สวยงามตระการตา "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" เข้าสู่รอบ semi final 309 ผืน เพื่อชิงเป็น 75 ผืนสุดท้าย สู่เวทีประชันระดับประเทศ

วันที่ 2 ก.ค. 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมและให้กำลังใจแก่คณะกรรมการในการประกวดลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย รอบ Semi Final รอบตัดสิน 150 ผืน เพื่อคัดเลือกเข้าสู่การประกวดระดับประเทศ 75 ผืน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับว่าเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญา ออกแบบลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ด้วยพระดำริที่ชัดเจนในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป โดยเฉพาะผ้าไทยอันเป็นสิ่งบอกเล่าเรื่องราวคุณค่าของท้องถิ่น ให้เป็นเครื่องมือนำพาคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้น

นับเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2563 ในโอกาสที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 และทรงพระกรุณาพระราชทานแบบลายผ้าฯ ปลุกกระแสวงการผ้าไทยทุกภูมิภาคกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ก่อให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ลวดลายผ้าตามแบบวิถีดั้งเดิม ให้เกิดความทันสมัย สร้างอัตลักษณ์ใหม่อันเป็นที่ถูกใจของตลาด ขยายฐานลูกค้าที่มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส สมดังพระดำริ "ผ้าไทย ใส่ให้สนุก" นำมาซึ่งกำลังใจ และความภาคภูมิใจของช่างทอผ้าเป็นอย่างมาก

สำหรับประกวดลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ครั้งนี้ ในทุกเทคนิคการทอผ้า ทั้งผ้าบาติก ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด ผ้าจก ผ้ายกดอก รวมถึงผ้าปัก เป็นการส่งเสริมให้พี่น้อง OTOP ที่รวมกลุ่มกันในเรื่อง ผ้า ได้พัฒนาฝีมือ นำเทคนิคใหม่ๆ มาพัฒนาผ้าอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาเราได้มีการจัดประกวดผ้าทั้งหมด 4 ภูมิภาค ซึ่งถือว่า เป็นที่ได้รับความสนใจจากพี่น้องกลุ่มทอผ้าเป็นอย่างมาก

...

โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผู้เข้าร่วมการประกวดมากกว่า 1,677 ผืน และทั้ง 4 ภูมิภาคมีผู้สมัครเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น 3,215 ผืน จนถึงการประกวดผ้าระดับประเทศ รอบ Semi Final วันที่ 1 ก.ค. 2564 ในครั้งนี้ มีผ้าที่ผ่านเข้ารอบทั่วประเทศทั้งหมด 309 ผืน ทั้ง 15 ประเภท ได้แก่ 1. ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ 62 ผืน 2. ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป 35 ผืน 3. ผ้าขิด 34 ผืน 4. ผ้าแพรวา 12 ผืน 5. ผ้ายกดอก 13 ผืน 6. ผ้ายกเล็ก 13 ผืน 7. ผ้ายกใหญ่ 5 ผืน 8. ผ้าจกทั้งผืน 27 ผืน 9. ผ้าตีนจก (ตีนซิ่น) 15 ผืน 10. ผ้าลายน้ำไหล 2 ผืน 11. ผ้าบาติก/มัดย้อม 27 ผืน 12. ผ้าปักมือ 20 ผืน 13. ผ้าพิมพ์ลาย 2 ผืน 14. ผ้าเทคนิคผสม 26 ผืน และ 15. ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ 16 ผืน ซึ่งผ้าที่ผ่านเข้ารอบ ล้วนแล้วเป็นผ้าที่มีเทคนิคที่โดดเด่น แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ประจำถิ่น ที่มีความสวยงาม และประณีต

ทั้งนี้ การประกวดในครั้งนี้ ได้คัดเลือกผลงานให้เหลือ 150 ผืน โดย 75 ผืน จะได้รับรางวัลชมเชย และอีก 75 ผืน จะนำไปสู่การคัดเลือกการประกวดระดับประเทศ เพื่อเฟ้นหา The Best of the Best ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานการตัดสิน โดยผลงานของผู้ชนะการประกวด จะถูกนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ และได้รับเหรียญพระราชทาน พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง

รวมถึงได้มีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผ้าลายขอ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. – 1 ส.ค. 2564 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจ เชิงมหภาค และนับว่าเป็นความโชคดีของคนไทยเป็นอย่างมากที่พระองค์ท่านทรงได้เพียรพยายามทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญา และน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพี่น้องประชาชนจากการได้รับความเดือดร้อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หาทางช่วยเหลือในเรื่องของการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน.