“อินทผลัม” เป็นพืชอีกชนิดที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญ แม้จะปลูกกันอย่างค่อนข้างแพร่หลาย แต่ยังติดปัญหาเรื่องที่มาของต้นพันธุ์ ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ที่สำคัญต้องเป็นต้นพันธุ์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมืองนอกเท่านั้น ด้วยเชื่อกันว่าไทยยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมเองได้ เลยต้องนำเข้าต้นพันธุ์ราคาแพงต้นละนับพันบาท
แต่จริงๆแล้วเราทำได้ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ถือเป็นแห่งแรกที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมจากหน่อข้างพันธุ์ดี
และผลงานยังได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก ในวารสารเชิงวิชาการ “วารสารพืชศาสตร์สงขลานครินทร์ ปีที่ 3 (พิเศษ 1)” และ “วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ฉบับ 47 (พิเศษ 3)” ในปี 2559...ถือเป็นการสร้างความฮือฮาในวงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันนักวิจัยได้พัฒนางานวิจัยและต่อยอด เพื่อหวังผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมให้ออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ ไม่ต้องนำเข้าปีละนับร้อยล้านบาทอีกต่อไป โดยปีนี้ทีมวิจัยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง การคัดเลือกสายพันธุ์และการขยายพันธุ์อินทผลัมเชิงพาณิชย์ พร้อมกับถ่ายทอดให้กับบริษัทเอกชน เพื่อลดการนำเข้าต้นพันธุ์จากต่างประเทศ และตั้งเป้าให้ไทยเป็นผู้ผลิตต้นพันธุ์ส่งออกในอนาคต
สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ดีเพศเมีย ต้องนำหน่อข้างหรือช่อดอกมาเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ หรือเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ เพื่อชักนำให้เกิดแคลลัส (callus) หรือเซลล์พื้นฐาน
จากนั้นจึงชักนำให้เป็นต้นอ่อนขนาดเล็ก แล้วชักนำให้เกิดราก และเลี้ยงจนได้ต้นอ่อนที่ใบและรากที่สมบูรณ์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี จึงย้ายออกจากขวดหรือหลอดทดลอง แล้วนำไปปลูกอนุบาลในโรงเรือนอนุบาลพืช อีกประมาณ 12 เดือน จึงจะนำไปปลูกในแปลงปลูกได้.
...
สะ-เล-เต