นายกฯสั่งเพิ่มยอดฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 5 แสนโดส ยันภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ต้องเป็นจริงไม่มีชะลอ เปิดประเทศใน 120 วันต้องเป็น ไปได้ “อนุทิน” โต้ความห่วงใยของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ที่ให้ทบทวนความเหมาะสม อ้างนายกฯสั่งแล้วมีเป้าหมาย ต้องทำให้เป็นจริง ขณะที่ “หมอยง” ชี้เปิดประเทศแล้วยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักพัน คงไม่มีใครมา ส่วนหมอ “นิธิพัฒน์” โพสต์เฟซบุ๊กไม่รู้กลืนน้ำลายตัวเองเป็นครั้งที่เท่าไหร่ และขอถอนคำพูดที่เคยบอกสถานการณ์โควิดจะดีขึ้นสิ้นเดือนนี้ ด้านยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง 4 พัน กว่าราย ตายอีกหลักสิบ กทม.ยังครองแชมป์ติดเชื้อมากสุด พบคลัสเตอร์ใหม่ๆหลักร้อยหลายจังหวัด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าติดตามโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย (เดลตา) ที่พบระบาดในหลายจังหวัดเจอแล้ว 168 ราย

โอกาสที่ไทยจะเปิดประเทศใน 120 วัน ดูยังเป็นความหวังที่เลือนราง หากยอดผู้ติดเชื้อในประเทศยังมีจำนวนหลักพันต่อวันและยังไม่มีทีท่าลดลงเป็น 0 ในเร็ววัน เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตที่ยังมีต่อเนื่องทุกวัน

ติดเชื้อทะลุ 4 พันดับอีก 35

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่22 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 4,059 รายเป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,963 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,257 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 1,706 ราย จากเรือนจำ 75 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 21 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ลักลอบเข้าทางช่องทางธรรมชาติ 15 ราย มาจากกัมพูชา 14 ราย มาเลเซีย 1 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อสะสม 225,365 ราย ป่วยอยู่ระหว่างรักษา 35,836 ราย อาการหนัก 1,479 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 410 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 35 ราย เป็นชาย 25 ราย หญิง 10 รายอยู่ใน กทม. 15 ราย สมุทรสาคร 6 ราย สมุทรปราการ5ราย ฉะเชิงเทรา 2 ราย ชลบุรี นนทบุรี นครศรีธรรมราช พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต สุพรรณบุรี อุดรธานีจังหวัดละ 1 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,693 รายส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. มีการฉีดไป 227,639 โดส ทำให้มียอดผู้ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-21 มิ.ย. รวม 7,906,696 โดส

...

กทม.ยังครองแชมป์ติดเชื้อ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดของวันที่ 22 มิ.ย. ได้แก่กทม. 1,154 ราย สมุทรปราการ 696 ราย ชลบุรี 335ราย สงขลา 293 ราย สมุทรสาคร 250 ราย ปทุมธานี 211 ราย นนทบุรี 169 ราย นครปฐม 162 ราย ปัตตานี 81 ราย ระยอง 63 ราย ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีจำนวนมากส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑลเกินครึ่ง ถือเป็นพื้นที่ไข่แดงที่ต้องบริหารจัดการเต็มที่ หากดูตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละคลัสเตอร์พบว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นตัวเลขสามหลักจำนวนมาก

หลายคลัสเตอร์ใหม่ติดหลักร้อย

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า ขณะที่คลัสเตอร์ใหม่ในจังหวัดต่างๆ ประกอบด้วย จ.สมุทรปราการ ที่โรงงานรองเท้า อ.บางพลี 326 ราย โรงงานแปรรูปอาหาร อ.เมือง 7 ราย จ.สงขลา ที่โรงงานอาหารทะเลกระป๋อง อ.สทิงพระ 262 ราย จ.สมุทรสาคร ที่โรงงานเสื้อผ้า อ.กระทุ่มแบน 6 ราย จ.นครปฐม ที่โรงงานหมู4แห่ง ใน 4 ตำบลของ อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมกัน 90 ราย เหตุที่มีการติดเชื้อในโรงงานหมู เพราะมีการหมุนเวียนคนงาน จ.ระยอง ที่แคมป์คนงานก่อสร้าง อ.เมือง 51 ราย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ศูนย์วิทยุกู้ภัย อ.พระนครศรีอยุธยา 14 ราย จ.ปราจีนบุรี ที่โรงงานหินเทียม อ.ศรีมหาโพธิ 8 ราย ส่วน กทม.พบ3คลัสเตอร์ใหม่ที่สถานดูแลผู้สูงอายุ บางเขน 12 ราย ร้านผลิตขายส่งขนมกุยช่าย ซอยเทิดไท 21 เขตธนบุรี 23ราย แคมป์คนงานก่อสร้าง เขตบางกอกใหญ่ 47 ราย

