เป็นไปตามคาด แรงงานก่อสร้างแห่กลับบ้านเกิด ทำหลายจังหวัดเจอผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งพรวด ต้องเร่งตรวจหาเชื้อมือเป็นระวิง บางรายรู้ติดเชื้อแต่ไร้ที่รักษาในกรุง ขอไปรักษาที่บ้านเกิด ด้าน “ป้อม-ป๊อก” มั่นใจ ตจว.รับมือไหว แจงเหตุปิดแคมป์ก่อสร้างใน กทม.-ปริมณฑล เพราะผู้ติดเชื้อหลักพันต่อวัน จนระบบสาธารณสุขจะรับไม่ได้ ขณะที่ ศบค.ระบุยอดผู้ติดเชื้อรายวัน ล่าสุดทะลุกว่า 5 พันคน ดาราสาว “แพนเค้ก” โพสต์ติดโควิดด้วยจากคนในครอบครัว ส่วนกรมการแพทย์แจงแนวทางแก้เตียงผู้ป่วยไม่พอ ให้สมัครใจรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ต้องเป็นกลุ่มอาการสีเขียว หากเวิร์กเล็งต่อยอดไประดับชุมชน ขณะเดียวกันมีข่าวดี ไทยจะได้วัคซีนแอสตราฯ มาอีก 1.5 ล้านโดสในสัปดาห์นี้
ในที่สุดก็มาถึงวันที่ไทยเจอผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พุ่งเกิน 5 พันคนต่อวัน ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตยังเป็นเลขสองหลักต่อเนื่องนานนับเดือน ขณะที่คำสั่งปิดแคมป์แรงงานก่อสร้างใน กทม.-ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้เพื่อสกัดการแพร่ของเชื้อในพื้นที่ระบาดรุนแรง เริ่มบานปลายเห็นผลเมื่อคนงานแห่กลับบ้าน พบติดเชื้ออื้อ
...
มท.1 มั่นใจ ตจว.รับมือไหว
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 มิ.ย. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลแรงงานที่เคลื่อนย้ายออกต่างจังหวัด ไปจำนวนมาก ว่า กระทรวงมหาดไทยกำชับไปในพื้นที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะต้องเข้มงวด แรงงานไทยต้องถูกกักตัวที่บ้าน 14 วัน ไม่ให้ออกไปไหน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้ออีก ฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการแพร่เชื้อ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการรายงานถึงผลเสียอะไรออกมา อย่างไรก็ตาม แคมป์คนงานมีหลายร้อยแคมป์ ต้องควบคุมให้ได้ หากปล่อยให้เคลื่อนย้ายจะคุมไม่อยู่และทำให้มีปัญหาเตียงไม่พออีก
ปิดแคมป์เหตุติดเชื้อนับพัน
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวอีกว่า ตนเชื่อมั่นว่า ต่างจังหวัดจะมีความเข้มงวดไม่ให้แรงงานเหล่านี้เข้าไปอยู่พื้นที่ทั้งสิ้น ยืนยันว่าจะไม่มีการไปแพร่เชื้อในต่างจังหวัด สิ่งที่อยากเน้นคือ เมื่อเขาออกไปจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอยู่ ถ้าเขามีเชื้อและถูกกักตัว เชื้อก็จะไม่ระบาด ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวเราคงจะคุมได้ แต่แรงงานของไทยมีทั้งนอนในแคมป์ และนอนที่บ้าน ถ้าปิดแคมป์ เขาก็อยากกลับบ้าน ซึ่งกลับไปต้องโดนกักตัว เป็นลักษณะการกักตัวที่บ้าน คุมไว้สำหรับสังเกตอาการ ไปไหนไม่ได้เท่านั้น ส่วนการป้องกันแรงงานบริเวณชายแดน หากลักลอบเข้ามาก็จับ เมื่อเข้ามาต้องมีมาตรการกักตัว แต่ตอนนี้ปัญหาเกิดจากแคมป์ก่อสร้างติดเชื้อมาก จนระบบสาธารณสุขจะรับไม่ได้ ยกตัวอย่าง กทม. ป่วยเป็นพันๆคน และคนที่ป่วยทุกคนอยากอยู่โรงพยาบาลทั้งนั้น ไม่ว่าจะเขียว เหลือง แดง พอเราจัดไม่ทัน ต้องรอก็เริ่มมีปัญหา ดังนั้น จึงต้องหาวิธีหยุดให้ได้ เพราะถ้ายังเพิ่มวันละพัน แม้จะทำโรงพยาบาลสนามได้แต่บุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนไม่เพียงพอ ดังนั้น แคมป์คนงานจำเป็นจะต้องหยุดก่อน
“ประวิตร” ลั่นคุมแรงงานได้
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงข้อกังวลต่อการหลบหนีของแรงงานไปตามจังหวัดต่างๆ ว่าได้กำชับไปแล้วว่าให้ดูแลอย่างเข้มแข็ง และให้ทำตามที่ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมถึงกระทรวงแรงงานมีมาตรการที่จะเยียวยาให้ ขณะนี้ยังคุมอยู่พร้อมระบุด้วยว่า แรงงานที่หลบหนีกลับบ้าน ไม่มากเท่าไหร่ ได้ให้หน่วยทหารเข้าไปดูแลอยู่แล้ว รวมถึงกำชับกระทรวงแรงงานให้แรงงานอยู่ในที่ที่ ศบค.กำหนด ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด พร้อมยืนยันรัฐบาลทำทุกอย่างที่จะไม่ให้โควิด-19 กระจาย ส่วนคนไม่พอใจ ไม่พอใจอย่างไร เพราะรัฐบาลเอาวัคซีนมาให้จัดการฉีด รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก อันนี้ตนไม่รู้เรื่อง ตอนนี้นายกฯ เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว
