หมอยง เผยขณะนี้สายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย 90% เป็นสายพันธุ์อังกฤษ (แอลฟา) ส่วนอีกประมาณ 10% เป็นสายพันธุ์อินเดีย (เดลตา) คาดอีก 3-4 เดือนจะค่อยๆ เพิ่มเป็นไวรัสส่วนใหญ่ต่อไป

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงกรณี "การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19" โดยระบุว่า เมื่อวานได้ร่วมแถลงข่าวกับท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เราได้มีการศึกษาการกลายพันธุ์ของไวรัสในประเทศไทย อาทิตย์ละหลายร้อยตัวอย่างซึ่งถือว่า เป็นตัวแทนของประเทศ

ในขณะเดียวกันที่ศูนย์เองก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วในเกือบทุกตัวอย่างหลายร้อยตัวอย่างเช่นเดียวกัน และมีจำนวนที่มากพอที่ได้ข้อมูลตรงกันว่า ขณะนี้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์ แอลฟา ส่วนน้อยประมาณ 10% เป็นสายพันธุ์อินเดียหรือเดลตา และประมาณเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ เบตา

สายพันธุ์เดลตา ที่พบส่วนใหญ่ยังพบในกลุ่มคนงาน ที่มีอายุน้อย แรงงานที่อยู่เป็นกลุ่มก้อน และสายพันธุ์เดลตา จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย นับตั้งแต่เริ่มพบมาเป็นเวลากว่าเดือน และคงจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน จึงจะมาเป็นไวรัสส่วนใหญ่ต่อไป

ดังนั้น การให้วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยในขณะนี้ยังมีประสิทธิภาพดี ในการป้องกันสายพันธุ์แอลฟา ส่วนในอนาคต การติดตามสายพันธุ์ มีความจำเป็นเพื่อปรับกลยุทธ์ในการป้องกันโรคให้เหมาะสมต่อไป

สายพันธุ์ที่กลัวว่าจะหลบหลีกวัคซีนได้มาก คือสายพันธุ์เบตา ขณะนี้ยังพบในวงจำกัดอยู่ในบริเวณภาคใต้ แต่เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีการแพร่ระบาดได้ต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น ความน่ากลัวของสายพันธุ์นี้ ที่จะระบาดอย่างกว้างขวางจึงน้อยลง

...

วัคซีนในปัจจุบันทุกบริษัททำมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม คือสายพันธุ์อู่ฮั่น และแน่นอนเมื่อมีสายพันธุ์เดลตาเกิดขึ้นแล้ว ในอนาคตก็คงจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก เป็นวงจรที่เปลี่ยนไปตามพันธุกรรมของ RNA ไวรัส และเชื่อว่าในปีหน้า จะมีวัคซีนใน Generation ที่ 2 เพื่อให้ตรงกับสายพันธุ์ที่คาดการณ์ว่าจะระบาดในปีหน้า เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในวัคซีนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับวัคซีนทุกตัวที่จะใช้ในปีหน้า

เราต้องรีบให้วัคซีนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ขณะนี้ให้เร็วที่สุด ถึงแม้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม วัคซีนที่ใช้อยู่ก็ยังสามารถป้องกันได้แต่อาจจะมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง อย่างน้อยก็ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างแน่นอน.

ข้อมูลจาก แฟนเพจ Yong Poovorawan