การเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2564 ทั่วประเทศ ท่ามกลางโควิด-19 ระบาดระลอก 3 อย่างหนักหน่วง ที่กำลังส่งผลให้ “ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน” ต่างวิตกกังวลถึงความไม่ปลอดภัย ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสจากการไปโรงเรียนในช่วงเวลานี้

แม้ว่า “กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” ให้คำมั่นถึงความปลอดภัยยึดหลักปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 สูงสุด ทั้งยังตั้ง คกก.ไตรภาคี 3 ฝ่าย คือ ก.ศึกษาธิการ ก.สาธารณสุข ผู้ปกครอง ตรวจมาตรฐานในสถานศึกษา เพื่อหาช่องโหว่อุดรอยรั่วในการเฝ้าระวังไม่ให้หย่อนยานมาตรการป้องกันเคร่งครัดนี้

ตามข้อมูลวันที่ 24 มิ.ย.นี้มี “ครู และบุคลากรทางการศึกษา” ฉีดวัคซีนไปแล้ว 233,858 ราย แบ่งเป็นครู 186,385 ราย, บุคลากร 47,473 ราย แต่เมื่อเปิดเทอมได้ไม่นานก็มี “นักเรียนติดเชื้อในโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ” ตั้งแต่วันที่ 14-21 มิ.ย. มีบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนติดเชื้อไปแล้ว 636 คน

จังหวัดยอดผู้ติดเชื้อเกิน 80 ราย คือ ปทุมธานี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี...ทำให้ภาพรวมมีการติดเชื้อไปแล้ว 2,883 ราย เป็นนักเรียน 2,214 ราย ครู 520 ราย บุคลากร 149 ราย และอยู่ระหว่างการรักษาตัว 879 ราย ทำให้มีการทยอยปิดโรงเรียนชั่วคราว และปรับมาเป็นการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์แทน

...

ยิ่งกว่านั้น “การระบาดในภาคใต้” กำลังเข้าสู่สถานการณ์น่าเป็นห่วงนับแต่พบ “คลัสเตอร์มัรกัสยะลา” จากนักเรียนทำกิจกรรมรอเปิดเทอมแต่ก็ถูกเลื่อนเปิดภาคเรียนไปก่อนนี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 402 ราย กระจายใน จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี...ในจำนวนนี้ “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” ระบุพบการติดเชื้อกลายพันธุ์เบตาแล้วด้วยอันเป็นการส่งสัญญาณในการเปิดเทอมยังมีความเสี่ยงแพร่ระบาดเชื้อในโรงเรียนที่ไม่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เสียงสะท้อนจาก วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) บอกว่า

นับแต่มี “คลัสเตอร์มัรกัสยะลา” ทำให้การแพร่ระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัดฯ มีแนวโน้มน่าเป็นห่วงจากการตรวจพบ “สายพันธุ์เบตา” ทั้งยังเจอ “คนบางกลุ่ม” พยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้ “การระบาดนี้กลายเป็นโควิดทิพย์” กล่าวอ้าง “รัฐบาล แพทย์ พยาบาล” สร้างข้อมูลอันเป็นเท็จไม่ตรงความจริง

เพื่อหาเงินงบประมาณลงมาในพื้นที่ใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ทำให้ผลกระทบตกที่ “เด็ก” ที่ขาดวุฒิภาวะคัดกรองข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการระบาดโควิด-19 จนเกิดความสับสนไม่รู้สิ่งไหนหลอก หรือเรื่องใดจริง?