ใช้เงินเยียวยา 7.5 พันล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจเพื่อหาข้อสรุปมาตรการเยียวยา หลัง ศบค.สั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างใน กทม. และปริมณฑล นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปที่จะใช้เงินเยียวยา 7,500 ล้านบาท ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยมาจากเงินกู้โควิด-19 จำนวน 4,000 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการในวันที่ 29 มิ.ย. และนำเสนอให้ ครม.อนุมัติวงเงินในวันที่ 6 ก.ค.นี้
...
ได้เงินทั้งลูกจ้าง-นายจ้าง
นายดนุชากล่าวถึงรายละเอียดเบื้องต้นว่า แบ่งเป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคมจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของเงินเดือนแต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และรัฐบาลช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกคนละ 2,000 บาท ขณะที่นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คนที่อยู่ในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน หรือไม่เกิน 600,000 บาท ส่วนธุรกิจที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้รับมาขึ้นทะเบียน นายจ้างจะได้เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน และลูกจ้างได้คนละ 2,000 บาท สำหรับธุรกิจที่ไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนกับแอปถุงเงิน ได้เงินช่วยเหลือ 3,000 บาท
ติดเชื้อใหม่ทะลุกว่าครึ่งหมื่น
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ประจำวันที่ 28 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,406 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,379 คน จากเรือนจำและที่ต้องขัง 9 คน และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 249,853 คน ผู้หายป่วยเพิ่ม 3,343 คน หายป่วยสะสม 202,271 คน อยู่ระหว่างการรักษา 45,648 คน อาการหนัก 1,806 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 510 คน
...
ตายเพิ่ม 22 ศพ รวมหญิงท้อง
ขณะที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มเติม 22 คน เป็นชาย 13 คน หญิง 9 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 คน และเป็นผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 1 คน โดยอยู่ใน กทม. 10 คน สมุทรปราการ 3 คน นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ระยอง ปทุมธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สงขลา สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,934 คน ในส่วนของการฉีดวัคซีนวันที่ 27 มิ.ย. มีการฉีดทั้งสิ้น 93,577 โดส ทำให้ยอดรวมสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีทั้งสิ้น 9,147,512 โดส
ตจว.คลัสเตอร์ใหม่ผุดต่อเนื่อง
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 28 มิ.ย. ได้แก่ กทม. 1,678 คน ตาก 453 คน สมุทรปราการ 395 คน ชลบุรี 390 คน สมุทรสาคร 295 คน สงขลา 275 คน นนทบุรี 222 คน นครปฐม 197 คน ปัตตานี 178 คน สระบุรี 157 คน อย่างไรก็ตาม พบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัด ประกอบด้วย จ.ตาก ที่โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด พบผู้ติดเชื้อ 447 คน จ.สมุทรปราการ ที่โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ อ.เมือง 13 คน จ.นครปฐม ที่โรงหมู ต.มาบแค อ.เมือง 3 คน จ.สระบุรี ที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อ.หนองแค 127 คน จ.ระยอง ที่แคมป์คนงาน อ.เมือง 35 คน บริษัทรับเหมาก่อสร้าง อ.เมือง 13 คน และโรงแยกขยะ อ.ปลวกแดง 15 คน ขณะที่ กทม.มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 111 แห่ง ซึ่งพบผู้ป่วยภายใน 14 วัน แต่อย่างไรก็ดี มีคลัสเตอร์ที่มีแนวโน้มควบคุมการระบาดได้แล้วเนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ 28 วันขึ้นไปถึง 19 คลัสเตอร์
หวังสกัดแพร่ระบาดใน กทม.
นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 25 ว่า ประเด็นสำคัญคือการสกัดการแพร่ระบาดใน กทม. และปริมณฑล คือ การสั่งปิดแคมป์ทุกแห่ง ทุกผู้รับเหมา ทุกซับคอนแทรค ส่วนโรงงานแม้ไม่ได้ปิด แต่ให้เข้มข้นมาตรการดับเบิลแอนด์ซีล ร้านอาหารขอให้สั่งกลับไปทานที่บ้าน และให้ห้างสรรพสินค้าปิดในเวลา 21.00 น. รวมถึงออกข้อกำหนดเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่กล่าวมา ส่วนพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการตั้งจุดตรวจสกัดที่ต้องแสดงบัตรประชาชน เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆที่ต้องตั้งจุดตรวจสกัดเหมือนกัน โดยจุดตรวจสกัดจะเป็นเครื่องเตือนในการลดการเดินทาง ส่วนผู้ที่มีนัดฉีดวัคซีนยังสามารถเดินทางได้อยู่ ข้อกำหนดฉบับนี้ออกมาขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือ ไม่อยากให้ใครได้รับโทษ รับทราบมาว่ามีคนได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่ตัวเลขที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องหาทางช่วยกันในการลดการแพร่ระบาด
...
ให้รักษาตัวที่บ้านแก้เตียงไม่พอ
ส่วนการฉีดวัคซีนนั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วัคซีนจะทยอยได้มาไม่ได้มาทีเดียวลอตใหญ่ มีการ กระจายการฉีดออกไปตามจำนวน ลอตล่าสุดที่เพิ่งมา เมื่อวันที่ 25-26 มิ.ย.ที่ผ่านมา เชื่อว่าภายในต้นสัปดาห์นี้คนที่มีนัดฉีดอยู่จะได้รับการนัดหมายให้ไป ฉีดวัคซีนตามนัด ส่วนแนวคิดการรักษาตัวที่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาเตียงไม่พอ มีการเตรียมการอยู่แล้วเหลือเพียงลงในรายละเอียด และกำหนดให้ชัดเจน เพราะถ้าการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 10 วันแล้วอีก 4 วัน ให้ไปดูแลอยู่ที่บ้าน จะช่วยได้ 1 ใน 3 ที่จะทำให้เตียงว่างขึ้นมาในทันที กำลังทำอยู่ในผู้ป่วย กลุ่มสีเขียว และเชื่อว่าในเร็วๆนี้จะมีมาตรการออกมา ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง รมว.สาธารณสุขร่วมมือกับ กทม.เปิดพื้นที่โรงพยาบาลไอซียูสนาม เพื่อใช้เทคโนโลยีในการเปิดไอซีอยู่นอกสถานที่โดยเร็ว ทุกคนกำลังหาหนทางทุกหนทางเพื่อช่วยทุกคนอยู่
ผู้ว่าฯ กทม.เร่งขยายเตียงรับผู้ป่วย
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับ ผู้ป่วยโควิด-19 ว่า กทม.ดำเนินการเพิ่มเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. หลังได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาผู้ป่วย โดยผู้ป่วยระดับสีเขียว เพิ่มอีก 500 เตียง เปิดรับผู้ป่วยในวันที่ 1 ก.ค.นี้ รวมเป็น 3,000 เตียง ส่วนผู้ป่วยสีแดงและสีเหลืองเพิ่ม 526 เตียง โดยจะเปิดรับผู้ป่วยได้ในวันที่ 2 ก.ค.นี้
ผุด 6 ด่านรอบกรุงสกัดแรงงาน
ส่วนการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน ผู้สื่อข่าว รายงานว่า กทม. และหน่วยที่เกี่ยวข้องสนธิกำลังร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตั้งด่านจุดตรวจ คัดกรอง 6 เส้นทางหลัก เพื่อป้องปรามการเคลื่อนย้าย แรงงานข้ามเขต/จังหวัดดังนี้ 1. ใต้สะพานข้ามแยกมหานคร ถนนสุวินทวงศ์ ขาออก พื้นที่ สน.ลำผักชี 2. ตรงข้ามร้านอาหารครัวเจ้ง๊อ ถนนบางนาตราด ขาออก พื้นที่ สน.บางนา 3. ใต้สะพานข้ามแยกพุทธมณฑล สาย 3 ถนนบรมราชชนนี ขาออก พื้นที่ สน.ธรรมศาลา 4. หน้าสำนักงานเขตหนองแขม ถนนเพชรเกษม ซอย 70 ขาออก พื้นที่ สน.หนองค้างพลู 5. หน้าปั๊มน้ำมัน บางจาก กม.4.5 ถนนพระราม 2 ขาออก พื้นที่ สน. แสมดำ และ 6. บริเวณหน้าสถานีรถไฟดอนเมือง ถนน วิภาวดีรังสิต ขาออก พื้นที่ สน.วิภาวดี เริ่มตั้งจุดตรวจ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 มิ.ย. เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป
เน้นสมัครใจรักษาตัวที่บ้าน
