนล่าช้า ซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่าซีรีส์ดังหลายเท่า
หลังรัฐบาลโดย ศบค.มีคำสั่งล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้างทั่ว กทม.และปริมณฑล เนื่องจากพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)เป็นจำนวนมาก มาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ก็มีการคลายล็อกก่อสร้างโครงการบางประเภท แม้ยอดผู้ติดเชื้อป่วยอาการหนักและเสียชีวิตรายวันยังไม่มีวี่แววจะลดลง
คลายล็อกก่อสร้าง 4 ประเภท
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ขอให้พิจารณาอนุมัติในหลักการให้อนุญาตโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น โดยผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับที่25 กรณีคำสั่งห้ามการก่อสร้างโครงการบางประเภทได้แก่ 1.โครงการที่หากหยุดก่อสร้างในทันที หรือหากล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไขหรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนโดยรอบ เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม
...
นั่งร้าน–งานจราจร–รพ.สนามได้ด้วย
2.การก่อสร้างชั่วคราวซึ่งหยุดการก่อสร้างในทันที หรือล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนโดยรอบ เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูน โดยเฉพาะแผ่นพื้นที่ 3.ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบร์ริเออร์กั้นช่องจราจร แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร และ 4.สถานที่ก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสถานที่ก่อสร้างอื่นๆที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค นอกจากนี้ขอผ่อนคลายคำสั่งเคลื่อนย้ายแรงงานประเภทก่อสร้างจากสถานที่พักชั่วคราว ทั้งกรณีการข้ามเขตจังหวัด หรือภายในเขตจังหวัด เพื่อประโยชน์ควบคุมโควิด-19 เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าฯ กทม.หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะ กรรมการโรคติดต่อเป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นในเขตพื้นที่ของตนเองเป็นกรณีไป
ก่อสร้างขนาดเล็กแพร่เชื้อปิดทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค.เห็นชอบในหลักการ เห็นสมควรให้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการบางประเภทตามที่กทม.เสนอ โดยเฉพาะโครงการที่แรงงานได้รับวัคซีนแล้ว สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างนั้นได้เห็นสมควรให้ผู้ว่าฯ กทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นรายๆ ไป และให้ กทม.และจังหวัดปริมณฑลกำกับติดตามได้รับการผ่อนคลายภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 เคร่งครัด ส่วนการก่อสร้างขนาดเล็กที่ไม่ถูกห้ามตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ถ้าผู้ว่าฯ กทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าหากปล่อยให้ก่อสร้างแล้วอาจเป็นเหตุแพร่ระบาดให้ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างหรือหยุดการก่อสร้างได้ตามอำนาจ พร้อมให้ กทม.และปริมณฑล ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เข้าใจมาตรการตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ที่ไม่ห้ามการก่อสร้างโครงการขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมาก อันเป็นเหตุให้เกิดแพร่กระจายของโรค และให้จัดช่องทางประชาชนหรือผู้ประกอบการสอบถามการดำเนินการตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ด้วย ทั้งนี้ เมื่อ ศปก.ศบค.เสนอขอให้นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค. แล้ว จึงได้ลงนามเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมาแล้ว
“วิษณุ” ชี้คลายล็อกแค่ชั่วคราว
ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ศปก.ศบค.เตรียมเสนอขออนุมัติหลักการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีมีเหตุ จำเป็นว่า ตามขั้นตอนหลังนายกฯในฐานะ ผอ.ศบค.อนุมัติแล้ว ทางจังหวัดต้องไปออกประกาศของตัวเองอีกครั้ง หากยังไม่ออกประกาศก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ละจังหวัดต้องไปสำรวจก่อนว่าจังหวัดตัวเองมี งานก่อสร้างตรงไหนที่ยังค้างคาอยู่ การคลายล็อกดังกล่าวไม่ได้เป็นการคลายล็อกถาวร แต่เป็นการคลายล็อกชั่วคราว และเฉพาะบางงานที่ทำให้เกิดอันตรายหากทิ้งไว้ จึงต้องคลายล็อกชั่วคราวให้หัวหน้าช่างพาคนงานไปเก็บงานให้เสร็จ จะปล่อยเคว้งไว้ไม่ได้ ส่วนงานก่อสร้างอื่นที่ไม่มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดอันตรายยังหยุดเหมือนเดิมตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ในส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 25 นั้น ยังเยียวยาอยู่เหมือนเดิม
ติดเชื้อยังเฉียด 6 พันคน
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวันที่ 4 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,916 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,871 คน จากเรือนจำ 39 คน มาจากต่างประเทศ 6 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 283,067 คน ทำให้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมเป็นอันดับที่ 65 ของโลก หายป่วยเพิ่มเติม 3,404 คน อยู่ระหว่างรักษา 59,938 คน อาการหนัก 2,147 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 616 คน (เพิ่มขึ้นจากวันที่ 3 ก.ค. จำนวน 27 คน)
...
