“ชัยชนะ”...รายวันไม่ใช่จำนวนที่หาย เพราะที่หายเองไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล จะต้องมีจำนวนอย่างน้อย 80% ของผู้ติดเชื้อ “ผู้ป่วย”...ที่มีอาการหนักมีอยู่แออัดแน่นในโรงพยาบาลจนหาเตียงเข้าไม่ได้ เป็นตัวเลขจริง

ยิ่งถ้า “ผู้ป่วยอาการหนัก” เหล่านี้เพิ่มขึ้นแสดงว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อจริงในประเทศต้องมีมหาศาลมากมาย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า หลังจากที่ได้วัคซีนไปแล้วในเวลาอันสมควรเช่น สามถึงสี่สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม...ตรวจเลือดถือว่ามีภูมิยับยั้งไวรัสได้ ภูมิอยู่ที่ระดับ 20%

ขณะที่ระดับภูมิยับยั้งไวรัสที่ “น่าพอใจใช้ได้” อยู่ที่ 68%

ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีภูมิขึ้นในระดับที่น่าพอใจและจำเป็นต้องมีวินัยสูงอยู่ตลอด

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “ฮ่องกง” เริ่มกังวล เพราะภูมิจากซิโนแวคขึ้นไม่ดีนัก อาจต้องให้เข็ม 3 (professor Benjamin Cowling, an epidemiologist with the University of Hong Kong (HKUS)

...

ย้ำว่า... “การป้องกันการติดแม้ว่าจะไม่ได้ขึ้นกับภูมิหรือแอนติบอดีในน้ำเหลืองอย่างเดียวก็ตามแต่การที่มีภูมิสูงน่าจะปกป้องการติดได้มากกว่า และการปกป้องไม่ให้คนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการหนักถึงเสียชีวิตก็ยังใช้กลไกอื่นมากกว่าแอนติบอดี

แต่การที่ระดับภูมิในน้ำเหลืองหรือแอนติบอดีนี้ต่ำกว่าวัคซีนอื่น mRNA ทำให้อาจต้องคำนึงถึงการใช้ “เข็ม 3”

ข้ออธิบายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองหรือ “แอนติบอดี” จาก “วัคซีนเชื้อตาย” ซิโนแวคที่อาจไม่สูงนัก เป็นเรื่องปกติทั้งนี้เพราะวัคซีนเชื้อตายเป็นสิ่งที่เราใช้กันมานาน

ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าใช้มา 60 ปีและการฉีดนั้นต้องใช้อย่างน้อยสามเข็ม โดยต้องฉีดวันที่ศูนย์...สาม...เจ็ด จึงจะได้ภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองคือแอนติบอดีที่ยับยั้งไวรัสได้

เริ่มเห็นในวันที่ 10 และจะเห็นได้ในทุกคนในวันที่ 14

“วัคซีนซิโนแวค” ที่เราใช้ในปัจจุบันฉีดสองเข็มห่างกันหนึ่งเดือน และเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะในคนที่มีความเสี่ยงสูงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า หมอฟัน เป็นต้น ว่ามีภูมิขึ้นในแบบที่ยับยั้งไวรัสได้โดยมีระดับที่น่าพอใจหรือไม่ คือ...สูงเกิน 60-70%

ถ้าไม่ถึงหมายความว่าจะต้องมีอีกหนึ่งเข็ม...ปัญหามีอีกว่า “วัคซีน” เราไม่พอ?

อีกประเด็นที่ขอกล่าวถึง นั่นก็คือ “เข็มแรกอย่างหนึ่ง ตามด้วยเข็มสองอีกยี่ห้อ” ข้อนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ มองว่า อาจไม่มีความจำเป็นต้องวิตกเพราะการฉีดคนละยี่ห้อ มีการศึกษาทั้งที่สเปน เยอรมนี และเป็นหัวข้อขององค์การอนามัยโลกที่เริ่มด้วยแอสตราฯ ตามด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา และเริ่มใช้แล้วในหลายประเทศ

“ถ้าเป็นยี่ห้อเดี่ยวไม่ผสม...ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ก็จะพยายามบีบเข้ามา รวมทั้งแอสตราฯเพื่อพยุงให้ภูมิสูงขึ้นไว้ต่อกรกับเดลตา”

ฝรั่งเศส...บีบการฉีดให้สั้นลง โดยห่าง 3 สัปดาห์ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา สหรัฐฯเช่นกัน และอังกฤษเป็น 8 จาก 12 สัปดาห์สำหรับวัคซีนแอสตราฯ

ประโยชน์ของ mix and match หรือ prime and boost ปนกันคนละขั้วหรือเทคนิค คือ หนึ่ง...มีภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองสูงขึ้นกว่าธรรมดา ตามการศึกษาดังข้างต้น

ถัดมา...ในกรณีของแอสตราฯที่ส่วนของโควิดที่ฝากไว้กับไวรัสตัวอื่นคือ อดิโนไวรัส เข็มถัดมา เกรงว่าร่างกายจะรับรู้ และทำลายไวรัสไปก่อน ทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง ซึ่งหมายถึงการใช้เข็มที่สามด้วย สาม...หวังว่าวัคซีนคนละเทคนิคอาจจะช่วยเสริมสร้างภูมิข้ามสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะเดลตาอินเดีย

...