ต่อมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ขณะนี้ใน กทม.มีคนไข้รอเตียงประมาณวันละ 400-500 คน รวมสะสมที่ยังค้างรออยู่ที่บ้านเป็นพันราย กรมการแพทย์จึงมีแนวทางปรับการรักษา ให้กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการสีเขียว แต่ไม่แสดงอาการ สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน (Home Isolation) ผู้ป่วยต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีอาการ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน และไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์ และความสมัครใจของผู้ป่วย โดยจะมีการแจกปรอทวัดไข้ เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด เพื่อให้ตรวจวัดวันละ 2 ครั้ง รวมทั้งจัดส่งอาหารให้ 3 มื้อ มีแพทย์ คอยติดตามสอบถามอาการผ่านระบบทางไกลเป็นระยะ รวมถึงการพิจารณาให้ยานำไปรับประทาน หากพบ อาการแย่ลงเป็นระดับสีเหลือง จะประสานส่งต่อโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาที่ผู้ป่วยลงทะเบียน
เล็งต่อยอดสู่ระดับชุมชน
นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา รพ.ราชวิถีทดลองใช้แนวทางนี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแล 18 คน พบ 16 คน อาการผู้ป่วยดีขึ้นจนหายขาด มีเพียง 2 คน ที่มีอาการเป็นสีเหลือง จึงส่งเข้ารักษาที่ รพ. ทั้งนี้ จะหารือกับ รพ.ที่จะนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลแล้วอาการดีขึ้น ใน 10 วัน อาจให้กลับไปดูแลตนเองที่บ้านโดยใช้แนวทางดังกล่าว ขณะนี้มีประมาณ 1,400 คน จำนวนนี้ มีอาการระดับสีเขียวประมาณ 700 คน คาดว่าจะมีจำนวนหนึ่งที่สมัครใจเข้าร่วม นอกจากนี้ กำลังหารือภาคประชาชนจัดทำแนวทางการแยกดูแลผู้ป่วยในชุมชนด้วย
หวั่น 3 เดือนเชื้อเดลตายึด กทม.
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในไทยว่าจากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่ เม.ย.-27 มิ.ย. พบเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 7,859 ราย คิดเป็นร้อยละ 86.31 เดลตา (อินเดีย) 1,120 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.30 เบตา (แอฟริกาใต้) 127 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.39 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเดลตาในภูมิภาคมีสัดส่วนร้อยละ 5 ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ร้อยละ 30 หากเป็นเช่นนี้คาดว่าอีก 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลตาใน กทม. อาจมากกว่าอัลฟา และในภาคใต้ ขณะนี้พบที่ จ.นราธิวาส แล้ว 2 ราย ข้ามมาจากรัฐเคดาห์ นอกจากนี้ ยังพบสายพันธุ์เบตา 1 รายใน กทม. เป็นพ่อติดจากลูกชายที่เดินทางมาเยี่ยมจากนราธิวาส
ยันซิโนแวคป้องกันติดเชื้อได้
นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า จากการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันโรค ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ซึ่งยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา ผู้ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ห่าง 14 วัน ปรากฏว่าภูเก็ตป้องกันได้ร้อยละ 90.7 สมุทรสาคร ร้อยละ 90.5 เชียงราย ร้อยละ 82.8 ภาพรวมของกรมควบคุมโรค ร้อยละ 70.9 หากฉีดเข็มเดียวป้องกันได้ประมาณร้อยละ 39.4 กำลังศึกษาประสิทธิผลต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมถึงประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งต้องใช้ข้อมูลช่วง มิ.ย.
วัคซีนแอสตราฯ มาอีก 1.3 ล้านโดส
วันเดียวกัน นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. จนถึง มิ.ย. บริษัทแอสตราฯส่งมอบวัคซีนให้ไทยแล้ว 4.7 ล้านโดส และภายในสัปดาห์นี้ บริษัทแอสตราฯจะส่งมอบวัคซีนให้กระทรวงสาธารณสุขอีก 1.3 ล้านโดส จะทำให้ครบ 6 ล้านโดสตามแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย ส่วนบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ จะผลิตวัคซีนได้ 180 ล้านโดสในปีนี้ ซึ่งกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 60 ล้านโดส จะเป็นของไทย ที่เหลือ 2 ใน 3 จะเป็นของกลุ่มประเทศอาเซียน พร้อมกับเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆในต้นเดือน ก.ค.