ยันเดินหน้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า หลายคนอาจตั้งคำถามว่าการที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากแบบนี้จะต้องมีการทบทวนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หรือไม่ ขอย้ำว่ามีเปิดได้ก็ปิดได้ ขอยืนยันเราเรียนรู้การจัดการกับโรคเกิดที่ไหนปิดที่นั่น ตอนนี้ถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ จ.ภูเก็ตในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเป็นตัวเลขหลักเดียว เช่นเดียวกับที่ จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่เกาะสมุยเกาะพะงัน ถ้าการติดเชื้อยังเป็นเช่นนี้ก็ยังคงนโยบายอยู่ เงื่อนไขที่จะทำให้มีการปรับนโยบาย ประกอบด้วย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์กระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอมากกว่า 6 ตำบล มีระบาดมากกว่า 3 คลัสเตอร์ ระบาดวงกว้าง หรือหาความเชื่อมโยงไม่ได้ หรืออัตราครองเตียงมากกว่า 80% การปรับเปลี่ยนจะเป็นใน 4 ระดับคือ ปรับลดกิจกรรม กำหนดเส้นทาง ให้อยู่เฉพาะในโรงแรม

ฉีดแอสตราฯยึดห่าง 12 สัปดาห์

ส่วนที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งและสองของวัคซีนแอสตราเซเนกา ยืนยันว่ามาตรการอยู่ที่ 12 สัปดาห์ แต่กรณีมีผู้ใช้ 16 สัปดาห์นั้น ตัวภูมิคุ้มกันยังครอบคลุมไปถึง แต่ถึงอย่างไรประเทศไทยยังยึด 12 สัปดาห์เป็นหลัก

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ห่วงเปิด ปท.

ก่อนหน้านี้ เมื่อคืนวันที่ 21 มิ.ย. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ออกประกาศ เรื่อง วิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 3) ระบุถึงความห่วงใยต่อนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ดังนี้ 1.ต้องมีมาตรการชัดเจน มีประสิทธิผล นำสู่การปฏิบัติ ติดตามการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ เพื่อให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้นโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว 2. ต้องมีการคัดกรองเชิงรุกอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด 3.ต้องใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการควบคุมโรค โดยเฉพาะการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว การลักลอบเล่นการพนัน การมั่วสุมชุมนุม แหล่งบันเทิง และการควบคุมการเดินทางของผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ที่เป็นโควิด-19

...

ให้ทบทวนความเหมาะสม

ข้อห่วงใยในประกาศยังมีอีกว่า 4.ต้องจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพโดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของการเกิดการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ และการกระจายวัคซีนอย่างเป็นระบบ ชัดเจน โปร่งใส ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง หรือผลประโยชน์ใดๆ 5.ต้องจัดทำมาตรการรับนักท่องเที่ยวเพื่อการเปิดประเทศใน 120 วัน ที่ให้ความสำคัญกับมาตรการการควบคุมโรค มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้การเปิดประเทศเป็นต้นเหตุของการระบาดระลอกที่ 4 6. ต้องทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนการเปิดประเทศเมื่อครบ 120 วัน ว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาถึงสถานการณ์การระบาดภายในและภายนอกประเทศ การครอบคลุมของการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประชากรไทย การแพร่กระจายเชื้อกลายพันธุ์ และความพร้อมของระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ

กรมวิทย์ตามเฝ้าสายพันธุ์อินเดีย

ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความคืบหน้าการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จะมีผลกระทบต่อการได้รับวัคซีนหรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ในไทย กรมฯได้ติดตามเป็นรายสัปดาห์ โดยเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ทั่วประเทศ ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 เม.ย.-20 มิ.ย. ตรวจสายพันธุ์ 6,000 ราย พบเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 5,641 ราย รองลงมาคือ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) พบ 661 ราย สัปดาห์ที่ผ่านมาพบเพิ่ม 168 ราย ทำให้มีสัดส่วนผู้ป่วยสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 10.5 ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบ 38 ราย โดยพบเพิ่มขึ้น 7 ราย

...