ตายสะสมพุ่งกว่า 2.2 พันศพ
นอกจากนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 44 คน เป็นชาย 24 คน หญิง 20 คน อยู่ใน กทม. 30 คน สมุทรปราการ 3 คน ยะลาและนครปฐม จังหวัดละ 2 คน ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิต 44 คน มีชาวเมียนมาด้วย 1 คน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,226 คน ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนรวมของประเทศไทย จำนวน 10,670,897 โดส
จ.ตาก ติดเชื้อพรวด 153 คน
จากข้อมูลดังกล่าวยังระบุถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่ วันที่ 4 ก.ค.2564 ใน 5 อันดับแรก คือ กทม. 1,498 คน ปทุมธานี 458 คน สมุทรปราการ 412 คน สมุทรสาคร 395 คน และ ชลบุรี 275 คน สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จำนวน 6 คนนั้น มาจากคูเวต 2 คน กัมพูชา 4 คน โดยมี 1 คน เดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติ และอีก 3 คน เดินทางผ่านด่านข้ามแดนถาวรทางบก ทั้งนี้ ได้มีรายงานการพบการระบาด ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในประเทศเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อาทิ บริษัทเครื่องใช้ในครัวเรือน อ.เมืองสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อใหม่ 15 คน บริษัทพิมพ์บรรจุภัณฑ์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อใหม่ 16 คน และแคมป์ก่อสร้าง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี พบผู้ติดเชื้อใหม่ 28 คน โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด จ.ตาก พบผู้ติดเชื้อใหม่ 153 คน และโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ พบผู้ติดเชื้อใหม่ 14 คน
...
ซิโนฟาร์มมาอีก 1 ล้านโดส
วันเดียวกัน นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์ภาพวัคซีนซิโนฟาร์มลอต 2 จำนวน 1 ล้านโดส บรรจุในตู้ควบคุมอุณหภูมิถูกลำเลียงขนส่งโดยเที่ยวบินขนส่งสินค้า TG 675 ออกจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เวลาประมาณ 06.36 น. ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทยแล้วเมื่อเวลา 10.44 น.
ส่วนใหญ่ไม่พบอาการผิดปกติ
นอกจากนี้ นพ.นิธิยังโพสต์ชี้แจงรายละเอียดรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มว่า จำนวนผู้ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มทั่วประเทศ 67,992 คนนั้น ร้อยละ 97 ไม่พบอาการผิดปกติ ส่วนการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ พบว่า เกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาที ระหว่างรอสังเกตอาการหลังฉีดเพียง 100 คน จากทั้งหมดที่รับวัคซีน คิดเป็นร้อยละ 0.1 เท่านั้น อาการที่พบบ่อย ได้แก่ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ทุกรายมีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีนซิโนฟาร์ม 1 วันนั้น ทางราชวิทยาลัยฯได้จัดส่ง sms รายงานอาการไม่พึงประสงค์แก่ผู้รับบริการวัคซีน เพื่อติดตามความปลอดภัย อาการข้างเคียงได้อย่างทันท่วงที พบว่ามีผู้ตอบ sms จำนวน 17,154 คน คิดเป็นร้อยละ 25 ของผู้รับบริการ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ
ย้ำไม่มีอาการรุนแรงหลังฉีด
ในจำนวนผู้ที่รายงานว่ามีอาการผิดปกติ พบว่า อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ ร้อยละ 2.3 อ่อนเพลียร้อยละ 1.7 ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร้อยละ 1.7 ปวด บวมบริเวณที่ฉีดยาร้อยละ 1.6 ไข้ร้อยละ 1.5 ราชวิทยาลัยฯมีความเป็นห่วงในความปลอดภัยของผู้รับบริการวัคซีนทุกราย ในกระบวนการรับวัคซีนซิโนฟาร์มนั้นจะมีประกันสุขภาพ เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ใดๆที่เกิดขึ้น สามารถเคลมประกันเข้ารับการรักษาได้โดยง่าย จากรายงานบริษัทประกันพบว่า มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนแล้วขอเคลมประกันรักษาพยาบาลอาการไม่พึงประสงค์โดยรับการรักษาใน รพ.จำนวน 8 ราย ขอเน้นย้ำว่า “ยังไม่มีการรายงานอาการรุนแรงจากการรับวัคซีนซิโนฟาร์มเลย” ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนซิโนฟาร์มมีความปลอดภัยสูง อาการไม่พึงประสงค์พบเป็นเพียงอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงเลย
...