ศูนย์ฯบางซื่อฉีดได้ 5 แสนโดส
สำหรับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง และ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ วันที่ 27 พ.ค. ถึงวันที่ 27 มิ.ย. ฉีดวัคซีนแล้วยอดรวมทะลุ 500,000 โดส โดยแบ่งเป็นวัคซีนซิโนแวค ประมาณ 160,000 คน ฉีดครบสองเข็มคือ 320,000 โดส และวัคซีนแอสตราเซเนกา 180,000 โดส อาการไม่พึงประสงค์ พบค่อนข้างน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.40 คือพบอาการไม่พึงประสงค์ 4 คน ใน 1,000 คน และตั้งแต่เปิดให้บริการมีผู้มีอาการรุนแรงจนต้องส่งต่อไปโรงพยาบาล 14 คนและทุกคนมีอาการปกติดีหลังจากติดตามผลการรักษา
“แพนเค้ก” ติดโควิดจากคนในบ้าน
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเอกสายเฮลตี้ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ประกาศในไอจีส่วนตัวว่า ติดเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่าก่อนหน้านี้สมาชิกในครอบครัวติดเชื้อ จึงไปเข้ารับการตรวจเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. และผลเป็นบวกคือติดเชื้อ ขณะนี้ เข้ารับการรักษาดูแลตามขั้นตอนของโรงพยาบาล และอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว ขณะเดียวกันแพนเค้กได้แจ้งไทม์ไลน์ว่า วันที่ 21 มิ.ย.ไปตักบาตรที่วัด/เวิร์กช็อปภาพยนตร์ วันที่ 22 มิ.ย.ไปเวิร์กช็อปภาพยนตร์ วันที่ 23 มิ.ย. ไปงานกองทัพเรือ วันที่ 24 มิ.ย. ไปเวิร์กช็อปภาพยนตร์ วันที่ 25 ถ่ายงานที่บ้าน วันที่ 26 มิ.ย. ทานข้าวกับครอบครัวที่เดอะ พรอมานาด วันที่ 27 มิ.ย. ไปตรวจหาเชื้อและรู้ผลช่วงเย็นก่อนจะเข้ารับการรักษา
ฟ้องนายกฯ ทำผิด ม.157
ขณะที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ช่วงสาย นายเศวต ทินกูล อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและหนึ่งในแกนนำไทยไม่ทนคณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย พร้อมคณะ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ร.ต.ท.หญิง ธัญลักษณ์ คำชมพู ร้อยเวร กก.1.บก.ป. เพื่อดำเนินคดีกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ข้อหาละเมิดประชาชนเรื่องต่างๆ เพราะเห็นว่าการกระทำของพลเอกประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี เข้าข่ายความผิดเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อาญา ม.157 โดยการออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุถึงความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นตามความใน ม.218 ของรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 สิ้นสุดลงหลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของพลเอกประยุทธ์จึงสิ้นสุดลงไปด้วย และไม่มีอำนาจในการประกาศบังคับใช้ จึงเห็นว่าพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมาร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามดำเนินคดี
จชต.ติดเชื้อพุ่งทะลุร้อย
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายจังหวัดกลับมาพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น โดย จ.สงขลา เพิ่มสูงสุดของกลุ่ม 4 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดคือ 275 คน ตามด้วย จ.ปัตตานี 178 คน ที่มีการคัดกรองโรคอย่างเข้มงวดที่ด่านบ้านเกาะหม้อแกง ต.ท่ากำชำ อ.หนอกจิก ด่านประตูแรกก่อนเข้า 3 จังหวัด เจ้าหน้าที่จะตรวจรถทุกคันที่มีผู้โดยสาร หากมาจากพื้นที่เสี่ยงจะเรียกลงมาวัดอุณหภูมิ และรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหากเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงจะนำไปกักตัวทันที ขณะที่ จ.ยะลา ติดเชื้อเพิ่ม 95 คน จำนวนนี้มีถึง 64 คน อยู่ในพื้นที่ อ.เมืองยะลา ส่วนวันแรกของการคุมเข้มการเดินทางข้ามจังหวัด พบว่าตามที่ว่าการอำเภอ ทั้งหาดใหญ่ จ.สงขลา อ.เมืองนราธิวาส ฯลฯ มีประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ มารอขอรับเอกสารรับรองการเดินทางอย่างต่อเนื่อง
คลัสเตอร์แพปลายังไม่ลด