ระบาดหลายจังหวัด 168 ราย

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า สำหรับสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่พบเพิ่ม 168 ราย พบที่ จ.เชียงใหม่ 2 คน เป็นผู้รับเหมามาจากกรุงเทพฯ ที่แคมป์คนงาน จ.นนทบุรี 63 คน ปทุมธานี 2 คน นครปฐม 1 คน อุดรธานี 2 คน สกลนคร 4 คนเลย 2 คน หนองคาย 2 คน นครราชสีมา 2 คน ชัยภูมิ 1 คน กทม. 87 คน สำหรับสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบเพิ่ม 7 คน ที่ จ.ยะลา 1 คน ปัตตานี 4 คน ภูเก็ต 2 คน เป็นนักเรียนที่กลับจากโรงเรียนสอนศาสนาในศูนย์มัรกัสยะลา เป็นเชื้อจากนอกพื้นที่ ขณะนี้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ หากกักตัวครบกำหนดไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ใน จ.ภูเก็ต ก็ถือว่าจบ

ศูนย์มัรกัสติดเชื้อคละสายพันธุ์

อธิบดีกรมวิทย์กล่าวอีกว่า ขอทำความเข้าใจว่า นักเรียนที่ศูนย์มัรกัสยะลา พบว่าติดเชื้อ กว่า 500 ราย ไม่ได้เป็นสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ทั้งหมด ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่มีข่าวว่านักเรียนเดินทางกลับบ้านไปมากกว่า 10 จังหวัด ยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ กรมฯได้ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดที่เด็กกลับบ้าน ส่งตัวอย่างมาให้เราตรวจหาสายพันธุ์ สรุปแล้วสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ยังแพร่ระบาดไม่มาก ความจริงเราพบสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ก่อนสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ด้วยซ้ำ แต่สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) เพิ่มจำนวนไม่เร็ว ไม่น่าวิตก ควบคุมได้เร็ว ตอนนี้พบร้อยละ 1 ขณะที่สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) พบเพิ่มร้อยละ 10 ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน

...

ลดระบาดต้องเร่งฉีดเข็มแรก

ด้าน ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าไวรัสทุกตัวมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ สถานการณ์ในไทยระลอกแรกเป็นอู่ฮั่น ระลอกสองที่ จ.สมุทรสาคร เป็นสายพันธุ์G ระลอกสามเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) วัฏจักรของเชื้อไวรัสจะใช้เวลา 5 เดือน ขณะนี้เราเริ่มพบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 1.4 เท่า คาดว่าหลังจากนี้อีก 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จะเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย จากนั้นอีก 4-5 เดือนก็จะมีสายพันธุ์ใหม่ๆมาแทน แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้น สำหรับประสิทธิภาพวัคซีน ขณะนี้วัคซีนทุกบริษัทในโลกเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่พัฒนามาจากสายพันธุ์อู่ฮั่น เมื่อเจอสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไป วัคซีนจะลดประสิทธิภาพลง จนกว่าเราจะมีวัคซีนเวอร์ชัน 2 หรือรุ่นสองออกมา ดังนั้นเราจำเป็นต้องร่วมมือกันลดการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ให้เหลือน้อยที่สุด โดยเร่งการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครอบคลุม ขณะเดียวกันเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ต้องป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด ทั้งสวมหน้ากากให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ล้างมือ เว้นระยะห่าง

กระตุ้นเข็ม 3 วัคซีนเชื้อตาย

ส่วนการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การที่เราจะป้องกันสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ได้ ร่างกายจะต้องมีภูมิต้านทานระดับที่สูงพอ จากการศึกษาในสกอตแลนด์ พบว่าวัคซีนไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ป้องกันสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ลดลง ไฟเซอร์จากเดิมป้องกันได้ 90% ลดลงเหลือ 79% ส่วนแอสตราเซเนกา เดิมป้องกันได้ 90% ลดลงเหลือ 60% ถ้าฉีดแอสตราเซเนกา เข็ม 1 การป้องกันจะลดลงเหลือ 30% จึงต้องปรับแผนการฉีดแอสตราเซเนกาเข็ม 2 ให้เร็วขึ้น เพื่อกระตุ้นภูมิให้สูงขึ้น ส่วนวัคซีนเชื้อตายทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์ม แม้จะฉีดเข็ม 2 แล้วแต่ภูมิก็ยังต่ำ ต้องกระตุ้นเข็ม 3 เชื่อว่าจะทำให้ภูมิต้านทานสูงเป็นน้องๆของไฟเซอร์ เพราะหลักการฉีดวัคซีนกระตุ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะมีการกระตุ้นภูมิได้สูงถึง 4-10 เท่า เพียงพอต่อการป้องกันสายพันธุ์เดลตา ขณะนี้กำลังศึกษาการให้เข็ม 3 ว่าจะให้ที่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน รวมถึงการให้ชนิดเดิมหรือต่างชนิด หรือข้ามไปหาวัคซีนตัวใหม่ คือชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัยขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษา คาดใช้เวลาอีก 1-2 เดือน

เปิด ปท.ยังระบาดหนักใครจะมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เราต้องรอวัคซีนรุ่น 2 เพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน จะเป็นการสมควรเปิดประเทศหรือไม่ ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกัน หากเราคุมการแพร่ระบาดให้เหลือเลขหลักหน่วย หรือหลักสิบ จำนวนผู้เสียชีวิตเหลือวันละ 1-2 คน น่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเปิดประเทศแล้วยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักพัน ก็คงไม่มีใครมา

