ปรับแผนวัคซีน ลดเสียชีวิตคนสูงวัย ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการตรวจสอบแล้วพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่คือ ผู้สูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยง
จากแนวทางที่เป็นสากลได้มีแนวปฏิบัติ คือนอกจากจะฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์แล้ว
“กลุ่มผู้สูงอายุ” ที่จะต้องดูแลเป็นเบื้องต้น
จึงกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนในลำดับต้นๆ เพื่อเป็นการป้องกัน เนื่องจากอายุมากภูมิต้านทานในตัวจึงมีไม่มากนัก
ทางแก้ไขก็คือสร้างภูมิต้านทานในร่างกายให้สูงขึ้น
มีการให้ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดในระยะแรกไม่มากเท่าใดนัก เนื่องจากคนปูนนี้แล้วก็คิดไปต่างๆนานา
สรุปก็คือกลัว “วัคซีน”-“เข็มฉีดยา”
ลงท้ายก็คือกลัวตาย แม้พยายามจะบอกว่าอายุมากแล้วอยู่มาถึงตอนนี้ได้ก็ดีถมไปแล้ว จะเป็นอะไรก็เป็นกัน
อีกทั้งความยุ่งยากและระเบียบในการเข้าถึงไม่ค่อยเอื้อเท่าใด
ก็เลยถือโอกาสสร้างเหตุผลเหล่านี้เพื่อปฏิเสธการฉีดวัคซีน
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ความเป็นจริงมันได้บอกแล้วว่าการฉีดวัคซีนนั้นมีความจำเป็น และไม่น่ากลัวอะไร
มีสถิติและข้อเท็จจริงได้พิสูจน์แล้วว่า “ดีมากกว่าเสีย”
นั่นทำให้ผู้สูงวัยไขว่คว้าที่จะฉีดวัคซีนมากขึ้น และตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนมากสุดยังเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีการปรับยุทธศาสตร์เป็น 2 ทางเลือก
1.มุ่งเป้าฉีดไปที่คนสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการให้จบภายใน 2 เดือน
แต่ต้องมีเงื่อนไขสนับสนุนคือวัคซีนต้องไม่จำกัด ขีดความสามารถในการฉีดให้เร็ว เพราะจากยอดฉีด 10 ล้านโดสที่ผ่านมา คนสูงวัยได้รับวัคซีนเพียง 10% เท่านั้น
...
ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ทุกเดือนอาจจะต้องใช้เวลาถึง 7-8 เดือน จึงจะครอบคลุมทั้งหมด
2.ร้อยละ 80 ของผู้ที่เสียชีวิตเป็นคนสูงวัยและคนที่มีโรคประจำตัว หากสามารถปกป้องคนกลุ่มนี้ได้จะลดการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก
“ถ้าเปลี่ยนเป้าการปูพรมฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มมาฉีดในกลุ่มสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อนน่าจะแก้ปัญหาได้”
ทั้งนี้ จะต้องเอาวัคซีนที่มีทั้งหมดในมือมาทำความตกลงกันไว้ตั้งแต่นายกฯ ศบค. ผู้ว่าฯเพื่อทำความเข้าในกันก่อน
“เรามีกลุ่มนี้ 17.5 ล้านคน ตอนนี้ฉีดได้แค่ 2.5 ล้านคน อีก 15 ล้านคน เราต้องการฉีดให้จบภายใน 2 เดือน คือ ก.ค.-ส.ค.64 เชื่อว่าวัคซีนมีเพียงพอด้วยกำลังการผลิตของแอสตราเซเนกา และวัคซีนที่ได้รับการบริจาคมา”
นั่นแหละจะทำให้ลดการเสียชีวิตลงได้
ไม่ว่ายี่ห้อไหนก็ต้องฉีดไว้ก่อน เพราะทุกอย่างอยู่ในภาวะ ฉุกเฉินที่ยังไม่สามารถใช้มาตรฐานวัดได้ว่ายี่ห้อไหนดีที่สุด
แม้แต่ที่กลายพันธุ์จากอินเดีย (เดลตา) ก็เอาอยู่
“แอสตราเซเนกา” ได้ยืนยันแล้วว่า 70-80% ป้องกันได้.
“สายล่อฟ้า”