ขณะที่คลัสเตอร์แพปลา ใน อ.คุระบุรี จ.พังงา ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 7 คน เป็นเมียนมาทั้งหมด ขณะเดียวกัน สธ.อ.ตะกั่วป่า เร่งตรวจเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมในกลุ่มคนไทยและแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ม.2 บ้านน้ำเค็ม ส่วน จ.สตูล ช่วงเช้าวันเดียวกัน นายสราวุธ ซุ่งพงศ์ ปลัดอำเภอประจำวังประจัน ต.วังประจัน อ.ควนโดน ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อ.ควนโดน และ พ.จ.อ.ธวัช ช่วยเกตุ ปลัดอาวุโส อ.ควนโดน เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.อับดุลเหล๊าะ เส็นหลำ สว. (สอบสวน) สภ.ควนโดน ให้ดำเนินคดีกับนายสิทธิชัย ละใบแด อายุ 57 ปี และ น.ส.รัชนิดา แซ่ม้า อายุ 34 ปี กรณีจัดงานพิธีนิกะฮ์ (พิธีแต่งงาน) ที่บ้านใน ต.วังประจัน โดยไม่ได้รับอนุญาตต่อนายอำเภอตามคำสั่ง จ.สตูลที่ 972/2564 จนทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 7 คน ส่วน จ.นครศรีธรรมราช พบผู้ติดเชื้ออีก 15 คน มาจากคลัสเตอร์โรงงานทองคำเปลว ต.ปากพูน อ.เมือง 1 คน และคลัสเตอร์ หมู่ 12 ต.ละอาย อ.ฉวาง 14 คน
ติดเชื้อโยง รง.เย็บผ้ายังพุ่ง
ส่วนที่ จ.เชียงราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 2 คน เป็นสามีภรรยา หลังสามีเข้ารักษาตัวที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมือง แล้วกลับมารักษาตัวต่อที่ รพ.เวียงแก่น อ.เวียงแก่น และ จนท.เร่งตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชนบ้านของผู้ป่วย ที่บ้านหลู้ หมู่ 1 ต.ม่วงยาย พร้อมสั่งกักตัว จนท.รพ.เวียงแก่น ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายนี้ 2-3 คน ส่วนคลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้า ภายในชุมชนบ้านแม่ตาว หมู่ที่ 2 ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 59 คน จากการตรวจเชิงรุก ทำให้ผู้ป่วยในคลัสเตอร์นี้พุ่งไป 587 คน และจะขยายวงไปตรวจเชิงรุกที่หมู่ 3 ด้วย หลังจังหวัดประกาศปิดโรงงานชั่วคราว 2 แห่ง ไปจนถึงวันที่ 2 ก.ค.นี้ พร้อมปรับอาคารภายในโรงงาน จัดตั้งเป็น รพ.สนาม รองรับผู้ป่วยได้ 200 คน รวมถึงประกาศปิดสนามกีฬาในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน เตรียมจัดตั้ง รพ.สนาม ต่อไป
เชียงใหม่จัดกำลังคุมเข้มเข้าเมือง
ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ เริ่มคุมเข้มคนเดินทางมาจาก 10 จังหวัดควบคุมสูงสุดทุกช่องทางทั้งสถานีขนส่ง รถไฟ และสนามบิน โดยที่ถนนเชียงใหม่-ลำปาง ขาเข้าเมือง บริเวณสะพานต่างระดับวงแหวนรอบสาม อ.สารภี เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนร่วมกันตั้งด่านตรวจคัดกรองโควิด-19 ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค.โดยคนที่มาจากพื้นที่ดังกล่าวต้องรายงานตัวเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการ swap ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม อนุโลมไม่ต้องตรวจหาเชื้อ แต่ต้องสแกนและกรอกข้อมูลใน CM-CHANA และกักตัว 14 วัน โดยหากไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัด ให้กักตัวในสถานที่ที่จังหวัดจัดให้
ก่อสร้างไม่รอผลตรวจโผล่กลับบ้าน
ขณะที่ จ.ลำปาง ที่ปลอดผู้ติดเชื้อมาถึง 31 วัน ก็กลับมาเจอผู้ป่วยรายใหม่ถึง 3 คนรวด โดยสองคนแรก เป็นชายไปศึกษาดูงานธุรกิจขายเนื้อวัวที่ร้าน Sun Beef จ.นนทบุรี ต่อมาทราบว่าเจ้าของร้าน Sun Beef ติดเชื้อโควิด-19 จึงมาตรวจหาเชื้อ ส่วนอีกรายเป็นหญิง วัย 52 ปี ทำงานก่อสร้างใน กทม.กับสามี ไปตรวจหาเชื้อที่ รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. และเดินทางกลับมาบ้านสามีที่ อ.เกาะคา ก่อนที่ รพ.จะโทร.มาแจ้งผลว่าติดเชื้อดังกล่าว
โคราช-ขอนแก่นติดเชื้อพรวด
