ปัญหานักเรียนพลาดสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนใกล้บ้านประจำอำเภอและจังหวัด คงวนเวียนเกิดขึ้นทุกปีจาก “สถานศึกษาบางแห่ง” เปลี่ยนหลักเกณฑ์สอบเข้าร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีโควตาให้กับเด็กในเขตพื้นที่บริการการศึกษานี้
ดังนั้นถ้า “อยากเรียนต้องสอบผ่านสถานเดียว” กลายเป็นปัญหาให้ “ผู้ปกครอง” ต้องเสียเงินพาบุตรหลานไปเรียนพิเศษตามมา ตอกย้ำให้ “ผู้มีฐานะหาเช้ากินค่ำ” ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะหาก “เด็กใกล้โรงเรียนสอบไม่ผ่าน” ก็จะต้องถูกผลักออกไปเรียนนอกเขตการศึกษาแทน
เรื่องนี้เป็น “ปัญหาใหญ่ระดับชาติ” ที่คงยังวนเวียนอยู่ในวงการศึกษาไทย ต้องแก้ไขกันตั้งแต่ต้นทางให้เด็กได้เรียนในมาตรฐานเท่าเทียมกัน เพราะเด็กวันนี้คืออนาคตของชาติในวันหน้า...
แม้ว่าตามประกาศ สนง.คกก.การศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนปี 2564 ก็มีหลักเน้นการมีส่วนร่วมให้มีความเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส ตรวจสอบได้ สร้างโอกาสให้เด็กได้รับการศึกษา บริหารจัดการให้เด็กได้เข้าเรียนทั่วถึงลดความเหลื่อมล้ำ
กำหนดแนวทางการรับเด็กนักเรียนคือ อายุ 4-5 ปี เรียนอนุบาล2อนุบาล3 ห้องละไม่เกิน 30 คน และนักเรียนชั้น ป.1 ห้องละไม่เกิน 40 คน ในเขตพื้นที่บริการเข้าเรียนห้ามสอบวัดความสามารถ ถ้ายังไม่เต็มก็ค่อยให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการได้ เช่นเดียวกับการรับนักเรียน ม.1 และ ม.4 ห้องละไม่เกิน 40คน
สัดส่วนวิธีเป็นตาม “ประกาศโรงเรียนโดยคำนึงถึงโอกาสของนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ” กรณีมีนักเรียนไม่เต็มก็สามารถรับนักเรียนจากโรงเรียนอื่นได้ ดร.วิสุทธิ์ เวียงสมุทร ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี บอกว่า จุดเริ่มต้น “การตั้งโรงเรียน” เพื่อให้บริการชุมชนท้องถิ่นนั้นเป็นหลัก
...
ตามหลักรัฐธรรมนูญกำหนดไว้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง
ปัญหามีอยู่ว่า “โรงเรียนประจำอำเภอและจังหวัดบางแห่ง” มีหลักเกณฑ์รับนักเรียนใหม่ด้วยการสอบ 100% ก็เป็นเรื่องดีที่จะได้ “คนเก่งมีศักยภาพ” สามารถยกคุณภาพนักเรียน และยกระดับคุณภาพโรงเรียน แต่ว่า “นักเรียนเขตพื้นที่บริการ” กลับถูกตัดสิทธิโควตาเขตพื้นที่บริการสอบไม่ผ่านก็ไม่มีสิทธิเรียนใกล้บ้าน
อันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการสร้างคุณภาพเด็กไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนได้ “คนเก่ง” เข้ามาเรียนอย่างเดียว แต่ “โรงเรียน” ต้องมีศักยภาพพัฒนาการรองรับการสร้างคุณภาพทางการศึกษาเช่นกัน
โดยเฉพาะ “นโยบายองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” เปิดให้โรงเรียนเป็นผู้กำหนดแบบแผนการรับนักเรียนใหม่ ม.1 และ ม.4 ทำให้โรงเรียนสังกัด อบจ.บางแห่งใช้วิธีสอบคัดเลือก 100% อย่างเดียว จึงเกิดปัญหาตามมาคือนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการที่สอบไม่ได้ต้องไปเรียนในโรงเรียนห่างไกลบ้านออกไปอีก