สั่ง สสจ.เตรียมรับเปิด ปท.ให้ได้

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แสดงความห่วงใยกรณีการเปิดประเทศใน 120 วัน ว่า นโยบายการเปิดประเทศ เป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศต้อง ตั้งเป้าหมาย เป็นการทำงานเชิงรุก เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศแล้ว ถือเป็นนโยบายและข้อสั่งการที่หน่วยราชการทุกแห่งรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข ต้องเตรียมการให้ความร่วมมือ ได้ประชุมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งแล้ว แจ้งให้ทราบถึงนโยบายของนายกฯ ขอให้ทุกจังหวัดเตรียมตัวทั้งบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ เพื่อให้นโยบายการเปิดประเทศมีความเป็นไปได้มากที่สุด ทั้งนี้ ต้องชั่งน้ำหนักทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านความปลอดภัยของประชาชน น้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย หากเป็นประโยชน์พร้อมจะนำมาใช้ โดยไม่มองว่าเป็นความเห็นของฝ่ายใด แต่จะมองถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

ขอถอนคำพูดโควิดจะดีขึ้น

วันเดียวกัน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กใจความตอนหนึ่งว่า ต้องกลืนน้ำลายตัวเองเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วไม่รู้ ขอถอนคำพูดที่ว่าสิ้นเดือนนี้สถานการณ์โควิดโดยรวมจะดีขึ้น ยอดผู้เสียชีวิตรายวันจะเหลือเป็นเลขหลักเดียว ขอแสดงตัวอย่างเผื่อใครหากอยากจะเป็นผู้นำทางความคิด ต้องรู้จักรับผิดและรู้จักขอโทษ ยิ่งถ้าเป็นผู้นำที่อยากลงเวทีแบบให้คนกล่าวขวัญถึงในทางดี ยิ่งต้องฝึกปฏิบัติข้างต้นอยู่เป็นนิจ ไม่เป็นน้ำชาล้นถ้วย

ตั้งคำถามหมอใหม่วิธีแก้วิกฤติ

เฟซบุ๊กของ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ยังมีข้อความด้วยว่า พรุ่งนี้จะเป็นการสอบเพื่อจบสำหรับแพทย์ฝึกฝนเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคปอดนานสองปี อยากจะออกข้อสอบ คำถาม : วิธีการยุติปัญหาผู้ป่วยโควิด วิกฤติ ที่ล้นเกินศักยภาพภาคการแพทย์ในเขต กทม.และปริมณฑลในปัจจุบันที่ดีที่สุด ตัวเลือก : 1. ล็อกดาวน์ประเทศ 2. ขยายเตียงไอซียูโควิดเพิ่ม 3. เกณฑ์แพทย์และพยาบาลจากต่างจังหวัดมาช่วยงานไอซียูโควิด 4. เร่งฉีดวัคซีนโควิดในเขต กทม. และปริมณฑล 5. กลับมาทบทวนระบบการรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้กันใหม่อีกครั้ง คำอธิบายประกอบ : ข้อ 1.ควรคิดตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ปีนี้ ข้อ 2.ถ้าใครเลือกก็ไม่ควรให้จบ ต้องมาช่วยทำงานนี้ต่อ คนที่ทำหน้าที่นี้กันอยู่ในปัจจุบันจะไม่ไหวแล้ว ข้อ 3. แล้วงานดูแลผู้ป่วยวิกฤติทั้งโควิดและไม่ใช่โควิดในต่างจังหวัดจะเป็นอย่างไร ข้อ 4.กว่าจะเห็นผลไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือน จะรอกันไหวหรือ ข้อ 5.แล้วใครจะเป็นคนเริ่ม ดูตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต ที่กลับเพิ่มขึ้นมาใหม่เหมือนปรับฐานหลังจากดีดลงทางเทคนิคแล้วมาทรงตัวแบบไม่เพิ่มไม่ลด

นายกฯสั่งเพิ่มเตียง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลปัญหาเตียงรักษาผู้ป่วยไม่เพียงพอ บางพื้นที่ไม่มีรถพยาบาลไปรับตัวผู้ป่วยเนื่องจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีท่าทีจะลดลงว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกฯสั่งการให้แต่ละจังหวัดเพิ่มจำนวนเตียง ปรับให้รักษาผู้ป่วยตามอาการ หากหน่วยงานใดจำเป็นต้องเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอกซเรย์ ให้เร่งแจ้งความประสงค์เข้ามา ส่วนการจัดหาวัคซีนให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศ ไทยที่มีความประสงค์ขอรับวัคซีน แจ้งความประสงค์ไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีองค์กรขนาดใหญ่ มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัด หรือองค์กรระหว่างประเทศ ที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้ส่งหนังสือแจ้งยังอธิบดีกรมควบ คุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