ด้าน จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่พุ่งขึ้นพรวด 35 คน ในจำนวนนี้พบที่ อ.โชคชัย มากที่สุด 13 คน ส่วนที่เต็นท์หน้า รพ.มหาราชนครราชสีมา คลินิกระบบทางเดินหายใจ จุดตรวจโควิด-19 แบบ Swab หรือ PCR นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รอง ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา ต้องนำบุคลากรการแพทย์มาตรวจคัดกรองหาเชื้อ โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด และพื้นที่แพร่ระบาดรุนแรง 5 จังหวัด โดยมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามารายงานตัว คัดกรอง และกักตัวเองจำนวน มาก นอกจากนี้ มีรายงานว่าตามสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 มีแรงงานเดินทางกลับเข้ามาวันละประมาณ 300 คน เช่นเดียวกับ จ.ขอนแก่น ต้องรับมือกับคนงานกลับบ้าน และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งอีกครั้ง 13 คน ในจำนวนนี้ 11 คน มาจากพื้นที่เสี่ยงสูง ส่วนที่ อ.กระนวน มีผู้ติดเชื้อเข้ารักษาตัวแล้ว 5 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 3 คน ประกอบด้วยจากแคมป์พักแรงงานซิโนไทย 1 คน แคมป์พักแรงงานปทุม 3 คน และอีก 1 คน เป็นชายเร่ร่อนจาก กทม. อายุ 65 ปี
สาวมุกดาหารรอเตียงไม่ไหว
ขณะที่หลายจังหวัดในภาคอีสาน กลับมาพบผู้ติดเชื้อเพิ่มจากกลุ่มแรงงานก่อสร้างที่เดินทางกลับบ้านเช่นกัน โดย จ.มุกดาหาร ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 16 วัน ก็กลับมาพบติดเชื้อ 1 คน เป็นหญิง วัย 33 ปี อยู่ใน อ.นิคมคำสร้อย เพิ่งกลับจากไซต์งานก่อสร้างที่แขวงและเขตคันนายาว กทม.โดยตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.แต่รอรถพยาบาลมารับตัวไปรักษา กระทั่งวันที่ 26 มิ.ย. รถไม่มารับ จึงตัดสินใจเดินทางด้วยรถกระบะส่วนตัว พร้อมสามีและน้องชาย กลับบ้านที่ อ.นิคม-คำสร้อย เวลา 11.00 น.วันที่ 27 มิ.ย. โดยแจ้ง รพ.นิคมคำสร้อย มารับตัวที่บ้านในวันเดียวกัน ส่วนสามีและน้องชายยังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
พบติดเชื้อจากพื้นที่เสี่ยงอื้อ
นอกจากนี้ หลายจังหวัดมีมาตรการเฝ้าระวังคนจากพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด อย่างเข้มงวด รวมถึงการติดเชื้อในกลุ่มสถานศึกษา หลังพบผู้ปกครอง นักเรียน ติดเชื้อโควิด ทำให้ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด รวมถึงมีแรงงานก่อสร้างใน กทม.ติดเชื้อกลับมา โดย จ.อุบลราชธานี มีการกักตัวคนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงสูง 233 คน ตรวจพบติดเชื้อเพิ่ม 9 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 4 คน ในจำนวนนี้มีกว่าครึ่งเป็นผู้ติดเชื้อมาจาก กทม. ที่ยอมรับว่าตั้งใจกลับมารักษาตัวที่บ้านเพราะ กทม. ไม่มี รพ.รักษา เช่นเดียวกับ จ.กาฬสินธุ์ ติดเชื้อเพิ่ม 7 คน จ.หนองคาย ติดเชื้อเพิ่มอีก 5 คน และ จ.นครพนม ในช่วงวันที่ 27-28 มิ.ย.พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 11 คน เป็นแรงงานที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
ผู้ป่วยขอมารักษาที่บ้านเกิดได้
ส่วนที่ด่านวังเป็ด อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก นายอัครโชติ สุวรรณทอง นายอำเภอบางระกำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางระกำ ทหารกองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมตรวจด่าน ทั้งนี้ จ.พิษณุโลก ตั้ง 5 ด่าน สกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-11 ก.ค.2564 ได้แก่ ด่านวังเป็ด อ.บางระกำ ด่านสันติบันเทิง อ.บางกระทุ่ม ด่านคลองเมม อ.พรหมพิราม ด่านบ้านแยง อ.นครไทย และด่านท่างาม อ.วัดโบสถ์ นอกจากนี้ มีการตรวจตรา ด่านรองในชุมชน/หมู่บ้าน และค้นหากลุ่มเสี่ยง ด้านนายรณชัย จิตรวิเศษ ผวจ.พิษณุโลก เปิดเผยว่าคนที่กลับมาจาก กทม. หรือจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูงต้องกักตัวทุกราย ส่วนผู้ที่รู้ว่าป่วยแล้วหาเตียงไม่ได้ ต้องการมารักษาตัวที่บ้านเกิด ให้เดินทางไปที่โรงพยาบาลประจำอำเภอได้เลย ส่วนผู้ที่ไม่แน่ใจว่าติดโควิดหรือไม่ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ฟรีที่โรงพยาบาลแต่ละอำเภอ ทั้งนี้ มีรายงานว่าก่อนการตั้งด่านคัดกรองฯ มีแรงงานเข้าพื้นที่เบื้องต้นและรายงานตัวในแอปฯ Save Phitsanulok กว่า 300 คน
สภ.เมืองพัทยาสั่งกักตัว 37 ตร.