เปิด รพ.บุษราคัมเฟส 3
วันเดียวกัน ที่โรงพยาบาลบุษราคัม อิมแพ็คอารีนา เมืองทองธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และผู้บริหาร สธ. ตรวจเยี่ยมการ ขยายศักยภาพเตียงของโรงพยาบาลบุษราคัม รองรับ ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง อีก 1,500 เตียง ที่ฮอลล์กลาง ของอิมแพ็คอารีนา โดยนายอนุทินกล่าวถึงการแบ่งเบาภาระผู้ป่วยจาก กทม.มาที่ รพ.บุษราคัม โดยการขยายเตียงฮอลล์กลาง ของอิมแพ็คอารีนาเมืองทองธานี อีก 1,500 เตียง ส่วนฮอลล์ 1 และ 2 รับผู้ป่วย 2,161 เตียง รวมทั้ง 3 ฮอลล์ รองรับผู้ป่วยได้ ประมาณ 3,700 เตียง ที่ผ่านมามีผู้ป่วยสะสม 5,000 คน รักษาหายกลับบ้านแล้วกว่า 3,000 คน และขณะนี้มีรักษาอยู่ประมาณ 2,000 คน โดยมีเตียงสำหรับ ผู้ป่วยสีแดงอีก 12 เตียง สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาลบุษราคัมจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรแพทย์จากทั่วประเทศทุก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 4 ก.ค. กทม.และปริมณฑล จะมีเตียงเพิ่มขึ้นอีก 1,500 เตียง รวมทั้ง รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 11 อีก 180 เตียง ซึ่งมีเตียงไอซียูประมาณ 58 เตียง
แนะ กทม.เพิ่มจุดตรวจ
นายอนุทินกล่าวอีกว่า หากประชาชนที่มีปัญหาป่วยอยู่ที่บ้าน ขอให้ติดต่อมาที่ รพ.บุษราคัม เพื่อรอการประสานเรื่องเตียง สธ. มีเครือข่ายแพทย์ฉุกเฉินเพื่อจัดรถไปรับผู้ป่วยมาที่ รพ.บุษราคัม เพื่อไม่ให้มีภาพผู้ป่วยเจ็บอยู่ที่บ้าน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ยังไม่มีอาการ ทางกรมการแพทย์ได้ออกแนวทางแยกกักตัวเองที่บ้าน เพื่อบริหารสถานการณ์ให้มีความคล่องตัวมากที่สุด ส่วนของ กทม.ขอฝากให้สำนักอนามัยกรุงเทพฯ เพิ่มจุดตรวจให้มากที่สุด สธ.พร้อมสนับสนุนเต็มที่ ขณะนี้จะพบว่าปัญหายังอยู่ที่ กทม.และปริมณฑล เราต้องร่วมมือกันให้มากที่สุด สธ.พยายามทำทุกวิถีทาง เพราะใน กทม. เราไปจัดการอะไรมากไม่ได้ แต่เราไม่ยอมแพ้
องค์การเภสัชฯ แค่ตัวกลาง
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์การสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกของไทยว่าล่าช้านั้น นายอนุทินกล่าวว่า การ จัดซื้อวัคซีนนั้น ผู้ผลิตต้องการขายผ่านรัฐบาลเท่านั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณา โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงานจัดหาวัคซีนทางเลือก และ สธ.พยายามอำนวยความสะดวกให้ทั้งการขึ้นทะเบียนวัคซีนทางเลือกและให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นหน่วยงานรัฐมาอำนวยความสะดวกระหว่างผู้ซื้อคือ รพ.เอกชน และผู้ขาย ซึ่งจะต้องตกลงเงื่อนไขต่างๆให้ได้ก่อน จากนั้น องค์การเภสัชฯจะเป็นตัวกลางในนิติกรรมจัดซื้อจัดหามาให้ แต่ อภ.ต้องไม่รับความเสี่ยงใดๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านการเงิน ดังนั้น ผู้ซื้อต้องตกลงกับผู้ขายให้ได้ แล้วนำเงินจองวัคซีนมาให้องค์การเภสัชฯเพื่อเปิดออเดอร์สั่งซื้อวัคซีน ซึ่งองค์การเภสัชฯยินดีทำให้ แต่อย่ามามือเปล่า และทุกอย่างต้องถูกต้องตามกฎหมาย
เชื้อเดลตาทำปอดอักเสบเร็ว
วันเดียวกัน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โพสต์เฟซบุ๊กว่า ปอดอักเสบโควิดเดลตามีความต่างจากอัลฟาตรงที่ทุกอย่างมาเร็วขึ้นกว่าเดิม ดังตัวอย่างซีทีสแกนรายหนึ่งที่ 14 วันหลังมีอาการ ยังต้องใช้ไฮโฟลว์ค่อนสูงอยู่ กลัวว่าจะมีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดเฉียบพลัน แต่กลับพบว่าเริ่มมี organizing pneumonia มาแทรก ซึ่งเดิมมักพบปลายสัปดาห์ที่สามไปแล้ว แต่ยังตอบสนองดีต่อ methylprednisolone
ซัดปมหาวัคซีนซ่อนเงื่อน
