น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ พ.ศ.2564-2565 ตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ แผนดังกล่าวมีกรอบแนวคิดพัฒนาภาษาเพื่อสันติสุขที่ยั่งยืน 3 ด้าน ได้แก่ ภาษาเพื่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชุมชนและความสมานฉันท์ของคนในชาติ ภาษาเพื่อการรับรู้ เข้าใจและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และภาษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ มีประเด็นสำคัญในการพัฒนากรอบแนวคิด โดยการใช้ภาษาแม่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยที่เป็นภาษาราชการ และเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยไม่ละเลยการใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และเกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

ใน 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของคนในชาติด้วยการเรียนรู้ภาษาที่หลากหลาย ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยในฐานะภาษาประจำชาติและปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ภาษาไทยให้เป็นไปตามธรรมชาติการเรียนรู้ภาษามนุษย์ สืบทอดการใช้ภาษาท้องถิ่นหรือภาษาแม่ทั้งในชีวิตประจำวันและระบบการศึกษา พัฒนาทักษะและความสามารถด้านภาษาเพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยและสื่อ เพื่อการสื่อสารการดำรงชีวิตและรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดย ศธ.จะได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดนำยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบหลักการมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อใช้เป็นกรอบมาตรการช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเรื่องนี้ โรงเรียนเอกชนได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มการช่วยเหลือด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงมีความจำเป็นต้องหาแหล่งเงินกู้มาให้โรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหาได้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และเพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน สำหรับการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาของสถานศึกษาสังกัด ศธ.ที่ไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนจริงในสถานการณ์โควิดนั้น ได้รับรายงานว่าสถานศึกษาหลายแห่งได้ทยอยคืนเงินผู้ปกครองแล้ว กรณีมีผู้ปกครองยังไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชน ได้ขอให้ โรงเรียนเร่งดำเนินการโดยยึดตามประกาศ ศธ.

...