อันมีผลให้ “บางคนไม่ยอมรับมาตรการภาครัฐ” ในการเฝ้าระวังป้องกันโรค เช่น ไม่ใส่หน้ากากป้องกัน และคงจัดกิจกรรมด้านศาสนาทุกวันศุกร์ แม้ว่า “ผู้ว่าฯจังหวัด” จะขอความร่วมมืองดกิจกรรม

ตอกย้ำ...“การระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” มีแนวโน้มเลวร้ายยิ่งขึ้น จึงต้องเร่งให้ข้อมูลแก่เด็ก และประชาชน ตระหนักในการป้องกันอย่างถูกวิธี ทั้งนำอุปกรณ์ป้องกันให้เข้าถึงชุมชนมากที่สุด

ทว่าสถานการณ์โควิด-19 ระบาดยาวนานกว่า 1 ปีนี้ยังส่งผลกระทบต่อ “เด็กหลายคนต้องเจอกับความเครียดสะสม” โดยเฉพาะนับตั้งแต่มี “การระบาดระลอก 3” ทำให้เด็กต้องอยู่แต่บ้านไม่ได้ออกไปเล่น หรือร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนคนอื่นเหมือนดั่งปกติ จึงต่างพากันตั้งหน้าตั้งตาจดจ่อรอโรงเรียนเปิดเทอมอยู่ตลอด

...

เมื่อเปิดเทอมกลับไปโรงเรียนไม่ได้ “ต้องเรียนผ่านออนไลน์” ที่มีเพียงเด็กกลุ่มน้อยเข้าถึงระบบนี้ แต่ว่า “เด็กนักเรียน” ส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ให้ได้เรียนออนไลน์ ทำให้ไม่ตอบโจทย์การเรียนการสอนแม้แต่น้อย

ยิ่งกลายเป็นปัญหาให้ “เด็กเผชิญความเครียดสะสมยิ่งขึ้น” ต่างกับช่วงระบาดใหม่ๆ ที่พากันรู้สึกชอบไม่ต้องไปโรงเรียน แต่พออยู่บ้านนานเกินไปก็เริ่ม “จำเจเหี่ยวเฉา” ทั้งยังกังวลกลัวเรียนไม่ทันเพื่อนอีก

ทุกวันนี้มี “เด็กนักเรียนเขียนจดหมายถึงสมาคมฯ” ต่างสะท้อนปัญหาความรู้สึกอยากเรียนหนังสือ และได้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนอย่างปลอดภัยมากมาย ทั้งยังต้องการให้ “รัฐบาล” เร่งจัดหาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับเด็กเร่งด่วน เพื่อพวกเขาจะได้ไปโรงเรียนกันได้อย่างสบายใจห่างไกลจากการติดเชื้อโรคนี้

แต่ว่า “ความรู้สึกเด็กกลับต่างจากผู้ปกครองโดยสิ้นเชิง” ที่มีความวิตกกังวลในเรื่องความปลอดภัยที่ต้องให้ลูกหลานไปโรงเรียนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงเลวร้ายกว่าเดิมจากการพบการระบาดสายพันธุ์เบตาที่ติดเชื้อง่าย และยังไม่มีวัคซีนป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในตอนนี้

...

ทำให้ “ผู้ปกครอง” เรียกร้องให้โรงเรียนตัดสินใจเลื่อนเปิดเรียนกันออกไปก่อนจนกว่ามีการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมประชากรอย่างทั่วถึงทุกคนแล้ว เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่อันเป็นทางเดียวที่จะทำให้เด็กนักเรียนปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ดีที่สุดขณะนี้

เรื่องนี้เป็นเสียงสะท้อนมาจาก “ผู้ปกครอง” ที่ไม่มั่นใจระบบมาตรการรับมือของโรงเรียนที่แม้จะพยายามเฝ้าระวังดูแลนักเรียนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 กันอย่างเข้มงวดก็ตาม แต่ด้วยนักเรียนมากกว่าครูทำให้การจัดการป้องกันอาจไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ปกครองไม่อาจอุ่นใจได้อยู่เช่นเดิม