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่าด้วยเรื่องวัคซีนโควิดในบ้านเรา มันช่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่าหนังซีรีส์ดังหลายเท่า พร้อมแสดงความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ ซึ่งมีสาระสำคัญที่มองทั้งภาครัฐ ที่บางทีก็ดูไม่อยู่กับร่องกับรอย ทำอะไรไม่ค่อยน่าเชื่อถือ น่าเปลี่ยนยกชุดหรืออย่างน้อยเจ้ากระทรวงหมอ รวมถึงนักวิชาการ ที่เข้าไปช่วยงาน แต่อาจไม่ค่อยเปิดกว้างรับฟังความเห็นต่าง ส่วนคนที่มีอคติภาครัฐเป็นทุนเดิม จึงขยายแต่ด้านลบของนโยบายวัคซีนในประเทศเพื่อความสะใจ มากกว่าให้ข้อเสนอแนะทางออกที่ทำได้จริง ขณะที่ภาคเอกชนบางส่วนก็หวังอยากเปลี่ยนขั้วอำนาจรัฐ
จี้ผู้กุมนโยบายต้องกล้าใช้ยาแรง
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ยังระบุด้วยว่า แม้ยอดผู้ป่วยรายวันจะทะยานต่อไป แต่ยอดผู้เสียชีวิตเริ่มลดลง หวังว่าจะไม่กลับขึ้นไปเกินนิวไฮของเมื่อวาน พรุ่งนี้จะเริ่มติดตามตัวเลขผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจใน กทม. ว่าจะมีแนวโน้มไปทางไหน มาตรการล็อกดาวน์แบบจำกัดขอบเขตจะเอาอยู่หรือเปล่า ตอนนี้ใครป่วยโควิด-19 จะลำบากในการหาเตียง ช่วงสองสามวันนี้ตนต้องให้คำปรึกษาใกล้ชิดทางโทรศัพท์และทางไลน์สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงสองรายที่ใช้ไฮโฟลว์อยู่ รพ.อื่น และสำหรับผู้ป่วยสูงอายุอีกหนึ่งรายที่อาการน้อยแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) พร้อมที่วัดอุณหภูมิ ชีพจร และความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้ว แถมด้วยผู้ป่วยเสี่ยงสูงอีกหนึ่งรายที่แข็งแรงดี จึงให้แยกตัวสังเกตอาการที่บ้าน (home quaran-tine) ในยามสถานการณ์เตียงใน รพ.จำกัดเช่นนี้ ทางเลือกดังกล่าวข้างต้นน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาลงได้บ้าง แต่ที่สำคัญผู้กุมนโยบายต้องกล้าตัดสินใจใช้ยาแรงจัดการต้นเหตุถ้าปัญหามีแนวโน้มจะบานปลาย
จับแน่ผู้ปลุกระดมเปิดร้านอาหาร
ส่วนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษก บช.น. เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสในโซเชียลมีเดีย ปลุกระดมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารออกมาเปิดให้บริการลูกค้าตามปกติ อ้างอารยะขัดขืนว่าการโพสต์ปลุกระดมดังกล่าวเป็นเหมือนการหลอกให้ร้านอาหารที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาตุนอาหารและวัตถุดิบเพื่อเปิดร้านให้บริการ แต่กลับขายไม่ได้และถูกตำรวจจับกุม หรือกระทบกระทั่งกับตำรวจ เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการอย่างหนัก การประกาศชักชวนดังกล่าวอ้างว่ามีผู้ประกอบการร่วมอารยะขัดขืนกว่า 200 ร้าน ความเป็นจริงมีเพียงหลัก 10 ร้านเท่านั้น ขอย้ำว่าการออกมาเปิดร้านในช่วงนี้ในลักษณะมั่วสุม แสดงดนตรี ปิดถนน ถูกตำรวจจับกุมแน่นอน ผู้ประกอบการบางรายที่คิดว่าจะเปิดร้าน แต่ยังคงมาตรการตั้งโต๊ะเว้นระยะห่างนั้น ยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งของ กทม.อย่างเคร่งครัด ขณะนี้ต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น ห้ามนั่งในร้านเด็ดขาด
6 ด่านตรวจยังไม่พบผู้ฝ่าฝืน
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวอีกว่า ส่วนด่านสกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดทั้ง 6 จุด ตลอด 6 วันที่ผ่านมา ได้ตรวจยานพาหนะไป 3,318 คัน และบุคคลในยานพาหนะอีก 6,649 คน ยังไม่พบผู้ฝ่าฝืน ส่วนแคมป์คนงานที่ถูกปิด กทม.ประชุมร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมแรงงานก่อสร้าง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและส่งเสบียงอาหารเข้าไปให้แรงงานในแคมป์ หลักแล้ว ส่วนแคมป์เล็กหากมีปัญหาให้ติดต่อไปยังสมาคมอุตสาหกรรมแรงงานก่อสร้างได้ หรือหากมีปัญหาฉุกเฉินอื่นๆ หรือพบผู้ป่วย โทร.191 แจ้งได้ทันที เชื่อว่าภายใน 1 เดือน จะสามารถลดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงได้
