ย้อนไปเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำแบบเสียงดังฟังชัดเกี่ยวกับประเด็น “สงครามโควิด : ทำไมต้องบุกเร็ว-แรง”...

จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีสาย “เดลตา” หรือ “เบตา” เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย โดยที่สายพันธุ์ปกติยังควบคุมไม่ได้ด้วยซ้ำ และ...ทำไมเราต้องบุก “เร็ว”-“แรง” ?

นั่นเป็นเพราะว่าความสามารถในการแพร่กระจายของโควิดเก่งขึ้นเรื่อยๆ ตามการผันตัวของรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งสำคัญที่เอื้ออำนวยให้มีการติดเชื้อเก่งขึ้น สร้างไวรัสปริมาณมากขึ้น หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเก่งขึ้น ประกอบกับความเบื่อบ้าง...ความไม่ใส่ใจวินัย รวมทั้งจากความจน ความท้อแท้ของคน ความหดหู่สิ้นหวัง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า สายเดลตา (อินเดีย) ที่พบที่หลักสี่ 21 พฤษภาคม และเป็นในชุมชนแล้ว (แม้จะเป็นในแคมป์คนงาน) ต้องถือว่าเป็นการแพร่ทั่วไปแล้ว เพราะไม่สามารถสืบทั้งต้นตอ และทิศทางการแพร่กระจายได้ชัดเจน และทางการประกาศยืนยันในเวลาต่อมาว่ากระจายทั่วไปจริง

...

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมสายเบตาหรือแอฟริกาที่พบในลักษณะเดียวกันในภาคใต้ในชุมชนเช่นกันที่ควรจะรุนแรงมากกว่าและจากที่ห้องปฏิบัติการของเราพบสายเดลตาเนิ่นนานจากตัวอย่าง 13 พฤษภาคม แล้ว

มูลเหตุข้างต้นเป็นเหตุผลสำคัญ...ทำไมวัคซีนต้อง 2 เข็ม ในเวลาสั้นที่สุด?

“การดึงวัคซีนเข็มที่สองให้ห่างออกไป เป็นจากเหตุผลของการไม่มีวัคซีนเป็นประการสำคัญแต่ด้วยสถานการณ์ที่มีสายของไวรัสที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้เก่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเข็มที่สอง เช่น จากแอสตราฯ ต้องติดกับเข็มที่หนึ่ง ในเวลาสองเดือนด้วยซ้ำ”

และ...“วัคซีนเชื้อตาย” ไม่ว่า...“ซิโนแวค” “ซิโนฟาร์ม” ควรต้องเป็นในเวลาสามถึงสี่สัปดาห์ เพื่อพยุงให้ระดับภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้ อยู่สูงในระดับ 68% โดยหวังว่าจะสามารถจับไวรัสที่ผันแปรไปเหล่านี้ได้บ้าง และทำให้มีการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบสองเข็มไม่มากจนเกินไป และไม่มีอาการหนักมากจนเกินไป

ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับความสามารถของ “ไวรัสเดลตา” ที่ถูกนำเสนอและความเห็นจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา (Anan Jongkaewwattana) สรุปความได้ว่า แม้ว่าพบคนติดเชื้อได้หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ประมาณ 6% แต่ในจำนวนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาลคือ 11%

ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการติดไวรัสสายพันธุ์เดลตา ทั้งหมด 42 ราย ในอังกฤษที่ใช้วัคซีนไฟเซอร์และแอสตราฯ มีถึง 12 ราย หรือ 28.5% เป็นผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ถ้ารวมอีก 7 ราย ที่ได้วัคซีน 1 เข็ม ตัวเลขของผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้วัคซีนครบ 1 เข็ม สูงถึง 45.2%

ถึงตรงนี้แม้ว่าจะมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาไปแล้ว ก็ต้องไม่ลืมว่า “ไวรัสสายปกติ” นั้น “พี่วัคซีน” ยังสามารถป้องกันการติดได้ดีพอสมควรยังมีอยู่มากและทำให้คนที่ติดเชื้ออยู่มีอาการหนักในห้องไอซียูอยู่มากมายขณะนี้

