- คุณสมบัติวัคซีนโควิด "แอสตราเซเนกา" และ "ซิโนแวค" ที่มีใช้ในประเทศไทย ณ ขณะนี้
- เทียบวัคซีนทั้ง 2 ชนิด แตกต่างกันบางประการ แต่โดยรวม ประโยชน์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ
- แพทย์ย้ำ การมีไข้หลังฉีดวัคซีนโควิด ไม่ได้แปลว่าร่างกายเกิดปฏิกิริยากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ในปัจจุบัน "วัคซีนโควิด" กลายเป็นพระเอกที่เป็นดั่งความหวังที่หลายประเทศเริ่มใช้ในการควบคุมเจ้าไวรัสตัวร้าย ขณะที่ประเทศไทย มีนโยบายการให้วัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนทุกคนที่สมัครใจ ซึ่งมีเป้าหมายให้วัคซีนครอบคลุมประชากรไทยอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยขณะนี้เริ่มฉีดวัคซีน 2 ชนิด คือ "ซิโนแวค" และ "แอสตราเซเนกา" ที่ได้กระจายให้พี่น้องประชาชนไปแล้วทั่วประเทศ
แต่เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ที่ถูกพัฒนาและผลิตขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อใช้ป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แก่ประชาชน ซึ่งแม้ว่าหลายประเทศจะได้เริ่มให้บริการวัคซีนนี้อย่างกว้างขวาง โดยพบว่าเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย อาการภายหลังได้รับวัคซีนส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง แต่ก็ยังมีข่าวที่สร้างความกังวลใจ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนออกมาเป็นระยะ
ทั้งนี้ วัคซีนแต่ละตัวมี "ข้อดี" และ "ข้อด้อย" แตกต่างกันออกไป ที่สำคัญคือไม่สามารถนำผลการศึกษาของวัคซีนต่างชนิดในคนละกลุ่มประชากร และคนละเวลามาเปรียบเทียบกันโดยตรงได้ เพราะปัจจัยในเรื่องของแบบแผนการศึกษา ลักษณะประชากร ลักษณะของเชื้อที่ระบาดและวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
...
สำหรับผลการศึกษาที่รายงานมามากขึ้นนั้น ทำให้ "กรมควบคุมโรค" สรุปคุณสมบัติวัคซีนของ "แอสตราเซเนกา" และ "ซิโนแวค" รวมทั้งอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ข้อห้าม ข้อควรระวัง และข้อดี ข้อด้อย ของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดจากการศึกษาและประสบการณ์การใช้จริง ซึ่งคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้น จำเป็นต้องรู้เท่าทัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการใช้วัคซีนได้ดังนี้
วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca)
แอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยใช้ไวรัสอะดีโนไวรัสของชิมแพนซีซึ่งนำมาดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ และสอดใส่สารพันธุกรรมที่กำกับการสร้างโปรตีนสไปค์ของไวรัสซาร์ส-โควี-2 นับเป็นวัคซีนเชื้อมีชีวิตที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์
คุณสมบัติวัคซีนแอสตราเซเนกา
- วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพโดยรวมร้อยละ 70.4 ในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการ และมีประสิทธิภาพร้อยละ 100 ในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต
- ควรฉีดจำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 10-12 สัปดาห์และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ถ้าจำเป็น (ระยะห่างระหว่างเข็มที่อาจฉีดได้คือ 4-12 สัปดาห์โดยระยะห่างขึ้น จะให้ผลดีกว่า)
ข้อดีวัคซีนแอสตราเซเนกา
- ประสิทธิภาพเกิดขึ้นเร็ว ตั้งแต่หลังการฉีดเข็มแรกเพียง 2 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพเกิดเต็มที่ และจากประสบการณ์ในประเทศสกอตแลนด์ป้องกันการป่วยหนัก และนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 89 หลังฉีดเข็มแรก ไม่แตกต่างจากวัคซีนของบริษัท Pfizer ซึ่งป้องกันได้ร้อยละ 91
- จะมีประโยชน์และประสิทธิภาพสูงมาก ในกรณีที่มีการระบาด เพราะจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่สูงอย่างรวดเร็ว เมื่อฉีดแบบปูพรมเป็นวงกว้าง จะยุติการระบาดได้เร็ว
- มีการรับรองและยอมรับในประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา อาจทำให้เกิดอุปสรรคน้อยกว่าในการต้องเดินทางเข้าเมืองในประเทศเหล่านั้น
ข้อด้อยวัคซีนแอสตราเซเนกา
- มีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้บ่อย มีไข้ เพลีย ได้ถึงร้อยละ 70-80 แต่ส่วนใหญ่อาการไม่มาก
- สัมพันธ์กับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีน แต่พบน้อยประมาณ 1 ต่อแสนถึง 1 ต่อล้านโดส โดยในประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีอุบัติการณ์ต่ำกว่านี้ เพราะมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคที่คล้ายคลึงโรคนี้ต่ำมาก แต่เป็นภาวะที่รักษาได้ ซึ่งวิเคราะห์ความเสี่ยงในข้อนี้จะพบว่าประโยชน์จากวัคซีนยังสูงกว่ามาก
- แม้จะไม่มีข้อมูลการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก แต่หากไม่มีวัคซีนอื่นเป็นทางเลือก การใช้วัคซีนก็ยังมีประโยชน์กว่าการเสี่ยงที่จะติดเชื้อและเป็นโรคโควิด-19 ซึ่งจะมีความรุนแรงและอันตรายในคนกลุ่มนี้มากกว่าความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีน
- เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่แน่ใจว่าการมีแอนติบอดีต่อไวรัสที่เป็นพาหะ (anti-vector antibody) จะลดทอนประสิทธิภาพในการฉีดครั้งต่อๆ ไปหรือไม่
...
วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)
ซิโนแวค เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ในปัจจุบันแนะนำให้ฉีดในกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้งห่างกัน 2 สัปดาห์วัคซีน
คุณสมบัติวัคซีนซิโนแวค
- มีประสิทธิภาพโดยรวมในการป้องกันโรคแบบมีอาการที่ต้องพบแพทย์ได้ร้อยละ 77.9 ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนมีความแตกต่างกันแต่ละประเทศที่ทำการศึกษา โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 100 ในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง และหากนับรวมถึงการป้องกันโรคแบบที่มีอาการน้อยๆ โดยไม่ต้องพบแพทย์ด้วย จะพบประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 50.4
- วัคซีนนี้ควรฉีดจำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า วัคซีนจะมีประสิทธิภาพยาวนานเท่าใด และต้องฉีดกระตุ้นภูมิเมื่อใด
ข้อดีวัคซีนซิโนแวค
- มีอาการข้างเคียงน้อย
- เป็นวัคซีนเชื้อตาย จึงไม่ต้องกังวลในการใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและหญิงตั้งครรภ์
...
- เทคโนโลยีในการผลิต เป็นแบบที่เคยมีการใช้มาก่อนในวัคซีนตัวอื่นๆ เช่น โปลิโอ ตับอักเสบเอ ทำให้มีความไว้วางใจในความปลอดภัยระยะยาว
ข้อด้อยวัคซีนซิโนแวค
- ประสิทธิภาพจะยังเกิดไม่เต็มที่หลังเข็มแรก ต้องฉีดครบ 2 เข็ม จึงจะมีประสิทธิภาพเกิดได้เต็มที่
- มีรายงานอาการข้างเคียง ซึ่งคล้ายอาการทางระบบประสาทที่เรียกว่า Immunization stress-related response (ISRR) ซึ่งพบในช่วงที่ระดมฉีดให้บุคลากรที่อายุน้อยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จึงทำให้เกิดความระแวงและไม่มั่นใจ
- เนื่องจากการศึกษามีน้อยกว่า การใช้ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาทำให้การเก็บข้อมูลไม่เข้มแข็งเท่า จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา
ทั้งนี้ สำหรับข้อห้ามและข้อควรระวังของการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด คือผู้ที่เคยมีประวัติแพ้รุนแรงต่อวัคซีน รวมทั้งหากมีไข้หรือเจ็บป่วยควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้
ส่วนอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นนั้น อาจมีอาการปวด บวม คัน แดงบริเวณที่ฉีด อาการอื่นๆ อาจพบ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว หรือมีไข้ได้ ส่วนมากอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1-2 วัน แต่ถ้าหากฉีดวัคซีนแล้วมีปฏิกิริยาแพ้รุนแรง เช่น มีผื่นทั้งตัว หน้าบวม คอบวม หายใจลำบาก ใจสั่น วิงเวียนหรืออ่อนแรง หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาล หรือโทร. 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน
...
ล่าสุด มีการพูดถึงกรณีที่หนุ่มสาววัยทำงาน มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด "วัคซีนแอสตราเซเนกา" เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดตัว จำนวนมากนั้น นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ถือเป็นปฏิกิริยาปกติของร่างกายเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา โดยจากรายงานการศึกษาของวัคซีนแอสตราเซเนกา พบอาการไข้หลังฉีดได้ 30% แต่เมื่อพักผ่อนและรับประทานยาแล้วสามารถหายได้ใน 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม การมีไข้ไม่ได้แปลว่าร่างกายเกิดปฏิกิริยากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า ย้ำว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
ส่วนบุคคลผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งก่อนและหลังการฉีด สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งชา, กาแฟ และยาต่างๆ ตลอดจนทำหน้าที่การงานที่เคยทำปกติได้ และไม่ควรออกกำลังกายหนักกว่าที่เคยทำปกติหรือพักผ่อนน้อยกว่าปกติในช่วง 1-2 วันก่อนและหลังการได้รับวัคซีน
สุดท้ายนี้ หากพิจารณาจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าข้อมูลประสิทธิภาพและผลข้างเคียงต่างๆ ของการฉีดวัคซีนอาจจะยังไม่แน่ชัด หรือได้ข้อสรุป 100% แต่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก ยังคงแนะนำให้เข้ารับการฉีด เนื่องจากประโยชน์ที่จะได้รับแล้วสูงกว่า โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สมควรรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยทันที เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง ลดโอกาสที่จะต้องเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมทั้งลดโอกาสการเสียชีวิตอีกด้วย.
ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun, Sirilak Tapowhirun