แนะเอาผิดจงใจติดโควิดเคลมประกัน
วันเดียวกัน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า มีประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม เรื่องการชักชวนให้จงใจติดโควิดเพื่อเอาเงินประกันภัย ที่ประชุมฯเห็นพ้องกันว่าหากไม่ดำเนินการป้องปรามจะนำไปสู่การฉ้อฉลประกันภัย และจะเกิดความเสียหายต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยที่สุจริต และได้ข้อสรุปร่วมกันให้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ ได้แก่ เห็นควรให้มีมาตรการในการป้องปรามและดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อจูงใจหรือยั่วยุให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยและแนวทางในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการฉ้อฉลประกันภัย ทั้งนี้ หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ให้บังคับใช้ กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และให้เผยแพร่ข้อมูลปรากฏต่อสาธารณชน และควรเร่งเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม และ สคบ. เพื่อการป้องกันและป้องปรามพฤติการณ์การฉ้อฉลประกันภัย
ผู้ว่าฯ ททท.ปลื้มไม่พบผู้ติดเชื้อเข้าภูเก็ต
ส่วนโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยว จ.ภูเก็ต ได้นั้น นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าหลังจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า จ.ภูเก็ต มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต และต้องพำนักอย่างน้อย 14 คืนก่อนเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในไทย พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมใน 3 วันแรก (1-3 ก.ค.) มีจำนวน 1,271 คน ผลตรวจเป็นลบ ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด โดยผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของนักท่องเที่ยวที่พักในโรงแรมที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย (SHA+) ณ วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา 514 คน จาก 6 เที่ยวบินเข้าภูเก็ตไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของนักท่องเที่ยว 431 คน จาก 8 เที่ยวบิน ไม่พบผู้ติดเชื้อเช่นกัน
ปากช่องฉีดซิโนฟาร์มให้ผู้สูงอายุ
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ที่ รพ.โรงพยาบาลมกุฎคีรีวันเขาใหญ่ (ปากช่องนานา) ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ก.ค. มีพิธีรับวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทาน จำนวน 6,359 โดส ของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อนำมาฉีดตามพระปณิธาน และวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในวันที่ 4 กรกฎาคม ของทุกปี โดยมีพระญาณดิลก เจ้าอาวาสวัดมกุฎคีรีวัน หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร นำกลุ่มผู้สูงอายุ พิการ ด้อยโอกาส และผู้เสี่ยงสูง ร่วมในพิธี จากนั้นมีการฉีดวัคซีนให้กับพระภิกษุสงฆ์ ประชาชน ผู้สูงอายุ ประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียง
หมอยอมรับครั้งนี้หนักหน่วง
ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผอ.รพ.ปากช่อง-นานา กล่าวว่า วันนี้ อ.ปากช่อง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 คน อยู่ใน ต.ปากช่อง 3 คน ต.หนองน้ำแดง และ ต.จันทึก ตำบลละ 1 คน และเตรียมห้องประชุม “ร่มเย็น” เปิดเป็น รพ.สนาม รองรับเพิ่มประมาณ 30-40 เตียง ได้รับการติดต่อจากประชาชนในเขตพื้นที่ อ.ปากช่อง ติดต่อจาก กทม. มาอีก 15 ราย จะกลับมารักษาที่บ้านเกิด พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “คราวนี้หนักหน่วงรุนแรงมากครับ” ทั้งนี้ มีรายงานภาพรวมของ จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งไปถึง 77 คน สูงสุดนับตั้งแต่มีการระบาดระลอก เม.ย. กระจายใน 31 อำเภอ โดยมีรายงานว่า รพ.เสิงสาง อ.เสิงสาง ได้ประสาน อบจ.นครราชสีมา นำรถตู้ปรับสภาพเป็นรถรับผู้ป่วยโควิด มารับชาวเสิงสาง ใน จ.ปทุมธานี เพื่อกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิดทั้งครอบครัว 4 คน ในจำนวนนี้มีเด็กวัย 8 ขวบ และ 5 ขวบด้วย หลังหัวหน้าครอบครัวติดเชื้อรอเตียงมา 4 วันแล้วแต่ยังหาที่รักษาไม่ได้