ส่วน จ.ชลบุรี วันที่ 28 มิ.ย.พบผู้ติดเชื้อทุบสถิติถึง 390 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง อ.ศรีราชา และ อ.บางละมุง นอกจากนี้ สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา อ.บางละมุง มีคำสั่งด่วน ให้ตำรวจ 37 นาย ตั้งแต่ระดับ ส.ต.ต. ไปจนถึงระดับ พ.ต.ต. ซึ่งสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หยุดปฏิบัติหน้าที่และกักตัวเฝ้าดูอาการ เป็นเวลา 14 วัน หลังได้รับรายงานจาก รพ.บางละมุงว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากกลุ่มนักเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ถูก ตร.สภ.เมืองพัทยา จับกุมได้จากที่สถานบันเทิง 2 แห่ง และชายหาดพัทยา จำนวน 5 คน เป็นผู้ชายชาวต่างประเทศ 2 คน หญิงไทย 3 คน นอกจากนี้ ในจังหวัดโซนตะวันออก ต่างพบผู้ติดเชื้อเพิ่มพรวด อาทิ จ.ระยอง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มพุ่ง 123 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เป็นชาย อายุ 60 ปี มีโรค ประจำตัวความดันสูง ส่วน จ.สระแก้ว พบผู้ติดเชื้ออีก 20 คน อยู่ใน อ.อรัญประเทศ 16 คน อ.วัฒนานคร 1 คน และเป็นคนไทยพนักงานออนไลน์ในบ่อนกาสิโนฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา ติดเชื้อกลับมา 3 คน
คุมเข้มแคมป์ก่อสร้างย่านปากเกร็ด
ส่วนศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 จ.นนทบุรี รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่จำนวน 170 คน โดย 169 คน เชื่อมโยงสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ มี 1 คน ไม่ทราบสาเหตุ ด้านนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนท์ นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครนนทบุรี สาธารณสุขอำเภอเมืองนนทบุรี ตรวจหาเชื้อโควิดพ่อค้าแม่ค้า ตลาดสดเทศบาลนครนนทบุรี และชุมชนรอบตลาด จำนวน 300 คน ขณะที่บรรยากาศแคมป์คนงานก่อสร้างของบริษัทซิโน-ไทย ใกล้ห้าแยกปากเกร็ด หลังถูก ตร.สภ.ปากเกร็ด เข้าสกัดแรงงานต่างด้าวเตรียมขนสัมภาระหลบหนีออกจากแคมป์ โดยช่วงเช้าวันที่ 28 มิ.ย.ประตูใหญ่และประตูย่อยแต่ละโซนยังปิดสนิท ไม่มีการเปิดให้คนเข้าออก โดยมี ตร.สภ.ปากเกร็ด ฝ่ายปกครองอำเภอปากเกร็ดและทหาร สลับกันเดินทางมาตรวจพื้นที่โดยรอบของแคมป์เป็นระยะ
ไต้หวันยกระดับสกัดเชื้อเดลตา
สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อรวมเพิ่มเป็น 181,924,545 คน เสียชีวิตรวม 3,940,426 คน ขณะที่ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา (จากอินเดีย) ทำให้รัฐบาลไต้หวันยกระดับมาตรการป้องกันให้ผู้ที่เดินทางมาจากบราซิล อินเดีย อังกฤษ เปรู อิสราเอล อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ ต้องเข้ารับการกักตัวในศูนย์ของทางการเท่านั้น ไม่สามารถกักตัวอยู่ในบ้านหรือที่พักได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับรัฐบาลสเปนที่นำมาตรการเดิมกลับมาใช้ ให้นักท่องเที่ยวจากอังกฤษ ซึ่งกำลังเผชิญการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อเดลตา ต้องยื่นหลักฐานการตรวจหาเชื้อหรือหลักฐานการฉีดวัคซีน และโปรตุเกสที่บังคับให้นักท่องเที่ยวอังกฤษ รับการกักตัว 14 วัน หากยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส ส่วนรัฐบาลอิตาลีประกาศให้ 20 รัฐอยู่ในสถานะ “สีขาว” ปลอดอันตราย ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะอีกต่อไป หลังอัตราติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 720 คน เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 30 คน