สาเหตุเพราะเกิดจากความหลงผิดของ “ผู้บริหารสถานศึกษา” ไม่เข้าใจเป้าหมายหลักการจัดการศึกษาอย่างถ่องแท้ตามหลัก “การศึกษาเพื่อเยาวชนทุกคนควรได้รับสิทธิ” ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง แต่ว่า “นโยบายโรงเรียน” กลับเลือกเฉพาะเด็กสอบเก่งไปพัฒนาเท่านั้น
กลายเป็นการพัฒนาเฉพาะ “กลุ่มคนเก่ง” นำเข้าสู่ระบบการแข่งขันทางวิชาการหรือผ่านคัดเลือกเข้าคณะมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง เพื่อสร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนตามมาเท่านั้น
ในส่วน “เด็กมีพรสวรรค์อื่น” ถูกตัดสิทธิที่ได้เข้าเรียนใกล้บ้านดังมีคำสะท้อนของนักเรียนคนหนึ่งว่า “โรงเรียนใกล้บ้านผมน่าจะตั้งขึ้นมาเพื่อผม แต่ผมกลับไม่มีสิทธิที่จะเข้าเรียนเพราะสอบไม่ได้” ด้วยเหตุเพราะการเรียนการสอนยังเป็นไปเพื่อการสอบเอาคะแนนบอกคุณภาพของคนอยู่เหมือนเดิมไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ย้ำหลักหัวใจการศึกษาไทย “ต้องพัฒนาคุณภาพเยาวชน” ตามความสามารถพรสวรรค์ของแต่ละคนให้เหมาะสมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันมิเช่นนั้นอาจเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เริ่มตั้งแต่ในรั้วโรงเรียนก็ได้
...
ทั้งยัง “ละเมิดสิทธิบุคคลได้รับการศึกษาพัฒนาคุณภาพที่ดี” ตามหลัก “นโยบายรัฐบาล” ที่ตั้งโรงเรียนนี้เพื่อช่วยพัฒนาเยาวชน แต่ “นโยบายโรงเรียนบางแห่ง” กลับสวนทางเลือกเฉพาะกลุ่มคนเก่งเท่านั้น
สิ่งนี้สร้างความเสียหายต่อจิตใจเยาวชนเขตบริการการศึกษาไม่ได้เรียนใกล้บ้าน แต่กลับถูกผลักไปเรียนนอกเขตบริการการศึกษาไกลบ้าน ที่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายเดินทางไปเรียนทั้งที่บ้านอยู่ใกล้โรงเรียนไม่กี่เมตร
ขัดหลักข้อกำหนดโรงเรียนเขตบริการต้องการให้นักเรียนได้เรียนใกล้บ้าน มีโอกาสได้เข้าโรงเรียนที่ดี ไม่ต้องเดินทางไกล เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ลักษณะคละเคล้ากันไปมีทั้งเก่งและไม่เก่งให้เกิดความหลากหลาย
ดังนั้น ควรให้ “เด็กในเขต” ต้องได้เรียนใกล้บ้าน 60% และ “เด็กนอกเขต” ผ่านการสอบ 40% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ “โรงเรียนบางแห่งภาคอีสาน” ปรับให้สอบเข้าเรียน 100% ที่กีดกันสิทธิควรได้รับของเยาวชนไทยอยู่นี้
ผลตามมา... “อนาคตการศึกษาไทยหลงทางในการพัฒนาเยาวชนของชาติ” จากความเข้าใจผิดคิดว่า “คนเก่ง” ต้องวัดผลด้วยการสอบแข่งขันเป็นหลัก ทำให้สังคมเกิดการยอมรับเฉพาะคนสอบผ่านเรียนแพทย์ วิศวกรรม ส่วน “คนมีความสามารถพิเศษอื่น” ถูกทอดทิ้ง...ลักษณะผิดวิสัยการพัฒนาเยาวชน
สาเหตุเพราะ “การศึกษาถูกปลูกฝังยอมรับคนเก่งต้องสอบแข่งขันวัดความรู้” ส่งผลให้ “เยาวชนไทย” ไม่ได้รับการพัฒนาตามความสามารถอย่างทั่วถึงเสมือนว่า “ทุกพรสวรรค์ไม่ได้รับการส่งเสริม” มุ่งเน้นเลือกเฉพาะ “คนสอบเก่ง” เท่านั้น กลายเป็นความเสียหายให้แก่ “เด็กมีความสามารถอื่น” ไม่ได้รับการสนับสนุนตามควร
...
