พูดกันมานับสิบปี ครัวไทยสู่ครัวโลก แต่จนป่านนี้ยังแทบไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ซ้ำร้ายยังมีการออกกฎหมายต่างๆนานามากีดกันบีบบังคับให้เกษตรกรต้องทำตาม โดยอิงมโนศาสตร์ ไม่ฟังวิทยาศาสตร์ การแบนพาราควอตเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ทำเอาเกษตรกรต้นทุนเพิ่มไปกว่า 1,000%

ล่าสุดดูเหมือนทุกอย่างจะลำบากขึ้นซะแล้ว แม้จะพูดไม่ได้เต็มปากว่าเขาพร้อมจะเสียบตำแหน่งครัวโลก แต่ก็สะเทือนถึงการส่งออกบ้านเรา เพราะเขาต้องการเปลี่ยนตัวเองจากประเทศผู้ซื้อผลผลิตการเกษตร เป็นผู้ผลิตแทน!!!

ถึงแม้จะไม่มีทรัพยากรทางการเกษตรเท่าใดนัก แต่คาดว่าด้วยเม็ดเงินที่มี จะสามารถรวบรวมหัวกะทิด้านการเกษตรไปเข้าร่วมโครงการได้ไม่มากก็น้อย เพราะเขาเชื่อว่าวิทยาศาสตร์เพียงพอจะเนรมิตผืนทรายให้กลายเป็นท้องทุ่งได้ไม่ยาก

มีรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ถึงการสร้างเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ (Economic Zone) ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารที่สะอาดและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

พร้อมกับทำหน้าที่ เป็นศูนย์บ่มเพาะสําหรับนักวิจัย ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาระบบที่มีศักยภาพในการวางแผนอนาคตของอุตสาหกรรมอาหาร

มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเมืองสมัยใหม่แบบบูรณาการ มีการผลิตพืชผลกว่า 300 ชนิด โดยใช้เทคนิคการทำฟาร์มที่ทันสมัย พร้อมกับตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สะอาดในอนาคต

มีการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี และการวิจัยสำหรับนำไปใช้ในการแปรรูปอาหารและการเกษตร การใช้เทคนิคทำฟาร์มสมัยใหม่ เช่น การทำฟาร์มในแนวตั้ง (Vertical Farming) การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำ (Aquaculture) การปลูกพืชไร้ดิน (Hydroponics)

...

เพื่อสร้างความมั่นคงในการผลิตอาหารพืชผักสด ลดการสูญเสียทรัพยากร โดยโครงการเปิดตัวเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเรียกเฟสแรกของโครงการว่า Food Tech Valley ตั้งเป้าเป็นแหล่งผลิตอาหารให้ยูเออีได้เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า.

สะ–เล–เต