จี้ สธ.เพิ่มยอดฉีดวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ได้สอบถามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข นายอนุทินได้รายงานว่า ขณะนี้สามารถฉีดได้สูงสุด 4 แสนโดสต่อวัน นายกฯจึงขอให้มีการเพิ่มจำนวนการฉีดให้ได้ 5 แสนโดสต่อวัน นายอนุทินได้รับทราบไปดำเนินการ ต่อมาเวลา 14.20 น. นายกฯ ได้เรียกนายอนุทิน พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อาทิ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า หารือความคืบหน้าการกระจายวัคซีนอีกครั้ง รวมถึงการเตรียมความพร้อมเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

พุ่งชนเป้า 120 วันเปิดประเทศ

นายอนุทินเปิดเผยหลังเข้าพบนายกฯ ว่า พล.อ.ประยุทธ์เรียกเข้าพบรายงานเรื่องวัคซีน การจัดเตรียมความพร้อมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ วันที่ 1 ก.ค. หารือนโยบาย 120 วันเปิดประเทศเพื่อจัดเตรียมความพร้อมและข้อมูลให้นายกฯนำไปประกอบการตัดสินใจเมื่อถึงเวลา ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเดินหน้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ต่อถึงแม้ตัวเลขการระบาดเพิ่มขึ้น นายอนุทินตอบว่า ข้อสั่งการคือคำสั่ง เมื่อนายกฯสั่งการต้องหาวิธีทาง หากเปิดประเทศแล้วมีคนติดเชื้อ ต้องดูว่ายามีความพร้อมหรือไม่ เตียงมีความพร้อมหรือไม่ หากจัดเตรียมความพร้อมได้ สามารถประกอบการตัดสินใจได้

ไม่ชะลอภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้หลายฝ่ายต้องการให้ชะลอการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปก่อน เนื่องจากเกิดคลัสเตอร์หลายจังหวัดในภาคใต้ทั้งยะลา สงขลา นายอนุทินตอบว่า คนที่บอกควรชะลอต้องมานั่งฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เสนอความเห็นผ่านไปยัง ศบค.ว่า เหตุผลต่างๆเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ว่านายกฯ บอกเปิดใน 120 วันแล้วถึงอย่างไรต้องเปิดให้ได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างนั้นไม่ได้ ต้องประเมินความเสี่ยง ความคุ้มไม่คุ้มทุกอย่าง ต้องทำอย่าง มีเป้าหมาย ไม่ใช่ให้นายกฯอยู่เฉยๆโดยไม่ต้องทำอะไรเลย โดยให้โควิดสูญสิ้นไปจนหมดเสียก่อนแล้วค่อยเริ่มทำอะไรๆ มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเราปิดประเทศมา 2-3 เดือนแล้ว ทุกคนก็ทุกข์ใจไม่น้อย

ลุ้นฉีดเข็ม 3 ภูมิสู้เชื้อกลายพันธุ์

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ผวจ.สมุทรสาครทวงถามได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวนน้อยมาก นายอนุทินตอบว่า ดราม่าก็คือดราม่า ตนพูดถึงการจัดสรรวัคซีนทุกวัน ส่งไปตามสูตรการกระจาย เป็นข้อตกลงของ ศบค. และหน่วยงานต่างๆกับกรมควบคุมโรค ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ ฉีดวัคซีนถึงวันละถึง 3 แสนคน มีประสิทธิภาพ ยังจัดส่งวัคซีนอยู่ทุกสัปดาห์เมื่อมีสายพันธุ์อินเดียมีนักวิชาการ อาจารย์แพทย์ที่ดูแลนโยบายวัคซีน กำลังศึกษาว่า ควรฉีดกระตุ้นหรือไม่ หรือฉีดผสมต่างยี่ห้อได้หรือไม่ เราต้องมีความพร้อมในการจัดซื้อจัดหามาให้ทันเวลาเพียงพอ เมื่อถามถึงกรณีอาจต้องฉีดซิโนแวคเข็ม 3 นายอนุทินตอบว่า เป็นเรื่องของวิชาการ ตนทำทุกอย่างในฐานะผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะใช้วัคซีนยี่ห้อใดใช้เท่าไหร่ ใช้อย่างไร ฉีดผสมได้หรือไม่ มีคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์เป็นคนบอก รมว.สาธารณสุขทำตามคำแนะนำ

ให้เทียบราคาซิโนแวคกับ ตปท.

เมื่อถามถึงกรณีที่ถูกวิจารณ์ราคาวัคซีนระหว่างซิโนแวค ที่ซื้อในราคาแพงกว่าแอสตราเซเนกา นายอนุทินตอบว่า เป็นการซื้อโดยตรงไม่ผ่านใคร ซื้อเป็นไปตามราคาตลาด ไม่ได้ซื้อแพงกว่าคนอื่นไปดูได้ ขายให้ประเทศไทยเท่านี้ แล้วขายให้ประเทศอื่นถูกกว่า 5 เท่าตามที่กล่าวหาหรือไม่ ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมายในการซื้อ สถานทูตรู้ รัฐบาลรู้การ ซื้อซิโนแวค รัฐบาลต้นทางคือจีนต้องอนุมัติการส่งออกทุกครั้ง ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ตอนแรกเสนอมาไม่ใช่ราคานี้ต่อแล้วต่ออีก ต่อรองตลอด

ปิดโรงเรียนนานาชาติป้องกันเชื้อ

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในต่างจังหวัด ที่ จ.พิษณุโลก นายลือชัย ชูนาคา ศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก ได้รับรายงานด่วนจาก นายสมชายและนางวัลลา สันติภาดา ผู้บริหารโรงเรียนธีรธาดา พิษณุโลก และโรงเรียนนานาชาติแคมบริดจ์ คอลเลจ ไทยแลนด์ ที่เป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกของพิษณุโลก ว่าขอปิดการเรียนการสอนเนื่องจากมีพี่ชายของเด็กนักเรียนในโรงเรียนคนหนึ่งป่วยโควิดกลัวนำเชื้อมาติดน้องชาย เพื่อเป็นการป้องกันจึงประกาศปิดการเรียนพร้อมรอผลตรวจของเด็กนักเรียนคนดังกล่าว สำหรับนักเรียนประจำ โรงเรียนยังให้อยู่ประจำ ต่อไปจนกว่าจะทราบผล ส่วนนักเรียนไป-กลับขอให้กักตัวอยู่ที่บ้านและสังเกตอาการ พร้อมติดตามข่าวสารของโรงเรียนอย่างใกล้ชิด

คลัสเตอร์ตับเต่าลามอีก 11 คน

ที่อำเภอเทิง จ.เชียงราย พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 11 คนจากคลัสเตอร์ตับเต่า ทำให้ยอดรวมเฉพาะในพื้นที่ ต.ตับเต่า มีผู้ป่วยจากคลัสเตอร์นี้จำนวน 72 คน นายบรรจง ปะสาวะโพธิ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ประจำสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเทิง เผยว่า สายพันธุ์โควิดที่แพร่ระบาดในพื้นที่ ต.ตับเต่า และใกล้เคียงจากการตรวจพบเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ไม่ใช่สายพันธุ์อินเดียอย่างที่หลายคนหวาดวิตก ด้าน นายบุญส่ง ตินารี นอภ.เทิง กล่าวว่า โควิด-19 ไม่ว่า จะเป็นสายพันธุ์ไหน มีความอันตรายเหมือนกันหมด

รวมตัวขอเปิดสถานบริการ

ที่ลานหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต วันเดียวกัน มีกลุ่มพนักงาน ลูกจ้างสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ ในจังหวัดภูเก็ตกว่า 50 คน นำโดยนายพรหมพิริยะ ธรรมอุปถัมภ์ มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต ขอให้พิจารณาคำสั่งปิดสถานบริการและสถานบันเทิง ผับ บาร์ มีว่าที่ร้อยตรีวิกรม และนายปิยะพงศ์ ชูวงศ์ รอง ผวจ.ภูเก็ตมารับหนังสือและจะนำเสนอ ผวจ.พิจารณาต่อไป ผู้มายื่นหนังสือได้กล่าวถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่ไม่สามารถเปิดสถานบริการนานถึงปีเศษจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เดือดร้อนหนักเพราะไม่มีรายได้ เมื่อมีนโยบายเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว จึงมีความหวังว่าจะมีงานมีรายได้ เชื่อว่านักท่องเที่ยว คงไม่ได้มานอนอาบแดดอย่างเดียว บางส่วนอาจใช้บริการสถานบันเทิงด้วย จึงอยากให้ภาครัฐเห็นใจ

ติดเชื้อจากงานศพ 2 แห่ง

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.กระบี่ เริ่มขยายวงมากขึ้น หลังมีการปิดศูนย์การเรียนวิธีอิสลามบินูริรเราะห์มาน หมู่ 3 ต.คลองหิน อ.อ่าวลึก คัดกรองหาผู้ติดเชื้อจาก 100 ผู้สัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ ที่กลับมาจากศูนย์มัรกัสยะลา ที่พบผู้ติดเชื้อ 20 รายในวันเดียว โดย 17 ราย เป็นกลุ่มที่ไปงานศพใน อ.คลองท่อม ระหว่างวันที่ 12-17 มิ.ย. และยังพบผู้ติดเชื้อจากมัรกัสยะลาอีก 1 ราย บนเกาะลันตา คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กระบี่ได้สั่งปิด 2 หมู่บ้าน คือ บ้านโคกหาร หมู่ 2 และบ้านทางหลวง หมู่ 3 ต.โคกหาร อ.เขาพนม ตั้งแต่วันที่ 22-28 มิ.ย. โดยในวันที่ 28 มิ.ย. จะมีการตรวจคัดกรองผู้คนจาก 2 หมู่บ้านดังกล่าว 500 คน นายนิรันดร์ ปราบอักษร นอภ.เขาพนม กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อ ใน 2 หมู่บ้านกว่า 10 คน หลังจากไปร่วมงานศพที่ ต.กุแระ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช แล้วมาแพร่เชื้อในหมู่บ้าน