“ในประเทศไทย แม้จะเป็นเชื้อตาย ซิโนแวค ซิโนฟาร์มกับแอสตราฯ ควบรวมกัน ไม่น่ามีปัญหาและอาจได้ประโยชน์เพิ่ม...ในด้านผลข้างเคียง ไม่ชัดเจนว่าเกิดผลร้ายมากขึ้นกว่าการใช้ยี่ห้อเดียว”

รายงานแรกๆ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้บ้าง และในประเทศสิงคโปร์ถ้าแพ้รุนแรงจากไฟเซอร์ โมเดอร์นา เข็มสองเป็นซิโนแวคได้ ข้อสำคัญ...การมีผลข้างเคียงไม่ใช่เรื่องดี และไม่ทำให้ภูมิสูงขึ้นกว่าธรรมดา

บทสรุปในประเด็นข้างต้นนี้...ไม่ได้หมายความว่าต่อจากนี้ จงใจเปลี่ยนยี่ห้อ เพียงแต่ถ้าคนละยี่ห้อก็ไม่เสียหาย

การระบาด “โควิด-19” ที่รวดเร็วรุกหนักรอบด้าน...ในยุคเดลตา (สายอินเดีย) และไม่นาน เบตา (สายแอฟริกา) กับวัคซีน คงต้องพูดกันตรงๆว่า... “ไม่ใช่ทะนงตัวว่าติดเพิ่มได้นิด ตายได้น้อย ...ท่องใหม่เป็นได้วัคซีนครบสอง ติดได้เพิ่ม ยังมีตายได้แน่”

ฉะนั้น “วินัยคงเดิม”

“เมื่อไรที่พบโควิดในชุมชน โดยไม่รู้ได้ว่ามาจากไหน ได้มาไม่รู้ตัวมาจากหย่อมไหน และยิ่งถ้าสายพันธุ์ใหม่ เจอในชุมชน นั่นแสดงว่าไปไหนต่อไหนแล้ว...

...

กรณีตัวอย่างมีให้เห็น “เดลตา” ตอนแรก ที่ว่าเจอที่หลักสี่ ความจริงเราเจอตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2564 และในที่สุดแพร่ไปมากกว่า 20 จังหวัด แล้ว เบตา...แอฟริกา สายพันธุ์เจ้าพ่อก็มาที่ตากใบ ในชุมชน และก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีทางตามความเชื่อมโยงได้จนกระจายในที่สุด”

“120 วัน” กับ “วัคซีน” ขณะนี้?

ถึงตรงนี้เอาเป็นว่า...รู้สายพันธุ์ขณะนี้ คงไม่ต้องรู้ต่อไปก็ได้ครับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า ปัจจุบันรู้แล้วว่า...มีทุกสายพันธุ์แล้ว และต่อไปก็คงมีเดลตา พลัส ที่มีการเปลี่ยนของรหัส 417 แบบเบตา ที่หนีภูมิคุ้มกันได้เก่ง และก็ตัวนั้น...นู้น...นี้ และ “วัคซีน” ที่ใช้ขณะนี้ จำนวนยังไม่เพียงพอ

ที่จะรุกฉีดหนักให้ได้ 2 เข็ม ใน 70-90% ใน 2 เดือน แต่อย่างไรก็ต้องทำให้ได้

“ขนาดไวรัสบ้านๆขณะนี้ ห้องผู้ป่วยอาการหนักไอซียูอัตคัดขาดแคลนกันไปทั่ว...ชนิดยี่ห้อที่ใช้ยังคงสร้างเกราะป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันอาการได้ไม่ดีนักกับวายร้ายใหม่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เก่าแบบบ้านๆที่มี คำว่า...ป้องกันอาการเท่ากับไม่มีอาการใดๆทั้งสิ้น จนถึงป้องกันไม่ให้ต้องเข้าโรงพยาบาล และจนถึงป้องกันไม่ให้มีอาการหนักวิกฤติจนถึงเสียชีวิต”

...

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ในที่สุดต้องเตรียมเข็มที่สามที่ไม่ใช่ยี่ห้อเดิมที่มีอยู่ รบกวนจับให้ครบทุกข้อนะครับ อย่าเพิ่งค้อนหมอ...มีเหตุที่นำมาที่ให้ต้องฉีดเร็ว มากที่สุด และเหตุที่ต้องมีวัคซีนอื่นๆซึ่งควรจะมีตั้งแต่ต้น แต่ก็ไม่สาย ถ้าลุยหาเดี๋ยวนี้

“ถ้าจะกลัวเรื่องสายพันธุ์...กลับมาถามตนเองว่ามีวินัยหรือไม่? จะสายไวรัสไหนๆ ถ้ามีวินัย รักษาระยะห่าง ไวรัสทำอะไรเราไม่ได้เด็ดขาด...และร่วมกับวัคซีนอีกแรง”.