จนเป็นปัญหาต่อการสร้างเยาวชนให้เจริญเติบโตตามทักษะที่สนใจขัดตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ม.24 ให้สถานศึกษาจัดเนื้อหา กิจกรรมสอดคล้องกับความสนใจ และความถนัดผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล กลายเป็น “ความสามารถ” ไม่ถูกดึงออกมาสร้างให้เกิดคุณภาพจนมัวหมองลง
ตอกย้ำว่า “ผู้บริหารแต่ละโรงเรียน” อย่าหลงผิดว่า “นักเรียนเก่งต้องแข่งสอบ” เท่านั้น แต่ยังมี “คนเก่งมีความสามารถ” ที่พัฒนาประเทศ ชาติให้เห็นอยู่เสมอ เช่น “นักกีฬา” มักสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รับการศึกษาทั่วถึงเสมอภาคกัน มิใช่เลือกเฉพาะคนเก่งเพราะสอบผ่านเท่านั้น
ย้อนดูอดีต “การศึกษาไทย” มีจุดเริ่มต้นจาก “วัด” ก่อนมาเป็นโรงเรียน คราวนั้นเน้นการเรียนการสอนตามตำแหน่งงานรองรับ ดังนั้น “ผู้มีวุฒิการศึกษา” จะมีงานทำอยู่เสมอ เช่น “อาชีพครู” ไม่มีผู้สนใจต้องเปิดรับ “ผู้จบอาชีวะ” เข้ามาเป็นครูแทน แต่ปัจจุบันตำแหน่งงานมักคัดคนคิดเป็น ทำงานเป็น มีประสบการณ์สามารถเท่านั้น
...
เมื่อเป็นเช่นนี้ “ระบบการศึกษา” ต้องเปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ว่า “ประเทศไทย” ไม่ยอมเปลี่ยนการเรียนการสอน คงเน้นสอบวัดผลตามบทเรียนในตำราเข้าไปสู่ตำแหน่งของงานจากแนวคิด “การสอน คือ การบอกนักเรียน” ไม่คำนึงถึง “เด็กถนัดสนใจสิ่งใด” ทำให้คิดเองไม่เป็น ไม่รักการอ่านเกิดขึ้นอยู่มากมายในขณะนี้
จริงๆแล้ว...“ครู” ต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ให้เป็นเสมือน “โค้ช”คอยทำหน้าที่แนะนำอำนวยความสะดวกให้เด็กนักเรียน เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์งานด้วยตัวเอง ทั้งยังเป็นเจ้าของในการจัดการเรียนรู้ให้มีทิศทางชีวิตด้วยตัวเอง ดังนั้น “ครู” ต้องมีความเชื่อใหม่ที่จะนำเนื้อหาในตำรามาสอนมิได้ดังเดิมอีกต่อไป
เพราะ “เนื้อหามีเยอะมากมายในโลกออนไลน์” ต้องปรับเปลี่ยนเน้นสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนรู้ “ครู” คอยแนะนำการค้นหาเนื้อหาที่เด็กต้องการ แต่วิธีเปลี่ยนแนวคิดครูนี้ “ผู้กำหนดนโยบาย” ต้องเข้าใจปัญหาจริงๆ มิเช่นนั้น “การศึกษาไทยจะหลงทางสะเปะสะปะ” นำไปสู่การแก้ไขตรงจุดอย่างแท้จริงไม่ได้
ตอบโจทย์ว่า “เยาวชนไทยมีความเก่ง ความถนัดไม่เหมือนกัน” แต่ทุกคนล้วนมีส่วนนำความรู้เล่าเรียนมานำไปต่อยอดพัฒนาประเทศจึงควรต้องได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพทั่วถึงเท่าเทียมกัน...