การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในแง่การส่งออก ในขณะที่ต้นกล้วยไม้ยังคงให้ผลผลิตตามปกติ สวนทางกับปริมาณการส่งออกที่ลดลง ราคาก็ตกต่ำลงผันผวนไปตามความต้องการตลาด บางครั้งเจ้าของสวนต้องจำใจเลหลังขายในราคาต่ำ เพื่อความอยู่รอด
การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อเร็วๆนี้ จึงมีมติวางแผนแนวทางการช่วยเหลือผู้ปลูกกล้วยเลี้ยงไม้และผู้ส่งออก ในรูปแบบการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 4 แนวทาง
1) ให้สหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยไม้ไทย จำกัด จัดทำแผนการจัดการกล้วยไม้สัญจรในปี 2564 ทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง
2) พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งเจรจาลดค่าขนส่ง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
3) ดูแลแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม โดยประสานงานกับกรม ชลประทาน ดำเนินการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม และบริหารจัดการน้ำต้นทุนในการผลักดันน้ำเค็ม พร้อมสนับสนุนรถบรรทุกน้ำในการบริการช่วยเหลือเกษตรกร
4) ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการส่งเสริมสภาพคล่องในการรวบรวมผลผลิตกล้วยไม้ตัดดอกปี 2565 เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนรวม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2565
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเพิ่มเติมให้มีคณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ โดยใช้งบประมาณภายใต้พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน
โดยมอบหมายให้ นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานคณะทำงานฯ และมอบหมายฝ่ายเลขาฯ จัดทำคำสั่งคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ต่อไปด้วย.
...
สะ–เล–เต