อีกทั้ง “คน” ที่มาโรงเรียนก็ใช่ว่าปลอดภัยที่ไม่รู้เลยว่า “บุคคลใด” รับเชื้อภายนอกมาหรือไม่ แม้ว่า “ตัวเลขเด็กป่วยไม่มาก” แต่ส่วนใหญ่มัก “ติดเชื้อจากผู้ปกครอง” นำมาแพร่กระจายในโรงเรียนก็มี สาเหตุเพราะ “ไม่มีเด็กคนใดได้ฉีดวัคซีน” ดังนั้นวันใดนักเรียนเข้าถึงวัคซีนแล้ววันนั้นเด็กจะมีความปลอดภัยทันที

“แม้ว่ามีประกาศเปิดเทอมแล้วแต่ครู ผู้ปกครอง นักเรียน กลับไม่มั่นใจในความปลอดภัยที่ต้องไปโรงเรียนจนพะว้าพะวังระแวงเพื่อนในชั้นเรียน หรือคนรอบข้างกลัวจะติดเชื้อทำให้เรียนไม่รู้เรื่องก็ได้ ขอเสนอรัฐบาลเร่งรัดจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมคนไทย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนสำหรับเด็ก และผู้ใหญ่โดยเร็ว” วรรณกนก ว่า

ย้ำว่าถ้า “ฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุม 80% ในโรงเรียน” ไม่สมควรเปิดเรียน เพราะไม่มีมาตรการใดทำให้นักเรียนปลอดภัยได้ดีนอกจาก “วัคซีน” เช่นนี้แล้วควรหันมาดูแลการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่ “นักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุด” อันเป็นการลดความเหลื่อมลํ้าที่เกิดขึ้นนี้

...

จริงแล้ว...“สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” จุดเริ่มต้นคลัสเตอร์มัรกัสยะลาแล้วกระจายแพร่ระบาดหนักไปยัง...ปัตตานี นราธิวาส สงขลา มีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 100 รายต่อจังหวัด

ต้นเหตุเชื่อว่า “สายพันธุ์เบตา” มาจากการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายหลุดรอดเข้า “โรงเรียนมัรกัสยะลา” เบื้องต้นจังหวัดที่ระบาดประกาศปิดล็อกดาวน์สกัดไม่ให้ไปพื้นที่อื่นแล้ว “หน่วยงานทุกภาคส่วน” ก็เข้าช่วยเหลือชาวบ้านตามชุมชนที่ต้องปิดหมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้วทำให้ลดความกังวลเรื่องนี้ไปได้

สิ่งที่น่ากังวลที่สุด “คนในชุมชนไม่ตระหนักร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค” ที่มีการลักลอบเข้าออกพื้นที่ระบาดถูกประกาศปิดล็อกดาวน์อยู่ตลอด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อคนชุมชนอื่น เพราะมีคนจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจโรคระบาดอย่างแท้จริง และยึดหลักความเชื่อตัวเองว่า “โควิด-19 ไม่มีจริง” ด้วยซ้ำ

เรื่องนี้ “หน่วยงานภาครัฐ” ต่างเร่งแก้ปัญหาด้วยการนำ “คณะกรรมการอิสลาม” ออกมาทำความเข้าใจให้คำแนะนำกับพี่น้องชาวมุสลิมต่อเนื่อง แต่ก็มีบางกลุ่มคนยังไม่เข้าใจเลือกเชื่อในตัวเองอยู่เช่นเดิม

ด้วยเหตุนี้ “ประชาชนในพื้นที่” ต่างอาศัยอยู่กันด้วย “ความทุกข์” ต้องเผชิญความเครียดทุกวัน และก็สวดมนต์ภาวนาให้โควิด-19 หายไปโดยเร็ว ทั้งยังมีความหวังว่า “รัฐบาล” จะเร่งนำเข้าวัคซีนกระจายฉีดให้ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรอย่างทั่วถึงเร็วๆ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้

ดังนั้นถ้าเห็นแก่ “เยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ” ต้องเร่งจัดหาวัคซีนฉีดครอบคลุมเร่งด่วน ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนได้อย่างปลอดภัยสูงสุดนะจ๊ะ.