ถ้าดูตัวเลขผู้ป่วยในไอซียูตามตัวเลขทางการที่สอดท่อจะดูเหมือนไม่มากไม่กี่ 100 ราย

แต่ในความเป็นจริงที่รอเข้าไอซียู แต่เข้าไม่ได้เพราะเตียงเต็ม ยังมีอยู่อีกมากและยื้ออยู่โดยการให้ออกซิเจนปริมาณสูงประทังไว้ และ...จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีสายเดลตา หรือเบตา เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยโดยที่สายพันธุ์ปกติยังควบคุมไม่ได้ด้วยซ้ำ?

ผ่านมาถึงวันนี้ดูท่าว่าสถานการณ์การระบาดไวรัสร้าย “โควิด-19” จะวิกฤติหนัก ประกาศ ที่ รอ.ทั่วไป 74/2564 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง วิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 3) ระบุว่า...ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังไม่มีแนวโน้มว่าผู้ป่วยใหม่ในระบบรักษาพยาบาลจะลดลง

...

นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการรักษาพยาบาล หากทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกที่ 4 และนำเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งมีการระบาดอย่างรวดเร็ว มีความรุนแรง ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนลดลงเข้ามาในประเทศ ณ วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2564 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีความห่วงใยต่อนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน มีประสิทธิผล นำสู่การปฏิบัติ และติดตามการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้นโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งต้องมีการดำเนินการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะไม่ควรประกาศให้มีวันหยุดยาว ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ยากที่จะควบคุม เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา

2.ต้องมีการคัดกรองเชิงรุกอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยการระดมสรรพกำลังคัดกรองโรคในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งโรงงาน ตลาดสดและแคมป์คนงานทั่วประเทศ ตลอดจนใช้มาตรการจำกัดพื้นที่เมื่อมีการตรวจพบการติดเชื้อ

...

เพื่อจำกัดการกระจายของแหล่งแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วที่สุด

3.ต้องมีการดำเนินการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการควบคุมโรค โดยเฉพาะการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว การลักลอบเล่นการพนัน การมั่วสุมชุมนุม แหล่งบันเทิง และการควบคุมการเดินทางของผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ที่เป็นโควิด-19

4.ต้องมีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพโดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของการเกิดการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันลดลง รวมทั้งจัดให้มีการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจน โปร่งใส

โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองหรือผลประโยชน์ใดๆ

5.ต้องมีการจัดทำมาตรการรับนักท่องเที่ยวเพื่อการเปิดประเทศใน 120 วัน ที่ให้ความสำคัญกับมาตรการการควบคุมโรค มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

เพื่อไม่ให้การเปิดประเทศเป็นต้นเหตุของการระบาดระลอกที่ 4

6.ต้องมีการทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งก่อนการเปิดประเทศเมื่อครบ 120 วัน ว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาถึงสถานการณ์การระบาดภายในและภายนอกประเทศ

...

การครอบคลุมของการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประชากรไทย การแพร่กระจายเชื้อกลายพันธุ์ และความพร้อมของระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ฝากทิ้งท้ายว่า เป้าหมาย 120 วันทั้งประเทศ จะเป็นทางโค้งที่สำคัญ และอาจไม่ได้หมายถึงการที่ต้องได้วัคซีนอย่างเดียว แต่รวมถึงตัวเชื้อว่าจะอ่อนข้อลงหรือไม่

“ประการสำคัญคือกระบวนการตรวจต้องแม่นยำไม่หลุดครอบคลุมถ้วนทั่วทุกคนในพื้นที่ จนสามารถนำมาประเมินได้ว่ามาตรการทั้งหลายเหล่านี้สัมฤทธิผลจริงหรือไม่ ถ้าไม่เช่นนั้นถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบ 90% ของคนไทยสองเข็มก็ตาม ในที่สุดก็ต้องเริ่มใหม่สาหัสกว่าเก่าหรือไม่”.