ระวังฝนทิ้งช่วง! คำเตือนจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ช่วงตั้งแต่เดือน มิ.ย.ไปจนถึง ส.ค. รวมเกือบ 3 เดือนเต็มๆ
จริงอยู่แม้ว่าสภาพภูมิอากาศในปี 2564 จะเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา คือ มีฝนมากน้ำมาก แต่ก็เป็นระยะๆ คือ ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และ จะตกหนักอีกครั้งในเดือน ก.ย.ต่อเนื่องเดือน ต.ค.
สสน. ยังรายงานปริมาณฝนเปรียบเทียบกับคาดการณ์เดือน เม.ย.2564 พบว่าเกิดพายุฤดูร้อนต่อเนื่อง 4 ครั้ง ได้แก่ ช่วงวันที่ 1-5 เม.ย. ช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. ช่วงวันที่ 16-19 เม.ย. และช่วงวันที่ 26-30 เม.ย. ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 171 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าค่าปกติถึง 87 มิลลิเมตร และยังมีปริมาณฝนที่มากกว่าค่าปกติในทุกภาค โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง
แต่พอเข้าสู่เดือน พ.ค.ฝนกลับตกลดลง กระทั่งเข้าสู่เดือน มิ.ย.จึงเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกร ที่ราบภาคกลางหลายๆแห่งที่เห็นฝนตกลงมาดีตั้งแต่ เม.ย.จึงได้เริ่มปลูกข้าวเร็วขึ้นกว่าเดิม พอฝนลดลงก็เริ่มขาดน้ำ จะสูบน้ำจากคลองส่งน้ำก็ยังไม่มีน้ำให้สูบไปใช้
...
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวถึงมาตรการรับมือและแก้ปัญหา ว่า ขณะนี้มีน้ำสำหรับใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง โดยได้เร่งขุดลอกแหล่งน้ำและแก้มลิง เตรียมเอาไว้รับฝนที่จะตกลงมาได้ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสำรองเอาไว้ใช้ในช่วงฝนจะลดลง และได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทำหน้าที่บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนและภาวะฝนทิ้งช่วงตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เสนอ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง การทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลอง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ เป็นต้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการปัญหาน้ำท่วมหรือภาวะฝนทิ้งช่วงได้
“ผมยังได้กำชับให้นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งจัดหาและสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดที่ผลิตจากน้ำบาดาลบรรจุขวดไปมอบให้ ชุมชน ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในกรุงเทพฯและพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงและการแพร่ระบาดของโควิด–19 และช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคของหน่วยงานต่างๆ โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1–12 จะสูบน้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่สำนักงาน แล้วนำไปผ่านกระบวน การปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อให้ได้คุณภาพน้ำดื่มสะอาดตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก บรรจุน้ำลงในภาชนะขนาดแตกต่างกัน 6 ขนาด ได้แก่ ขวดพลาสติกขนาด 350, 500, 750 มิลลิลิตร และ 1.5 ลิตร แกลลอนพลาสติกขนาด 5 ลิตร และ 20 ลิตร นำไปแจกจ่ายตามชุมชนและโรงพยาบาลของแต่ละจังหวัด ปัจจุบันแจกจ่ายไปแล้วกว่า 350,000 ขวด และอีก 6,000 แกลลอน คิดเป็นปริมาณน้ำรวมมากกว่า 300,000 ลิตร” พล.อ.ประวิตร ระบุพร้อมกล่าวย้ำว่า “แม้โควิด–19 จะยังอยู่ น้ำจะแล้ง แต่คนไทยก็ต้องรอด”
...
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.กล่าวว่า ฝนทิ้งช่วง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ปัญหาน้ำเป็นสิ่งที่ ทส.ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะแล้งแค่ไหน ประชาชนต้องมีน้ำกินน้ำใช้ที่เพียงพอ ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อเตรียมแผนกระจายน้ำไปยังพื้นที่ที่ค่าน้ำฝนน้อยกว่าปกติ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศมีน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภคและใช้เพื่อการเกษตรได้อย่างเพียงพอ
ส่วน นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนจำนวนมากและที่สำคัญยังช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคในแต่ละเดือนได้ถึง 3,000-5,000 บาทต่อครัวเรือน เช่น โครงการส่งน้ำบาดาลระยะไกล ด้วยการกระจายน้ำที่ส่งไปตามท่อหรือระบบประปาส่งให้กับประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ หรือมีศักยภาพน้ำบาดาลต่ำหรือกร่อยเค็ม ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 25 แห่ง โครงการจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชน บริการน้ำดื่มน้ำใช้ฟรีแก่ประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงแหล่งน้ำของประชาชน ดำเนินการแล้วในพื้นที่ 68 แห่ง โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน เป็นการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภคให้ประชาชน จำนวน 279 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำเสริม และเพิ่มจุดให้ บริการน้ำแก่ประชาชน ช่วยลดค่าครองชีพ หากดำเนินการแล้วเสร็จครบทุกแห่ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 190,000 ครัวเรือน ปริมาณน้ำรวม 12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
...
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า แม้ประเทศ ไทยจะอยู่ในภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน แต่ก็ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งการเตรียมการรับมือ แก้ปัญหาที่ กระจายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการ
ซึ่งที่พอจะทำให้เบาใจได้คือ จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการประกาศภัยแล้งออกมาเลย
แต่สิ่งที่เราต้องขอฝากไว้ คือ ช่วงเกือบ 3 เดือนจากนี้เป็นต้นไป เมื่อรู้ว่าฝนมาเร็ว แต่...ขาดน้ำกลางปี และน้ำจะมากปลายปี
...
รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรู้เท่าทัน และเตรียมการรับมือเพื่อไม่ให้น้ำแล้ง ส่งผลซ้ำเติมพี่น้องประชาชนที่ทุกวันนี้ต้องสู้กับมหันตภัยไวรัสร้ายโควิด–19 อย่างหนักหนาสาหัสอีกเลย.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม