น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์ ว่าขณะนี้โรงเรียนในหลายพื้นที่เริ่มทยอยเปิดเรียนไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. จึงขอฝาก สพท.ได้บริหารจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสังคมคาดหวังและจับตาดูว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะบริหารจัดการศึกษาได้ดีหรือไม่ และในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ จะเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 อย่างเป็นทางการแล้ว ดังนั้นโรงเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบ ได้แก่ On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) On-air เรียนผ่าน DLTV On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และ On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสารให้เกิดความยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า หากโรงเรียนไหนจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ดีอยากให้สร้างเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปปรับใช้ได้ด้วย ทั้งขอให้มีการต่อยอดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบนี้ด้วยการเสริมทักษะชีวิตของนักเรียน โดยให้นำการใช้ชีวิตประจำวันของนักเรียนมาเชื่อมโยงกับเนื้อหาการเรียน เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย การมีเจลล้างมือ เป็นต้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิตจากสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น ส่วนการวัดและประเมินผลของนักเรียนในการเรียนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับให้เหมาะสมกับการเรียนในสถานการณ์ปัจจุบัน และหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อปรับเกณฑ์การประเมินผลงานครูที่ต้องใช้ผลสัมฤทธิ์ของเด็กมาพิจารณา
...
“การจัดการศึกษาในวิกฤติโควิด-19 ยอมรับว่าโรงเรียนแต่ละแห่งมีความหลากหลายในการจัดการเรียนการสอนจึงทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ ดังนั้น ฝากให้ ผอ.สพท.ดูเรื่องการจัดการเรียนสอนให้เหมาะสมด้วย และขอให้ครูบริหารจัดการเรื่องความเครียดของเด็ก ซึ่งจะส่งผลให้การเรียนไม่ประสบความสำเร็จได้” น.ส.ตรีนุชกล่าว.