เร่งเปิด รพ.สนาม-หาเตียงเพิ่ม
ส่วน นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วย ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจากชาวโคราชกว่า 40 คน ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพื้นที่เสี่ยง และติดเชื้อโควิด-19 ว่าต้องการกลับมารักษาตัวที่นครราชสีมา ซึ่งทาง รพ.มหาราชนครราชสีมาได้ประสานงานไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว และสามารถหาเตียงรักษาให้กับผู้ป่วยได้แล้ว 10 คน ส่วนผู้ป่วยที่เหลือขณะนี้กำลังประสานงานอยู่ ขณะนี้ รพ.ได้ช่วยกันปรับพื้นที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม ชั้น 7-8-9 อาคารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สามารถขยายเตียงผู้ป่วยเพิ่ม 24 เตียง นอกจากนี้ ยังประสานไปที่ รพ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา ซึ่งมีศักยภาพสามารถรับผู้ป่วยได้รวมทั้งจะใช้พื้นที่อาคารชาติชายฮอลล์ ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ตั้งเป็น รพ.สนาม 100 เตียงด้วย
ระดมรถรับผู้ป่วยกลับมารักษา
เช่นเดียวกับอีก จ.ร้อยเอ็ด พบผู้ติดเพิ่มขึ้น 34 คน โดยยังต้องเฝ้าระวังคนมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม และกลุ่มเสี่ยงที่พบติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ที่ บ.โนนสวรรค์ ต.แสนชาติ อ.จังหาร ที่เป็นการติดเชื้อในครอบครัว จำนวนนี้มีเด็กเล็กด้วย 2 คน จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยรายใหม่ 21 คน กระจายใน 9 อำเภอ ได้แก่ อ.กระสัง 6 คน อ.ประโคนชัย 4 คน อ.เมือง กับ อ.สตึก อำเภอละ 3 คน อ.พุทไธสง อ.แคนดง อ.บ้านกรวด อ.พลับพลาชัย และ อ.บ้านใหม่-ไชยพจน์ อำเภอละ 1 คน ขณะที่ จ.ชัยภูมิ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 20 คน จำนวนนี้มีถึง 15 คน เป็นคนมาจากพื้นที่เสี่ยงใน กทม. ขอเดินทางกลับบ้านมารักษาตัวในโรงพยาบาลพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้จัดรถไปรับที่ กทม.และบางรายขับรถมาเอง และยังต้องจับตาใน อ.บำเหน็จณรงค์ ที่มีเด็กเล็กวัย 3 ขวบ และ 4 ขวบ 2 คน ติดโควิด-19 จากผู้ปกครองที่เดินทางกลับมาจาก กทม.ด้วย และต้องปิดศูนย์พัฒนาเทศบาลตำบลบ้านเพชร และตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงที่มีเด็ก 47 คน รวมผู้ปกครองด้วย ส่วน จ.เลย พบผู้ติดเชื้อ 10 คน มีประวัติมาจากกรุงเทพฯ ปทุมธานีและสมุทรปราการ จำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าสลากฯมีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.วังสะพุง
3 จชต.ติดเชื้อรวมกว่า 600 คน
ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช หลังมีการประกาศให้ชาวเมืองคอนที่ติดโควิดกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด ส่งผลให้เมื่อคืนที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่แจ้งขอเข้ารับการรักษาและเดินทางมาที่ รพ.สิชลแล้ว 10 คน ขณะที่ภาพรวมของจังหวัดมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 21 คน ส่วน จ.ภูเก็ต ที่กำลังนำร่องโครงการเปิดตัวรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีรายงานว่ายังคงพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่อีก 2 คน ส่วนใน 4 จังหวัดภาคใต้ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ยังพบผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมาก โดย จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 232 คน และ 213 รายตามลำดับ ส่วน จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้อพุ่งไปถึง 201 คน พบมากสุดใน อ.เมือง และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน ใน อ.เมืองและ อ.เบตง ซึ่งส่วนใหญ่ยังเชื่อมโยงจากคลัสเตอร์โรงเรียนสอนศาสนาและผู้ที่เดินทางกลับจากมาเลเซีย
เฝ้าระวังเด็กเล็กติดเชื้อพุ่ง
ส่วนที่ จ.ชัยนาท หลังเจอคลัสเตอร์ช่างสักคิ้วและสาวเทศบาลในพื้นที่ อ.สรรพยา ติดเชื้อรวม 8 คน ทำให้ที่ตลาดสดภาษีซุง ภายในตัวเมืองชัยนาท ซึ่งเป็นตลาดขายของสดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด ก็มีประชาชนเดินทางมาจับจ่ายซื้ออาหารสดอาหารแห้งต่างๆกันอย่างคึกคัก โดยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามาซื้อกักตุนไว้ เพราะไม่อยากออกมารับประทานข้างนอกบ้านแล้ว ขณะที่ จ.อุทัยธานี ติดเชื้อเพิ่ม 21 คน ในจำนวนนี้มีเด็กแฝดอายุเพียง 1 เดือนด้วย
ผู้ป่วยสูงวัยทยอยตายทุกวัน
นอกจากนี้ มีจังหวัดที่พบผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่ม มีที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ติดเชื้อรายใหม่ 27 คน ตาย 1 คน เป็นชาย อายุ 38 ปี ชาว ต.อ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ส่วนคลัสเตอร์โรงงานสับปะรดกระป๋อง อ.หัวหิน มีคำสั่งจังหวัด ปิดชั่วคราว 7 วัน เพื่อตรวจหาโควิด จากพนักงานกว่า 2,000 คน หลังการระบาดสู่ชุมชนและครอบครัวในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ติดเชื้อเพิ่มอีก 71 คน และมีผู้สูงอายุเสียชีวิต 1 คน เป็นชายไทย อายุ 80 ปี อยู่ใน ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า ส่วน จ.ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 275 คน มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ศพ
ญาติคาใจตายหลังฉีดวัคซีน
ส่วนกรณีผู้ฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามา แล้วมีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดมี 3 ราย คนแรก ได้แก่ อสม.บ้านแม่มะ ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก วันที่ 29 มิ.ย.และเช้าวันที่ 2 ก.ค. มีอาการปวดศีรษะรุนแรงจนช็อกหมดสติ และเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่ รพ.เชียงแสน ญาตินำร่างส่งไปผ่าพิสูจน์ที่ รพ.มหาราช–นครเชียงใหม่ ผลตรวจแพทย์ระบุว่าพบเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นบาง ซึ่งทางญาติให้นำศพกลับมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านเลขที่ 44 ม.1 ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความโศกเศร้า โดยญาติๆต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ฉีดก็ไม่ตาย ทำให้ยอมรับไม่ได้ และอยากจะฝากให้ผู้ใหญ่ดูแลเยียวยาให้กับครอบครัวพี่สาว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจด้วย เช่นเดียวกับรายของลุงวัย 74 ปี ชาว อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตราฯ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีอาการปวดเมื่อย มีไข้สูง หมอบอกให้กินยาพาราเพื่อลดไข้ ต่อมามีอาการแขนขาไม่มีแรง กระทั่งช่วงค่ำวันที่ 20 มิ.ย. มีอาการปวดบริเวณหน้าอก ก่อนที่ญาติจะพบว่าเสียชีวิตในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อญาติทำเรื่องขอเยียวยาไปยัง สปสช.แต่กลับได้รับคำตอบว่าผู้ป่วยอายุมากและมีโรคประจำตัว เมื่อมีอาการไม่ไปหาหมอ ที่สำคัญไม่มีใบรับรองการแพทย์ว่ามีอาการแพ้ และไม่ได้ลงในหมอพร้อมว่ามีอาการอะไรบ้างหลังฉีด จึงอยากขอความเป็นธรรมด้วย
ลูกร่ำไห้พาแม่ฉีดวัคซีนแล้วตาย
