กรมการพัฒนาชุมชนคิกออฟจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน "ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี" ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทาน 3 ลายผ้าบาติก ให้กลุ่มช่างทอผ้าเป็นต้นแบบต่อยอดพัฒนา ตามพระดําริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ยกระดับผ้าไทยร่วมสมัยก้าวสู่สากล เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทย สร้างงาน สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน พลิกวิกฤติสู้โควิด-19

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯพระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย ให้กลุ่มช่างทอผ้าเป็นต้นแบบต่อยอดพัฒนา เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ทันสมัยสู่สากล สร้างงาน สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน พลิกวิกฤติสู้โควิด-19

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่โรงแรมแคนทารี จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ รองประธานกรรมการ และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมคิกออฟ การจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรีฯ” โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแบบลายมัดหมี่แก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริ วัณณวรีฯ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ชาวไทยทุกคน และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนําไปใช้ทอผ้าผลิตผ้าได้ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งมอบต่อให้กับกลุ่มทอผ้าในจังหวัดนําไปเป็น ต้นแบบ และพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับวิถีเอกลักษณ์ประจำถิ่นตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชนเป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค และส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส ตลอดทั้งเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย

...

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ภายใต้โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานผ้าบาติกลายพระราชทาน 3 ลาย ให้แก่กรมการพัฒนาชุมชน ได้แก่ 1.ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” มีที่มาจากการเสด็จเยี่ยมชุมชนศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ ทรงพบเห็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่งดงาม ทรงส่งต่อความคิดและความรู้สึกประทับใจผ่านทางลวดลายผ้าบาติก สำหรับกลุ่มสี ทรงออกแบบด้วยแรงบันดาลพระทัยจากการทรงพบเห็นธรรมชาติ และวิถีชีวิตของภาคใต้ อาทิ สีน้ำเงินของท้องทะเล และสีฟ้าของท้องฟ้าที่สดใส สีเหลือง และสีชมพูสดใส จากสีของเรือกอและที่เป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่น

อธิบดีกรมพัฒนาชุมชนกล่าวอีกว่า 2.ลายพระราชทาน “ป่าแดนใต้” มีที่มาจากการเสด็จทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์ จึงได้ทรงออกแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน “ป่าแดนใต้” ด้วยทรงพระดำริให้จุดประกายความคิด ในเรื่องการอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนที่มีระบบนิเวศอันอุดม โดยทุกลวดลายล้วนสื่อความหมาย สำหรับกลุ่มสีทรงออกแบบด้วยแรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จเยี่ยมชุมชน ได้ทอด พระเนตรเห็นทิวทัศน์ยามค่ำของภาคใต้ที่งดงาม อาทิ สีน้ำเงินเข้มทิวทัศน์ในยามราตรีกาลท่ามกลางแสงจันทร์สีนวลกระจ่าง และสีฟ้าหม่นของใบดาหลายามค่ำ ที่พราวพร่ำไปด้วยหยาดฝนแวววาว

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า 3.ลายพระราชทาน “ท้องทะเลไทย” มาจากแรงบันดาลพระทัยในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลไทย ด้วยทรงพระดำริให้เป็นการจุดประกายความคิดเพื่อให้ผู้คนเกิดจิตสำนึกหวงแหนและรักษาทรัพยากรทางทะเลไทยอันมีค่า สำหรับกลุ่มสีทรงออกแบบด้วยแรงบันดาลพระทัยจากการทรงดำน้ำ ได้พบเห็นธรรมชาติใต้ท้องทะเลไทยที่สวยงาม อาทิ น้ำทะเลสีครามและเขียวอมฟ้า สีของหาดทรายขาวสะอาด สีสันที่สดใสของสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น ดาวทะเลและกะละปังหา ล้วนสื่อถึงระบบนิเวศของทะเลไทยที่สมบูรณ์ ควรค่าแก่การอนุรักษ์และหวงแหน ทั้งนี้ พระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานฯ เพื่อพระราชทานแก่ช่างฝีมือบาติกเป็นของขวัญแทนมิตรภาพ และความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มีต่อพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงออกแบบผ้าบาติกพระราชทาน เพื่อพระราชทานให้ช่างฝีมือบาติก ได้สร้างการรับรู้และตระหนักถึงทรัพยากรอันมีค่า ที่สำคัญยังเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยเรื่องราว และความหมายชวนประทับใจยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่สากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน สร้างงาน สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนที่ยั่งยืน ให้มีความเข้มแข็งในเศรษฐกิจฐานราก

นายสุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า การประกวดในวันนี้ถือเป็นปฐมฤกษ์เริ่มต้นจากภาคกลาง เพื่อคัดเลือก 75 ผ้าพื้นถิ่น จาก 4 ภูมิภาค เข้าตัดสินในระดับประเทศ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานการตัดสิน ในวันที่ 29 ก.ค.นี้ และนับเป็นมิ่งมงคลยิ่งที่พระองค์ได้พระราชทานแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน 3 ลาย ด้วยมีพระประสงค์ให้ประชาชนใช้เวลาว่างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีรายได้เสริม และสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อจรรโลงจิตใจในยามวิกฤติ “เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่หยดลงในทะเลทราย” และด้วยพระวิริยอุตสาหะที่เสด็จไปยังหัวเมืองทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ถึง 2 รอบ พระองค์ได้มีพระกรุณาแนะแนวทางการพัฒนายกระดับ ผลงานที่ปรากฏในวันนี้จำนวน 197 ผืน ในส่วนของภาคกลาง และ 3,215 ผืนจากทั่วประเทศ จึงเป็นดังดอกผลของความมหัศจรรย์ที่พระองค์ได้พระราชทาน เหนือล้ำไปกว่าการมุ่งหวังผลแพ้ชนะคือ การสืบสานรักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพไทย

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ตลอดทั้งเดือน มิ.ย.-ก.ค. จะดำเนินการประกวดโดยเริ่มจากระดับภาค ไปสู่ระดับประเทศ จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นจุดแรก จากนั้นไปภาคใต้ เป็นจุดที่ 2 ระหว่างวันที่ 13-14มิ.ย. ที่ จ.นครศรีธรรมราช จุดที่ 3 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 17-18 มิ.ย. ที่เชียงใหม่ และจุดที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี จะประกาศผลรอบตัดสิน 75 ผืนสุดท้าย ในวันที่ 5 ก.ค. ส่วนรอบตัดสินรางวัลจะมีขึ้นวันที่ 27-29 ก.ค. ณ ทรูไอคอนฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นขวัญและกำลังใจอย่างยิ่งกับพี่น้องวงการผ้าไทย ปลุกกระแสวงการผ้าไหมให้เกิดการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาให้ดำรงเอกลักษณ์ไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์งดงาม

...