ตรวจเชิงรุกไทย-เมียนมา

ที่ จ.พังงา นายวิทยา ไล่สกุล สาธารณสุขอำเภอคุระบุรี นำเจ้าหน้าที่ออกตรวจคัดกรองเชิงรุก ประชาชนทั้งในกลุ่มคนไทยและแรงงานเมียนมา ที่ชุมชนบ้านหินลาด ม.3 ต.คุระ อ.คุระบุรี รวม 88 ราย ผลเป็นลบทั้งหมดและได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจแบบ PCR ที่แพปลาบ้านหินลาด 12 ราย ส่งให้ รพ.ตะกั่วป่าตรวจ หากผลเป็นบวกและมีอาการจะนำตัวไปรักษาใน รพ.ตะกั่วป่า หากไม่มีอาการจะส่งไปรักษาที่ รพ.สนามโชคอำนวย และ รพ.สนามบ้านเด็ก อ.คุระบุรี

ปัตตานีสถานการณ์โควิดแรง

ที่ จ.ปัตตานี สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงมากขึ้นหลังพบผู้ติดเชื้อพุ่งอีก 117 คน ส่วนใหญ่มาจากโรงงานผลิตปลากระป๋องรอยัลฟู้ดและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล แพอรุณ มัรกัสยะลา แล้วแพร่เชื้อขยายวงกว้างในจังหวัดเข้าในชุมชนต่างๆและคนในครอบครัว ขณะเดียวกันมีการเร่งตรวจสอบผู้ติดเชื้อว่ามีเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาเข้ามาในพื้นที่จังหวัดปัตตานีด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยมักจะปกปิดไทม์ไลน์ จึงส่งผลให้สถานการณ์โควิดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

ยะลายอดติดเชื้อพุ่ง 74 คน

ที่ จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 74 คน โดยพบใน อ.บันนังสตา ถึง 20 คน นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยถึงกรณีคลัสเตอร์มัรกัสยะลาหรือศูนย์ดะวะห์ แห่งประเทศไทย อยู่ที่หมู่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา ว่า มีรายงานเชื้อไวรัสได้แพร่กระจายไปในพื้นที่ภาคใต้รวม 12 จังหวัด นอกเหนือจากยะลา มีนราธิวาส สตูล ปัตตานี สงขลา กระบี่ พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ตรัง ภูเก็ต เชื้อที่ตรวจพบจากผู้ป่วยใน 12 จังหวัด เฉพาะ จ.ยะลา มี 100 ราย รวมจังหวัดอื่นๆผู้ติดเชื้อกว่า 500 ราย ขณะนี้นักเรียนที่กลับภูมิลำเนาทั้งหมดอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเนื่องจากเชื้อที่พบเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แต่ละจังหวัดจึงประกาศแจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปตรวจหาเชื้อแล้ว

คนไข้โควิดหนีออกจาก รพ.

ที่ จ.นราธิวาส เกิดเหตุผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นชายมุสลิมวัย 36 ปี อยู่บ้านปูลาไซร์ ม.8 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ ปีนกำแพงหนีออกจาก รพ.ระแงะ หนีการรักษาต่อมาเจ้าหน้าที่ติดตามตัวจากภาพจากกล้องวงจรปิดจนพบไปแอบซุกตัวนั่งอยู่ข้างกอหญ้าใกล้กำแพงรั้ว ติดกับสนามฟุตบอลหญ้าเทียมแห่งหนึ่งชาวบ้านพบเห็นจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ระแงะ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลระแงะ เดินทางมารับตัวชายวัย 36 ปี กลับเข้า รพ.

ชลบุรีอ่วมติดเชื้อ 335 ราย

ที่ จ.ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีก 335 ราย มาจากการตรวจเชิงรุกคลัสเตอร์ตลาดใหม่ อำเภอเมืองชลบุรี 233 ราย จากตรวจเชิงรุกคลัสเตอร์ตลาดสัตหีบ 20 ราย จากแคมป์แรงงานต่างด้าว บริษัท แสตนดาร์ด เพอร์ฟอร์แม้นซ์ จํากัด ต.เขา-คันทรง อ.ศรีราชา 5 ราย แคมป์แรงงานต่างด้าว บริษัท JWS อ.ศรีราชา 1 ราย อาชีพเสี่ยงพบปะผู้คนเป็นจำนวนมาก 1 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน (ร่วมวงสังสรรค์) 4 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน (เชื่อมโยงคลัสเตอร์บางทราย 1 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว 23 ราย และจากสถานที่ทำงาน 9 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน (อยู่ระหว่างสอบสวนโรค) 19 ราย

ระยองเจอคลัสเตอร์แคมป์

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง แถลงสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 63 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแคมป์คนงานก่อสร้างของบริษัทฤทธา ที่มารับเหมาก่อสร้างบริษัทวีนิไทย ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จากการตรวจสอบที่พักในแคมป์คนงาน มีห้องแถวสังกะสี 4 หลัง หลังอยู่กันประมาณ 50 คน มีการใช้ห้องน้ำและบันไดร่วมกัน จึงมีโอกาสติดเชื้อกันง่าย ขณะนี้ได้สั่งปิดแคมป์ห้ามคนงานเข้าออกเด็ดขาด เหลือแรงงานในแคมป์ประมาณ 150 คน ผู้ที่ติดเชื้อได้เข้ารักษาที่ รพ.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ นอกจากนี้ ได้กักตัวคนงานบริษัทวีนิไทย 4 คน ที่ร่วมประชุมกับผู้บริหารของบริษัทฤทธา

นนทบุรียอด 64 ราย

ที่ จ.นนทบุรี ศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 รายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 รวม 64 ราย เป็นหญิง 39 ราย ชาย 25 ราย ต่างชาติ 5 ราย เมียนมา 2 ราย ลาว 1 ราย กัมพูชา 2 ราย ผู้ป่วยอยู่ใน อ.เมือง 13 ราย ปากเกร็ด 13 ราย บางใหญ่ 12 ราย ไทรน้อย 12 ราย บางบัวทอง 8 ราย บางกรวย 6 ราย สาเหตุ ติดเชื้อที่สำคัญ สถานที่ทำงาน และครอบครัว

สมุทรปราการทะลัก 696 ราย

นพ.นนท์ จินดาเวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผย ถึงสถานการณ์โควิด-19 ใน จ.สมุทรปราการ ว่าพบคลัสเตอร์ใหม่หลายแห่งในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย อ.เมือง ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจหาเชื้อในโรงงาน 40-50 แห่ง พบผู้ป่วยใหม่ เพิ่ม 37 คน คลัสเตอร์ที่ 2 ที่บริษัท กนกโปรดักส์ อ.พระ-สมุทรเจดีย์ พบ 20 ราย คลัสเตอร์ที่ 3 แคมป์ก่อสร้างเอสเอ็มซี ในเขต อ.เมือง ตรวจหาเชื้อเบื้องต้น 200 คน พบติดเชื้อ 95 ราย และยังมีคลัสเตอร์ บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด ต.บางโฉลง อ.บางพลี ติดเชื้อ 326 คน สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อในวันที่ 22 มิ.ย. พบผู้ป่วยรายใหม่รวม 696 ราย

เลื่อนฉีดแอสตราฯเข็ม 2 เร็วขึ้น

ภายหลังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบให้พื้นที่ที่มีการระบาด ปรับระยะเวลาการฉีดเข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้นจากปกติที่นัดห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์เป็น 8 สัปดาห์ เนื่องจากพบรายงานการระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพิ่มมากขึ้นนั้น เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. รพ.ศิริราช ออกประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตราฯ เข็มที่ 2 เร็วขึ้น ดังนี้ ฉีดเข็มแรกวันที่ 7 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 30 ส.ค. ฉีดเข็มแรกวันที่ 8 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 31 ส.ค. ฉีดเข็มแรกวันที่ 9 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 1 ก.ย. ฉีดเข็มแรกวันที่ 10 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 2 ก.ย. ฉีดเข็มแรกวันที่ 11 มิ.ย.เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 3 ก.ย. ฉีดเข็มแรกวันที่ 12 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 4 ก.ย. ฉีดเข็มแรกวันที่ 13 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 5 ก.ย. ฉีดเข็มแรกวันที่ 14 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 6 ก.ย. ฉีดเข็มแรกวันที่ 15 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 7 ก.ย. ฉีดเข็มแรกวันที่ 16 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 8 ก.ย. ฉีดเข็มแรกวันที่ 17 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 9 ก.ย. ฉีดเข็มแรกวันที่ 18 มิ.ย. เลื่อนมาฉีดเข็ม 2 วันที่ 10 ก.ย. สำหรับผู้ที่ฉีดเข็มที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. รับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามวันที่นัดหมายเดิม หากเปลี่ยน แปลงติดตามที่ www.si.mahidol.ac.th