ส่วนรายที่สามเป็นหญิง วัย 67 ปี ชาว อ.คุระบุรี จ.พังงา เข้ารับบริการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ รพ.คุระบุรีชัยพัฒน์ จากนั้นเส้นเลือดในสมองแตก ลูกสาวนำส่ง รพ.ตะกั่วป่า พร้อมใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงสายวันที่ 4 ก.ค. น.ส.ปัทมา การพยุธ อายุ 32 ปี พร้อมครอบครัว เดินทางมารับศพมารดาท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ พร้อมระบุว่าถ้าวันนั้นไม่พาแม่ไปฉีดวัคซีน ก็ไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในวันนี้ แม่ยังคงต้องอยู่กับตัวเอง ซึ่งรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากไม่รู้จะอยู่ต่อยังไง ที่ผ่านมาแม่เป็นเสาหลักของครอบครัวให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง ถ้าแม่รับรู้อยู่ตนอยากขอโทษคุณแม่ที่พาไปฉีดวัคซีนวันนั้น ทั้งนี้ ญาตินำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ที่วัด นางย่อนคุระบุรี อ.คุระบุรี กำหนดฌาปนกิจวันที่ 7 ก.ค.นี้
ติดเชื้อนนท์พุ่ง-บ้านโป่งปิดตลาด
ส่วน จ.นนทบุรี การแพร่ระบาดยังรุนแรง พบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 206 คน อยู่ใน อ.ปากเกร็ด 70 คน อ.บางบัวทอง 43 คน อ.เมือง 36 คน อ.บางกรวย 26 คน อ.บางใหญ่ 19 คน และ อ.ไทรน้อย 12 คน ขณะที่จังหวัดโดยรอบ อาทิ จ.ราชบุรี มีคำสั่งปิดตลาดเอกชน ตลาดเทศบาลเมืองบ้านโป่ง ถนนริมน้ำ ถนนสุขาวดี ถนนศรีวังตาล และถนนประชานิยม เป็นระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 5-7 ก.ค.นี้ เพื่อทำความสะอาด พร้อมกันนี้มีการจัดจุดตรวจเชิงรุกกลุ่มผู้ค้าและกลุ่มเสี่ยง จำนวน 499 คน ที่บริเวณลานจอดรถใต้อาคารศาลาประชาคมริมน้ำ เขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง
เขมรจัดฉีดวัคซีนแรงงานโรงเกลือ
ด้าน จ.สระแก้ว ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งไปถึง 40 คน โดยต้องเฝ้าระวังคลัสเตอร์วิทยาลัยเทคนิควังน้ำเย็น หวั่นเชื้อกระจายไปในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ผวจ.สระแก้ว สั่งปิดโรงเรียนทั้งจังหวัดเป็นเวลา 14 วันตั้งแต่วันที่ 3-16 ก.ค.นี้ ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าทางการกัมพูชาทำหนังสือถึง ผวจ.สระแก้ว ขอใช้พื้นที่อาคารผู้โดยสารขาออก ด่าน ตม.อรัญประเทศ เป็นจุดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในตลาดโรงเกลือ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.นี้ โดยฝ่ายกัมพูชาเตรียมวัคซีนซิโนแวคไว้กว่า 1 หมื่น โดส และจะนำทีมแพทย์และพยาบาล จำนวน 50 คน เข้ามาฉีดให้ชาวกัมพูชาในตลาดโรงเกลือ ซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 3,000 คน
ฉีดวัคซีนไม่ทันเชื้อเดลตาลาม
สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อรวมพุ่งเป็น 184,278,840 คน เสียชีวิตรวม 3,988,218 คน ใกล้ทะลุ 4 ล้านคน ไปทุกขณะ และการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา (พบครั้งแรกที่อินเดีย) ที่ติดต่อง่าย ต้านทานต่อภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าโควิดปกติ ยังคงลุกลามไม่หยุด โดยทางการสหรัฐอเมริการายงานเชื้อเดลตาระบาดหนักใน 5 รัฐ ได้แก่ อาร์คันซอ โคโลราโด มิสซูรี เนวาดา และยูทาห์ สัดส่วนการติดเชื้อเดลตาทั่วประเทศอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสแก่ประชากรอยู่ที่สัดส่วน 66 เปอร์เซ็นต์ ไม่ถึงเป้า 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในวันที่ 4 ก.ค. วันชาติสหรัฐฯ ตามที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งเป้าไว้ ส่วนนายเทดรอส อดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า เชื้อเดลตาได้ลุกลามไปยัง 98 ประเทศทั่วโลก และดูสถานการณ์แล้ว อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ ขณะนี้ไม่ทันต่อการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแน่