น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ตนมี 7 นโยบายเร่งด่วน ซึ่งในนโยบายดังกล่าวคือการดำเนินการศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และการพัฒนาทักษะวิชาชีพ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นั้น ตนได้วางทิศทางขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาให้แก่ สอศ.ไว้แล้ว โดยย้ำให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาทุกแห่งร่วมมือจัดการศึกษากับสถานประกอบการในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กำลังเป็นที่ต้องการของประเทศอย่างมาก ดังนั้น อาชีวศึกษาจะต้องผลิตผู้เรียน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเหล่านี้ให้มากขึ้น ไม่ใช่จัดการสอนแล้วผลิตผู้เรียนโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้อยากให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาแต่ละแห่งได้ค้นหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอว่าวิทยาลัยมีความถนัดด้านไหนเป็นพิเศษ และมุ่งผลิตคนด้านเหล่านั้นให้เต็มที่ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา อีกทั้งการผลิตผู้เรียนของแต่ละวิทยาลัยต้องยึดพื้นที่เป็นฐานให้เหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจของพื้นที่ตัวเอง เช่น จ.เชียงใหม่เป็นจังหวัดแห่งการท่องเที่ยว วิทยาลัยก็ควรผลิตผู้เรียนป้อนธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องเป็นต้น วิทยาลัยต้องโฟกัสการเรียนการสอนให้ตรงจุด หากดำเนินการได้ตามนี้เชื่อว่าเราจะผลิตผู้เรียนได้ตามความต้องการของประเทศอย่างแน่นอน ทั้งนี้ยอมรับทักษะภาษาอังกฤษมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งตนจะหาแนวทางความร่วมมือให้มากขึ้น เพื่อยกระดับภาษาอังกฤษผู้เรียนวิชาชีพให้เป็นมาตรฐานสากล รวมไปถึงผู้เรียนสายสามัญด้วย.

...