ปีนี้ แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนวันแรกเมื่อวันที่ 15 พ.ค.64 และจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5-10% แต่เอาเข้าจริง ฝนมาเร็วตั้งแต่เดือน เม.ย.64
“นายสุทัศน์ วีสกุล” ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. หน่วยงานที่รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลน้ำ รวมถึงวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ บอกว่า สสน. ได้คาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงหน้าฝนปีนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำข้อมูลไปใช้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ซึ่งจากการวิเคราะห์ และติดตามอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก (ONI) มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทรอินเดีย (DMI) ที่มีผลต่อสภาพอากาศและฝนของไทย พบว่า ปีนี้ฝนมาเร็ว และมาตั้งแต่เดือน เม.ย.64 โดยมีปริมาณฝนโดยรวมเฉลี่ย 171 มิลลิเมตร (มม.) มากกว่าค่าปกติถึง 87 มม. หรือเพิ่มขึ้น 102% โดยภาคเหนือมากกว่าค่าปกติ 114 มม. เพิ่มขึ้น 160% ภาคตะวันออกมากกว่าค่าปกติ 130 มม. เพิ่มขึ้น 135% และภาคกลาง มากกว่าค่าปกติ 94 มม. เพิ่มขึ้น 127%
...
ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสะสมเดือน เม.ย.64 สูงสุด ในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 60 โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำภาคเหนือ อยู่ที่ 344 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ภาคตะวันตก 260 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 190 ล้าน ลบ.ม. และภาคกลาง 54 ล้าน ลบ.ม.
ช่วยบรรเทาภัยแล้งในช่วงหน้าแล้งได้!! หลังจากที่เดือน ม.ค.64 ไทยต้องเผชิญกับภาวะน้ำเค็มรุกน้ำจืด และวัดค่าความเค็มได้สูงสุดในรอบ 10 ปี บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี (ปากคลองประปา) โดยค่าความเค็มอยู่ที่ 2.53 กรัม/ลิตร (ก./ล.) สูงเกินค่ามาตรฐานในการผลิตน้ำประปากว่า 5 เท่า
นอกจากนี้ สสน.ยังคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค.64 ลักษณะฝนของไทยจะคล้ายกับปี 51 คือ จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ ยกเว้นเดือน ก.ค.-ส.ค. และเดือน ธ.ค. ที่จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติเล็กน้อย ขณะที่เดือน ก.ย.จะมีปริมาณฝนตกหนัก และอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้
“ฝนในปีนี้จะคล้ายๆกับปี 51 คือ มีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยปี 64 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 180 มม. หรือเพิ่ม 12% จากค่าเฉลี่ยปกติที่ 1,467 มม. และมาเร็วตั้งแต่เดือน เม.ย. ช่วยบรรเทาภัยแล้งได้ แต่ตั้งแต่เดือน ก.ย. ถ้ามีพายุเข้าเหมือนปี 51 ก็ต้องระวังน้ำมาก และอาจเกิดน้ำท่วมในภาคอีสานตอนล่าง ภาคเหนือ และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ ส่วนเดือน พ.ย. มีโอกาสเกิดน้ำท่วมในภาคใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยด้วย”
อย่างไรก็ตาม แม้มีปริมาณฝนมากในบางเดือน แต่ในบางเดือน คือ ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. และเดือน ธ.ค. จะเกิด “ฝนทิ้งช่วง” หรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
โดยเดือน ก.ค. คาดฝนน้อยกว่าค่าปกติ 3% และเดือน ส.ค.น้อยกว่าค่าปกติ 15% โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและล่าง และภาคกลาง ส่วนเดือน ธ.ค. ฝนน้อยกว่าค่าปกติ 5% ดังนั้น เกษตรกรควรสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ฝนเริ่มตกในขณะนี้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ
ส่วนในบางพื้นที่ โดย เฉพาะภาคกลาง ที่เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวนาปรังกันแล้ว ถ้าเกิดฝนทิ้งช่วง หรือฝนตกน้อย ก็อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตข้าวได้ แต่หากยังไม่ได้เริ่มปลูก ก็อาจเลื่อนการเพาะปลูกไปเป็นเดือน ส.ค. เพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย
ขณะเดียวกัน แม้น้ำในอ่างเก็บน้ำสะสมเดือน เม.ย.64 สูงสุดในรอบ 5 ปี แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แล้ว พบว่ามีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 1,800 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น
...
ดังนั้น ชาวนาพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ที่ยังไม่ได้เพาะปลูก อาจปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่จะเพาะปลูก ที่ใช้น้ำน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตของตนเอง เพราะหากยังปลูกข้าวที่ใช้น้ำมาก ปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอ และผลผลิตอาจเสียหาย เนื่องจากชาวนาภาคกลาง ไม่มีแหล่งน้ำเป็นของ ตนเอง
“นายสุทัศน์” บอกว่า หากเกษตรกรต้องการติดตามสถานการณ์ฝน หรือสถานการณ์น้ำ เพื่อวางแผนเพาะปลูกให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามได้ที่แอปพลิเคชัน “ThaiWater” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส โดย สสน. จะให้ข้อมูลเป็นรายวัน ล่วงหน้าถึง 7 วัน หรือที่คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ www.Thaiwater.net
เมื่อมีข้อมูลคาดการณ์ที่แม่นยำ ทั้งเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะนำไปใช้วางแผนการเพาะปลูก และบริหารจัดการน้ำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบใดๆ หรือเกิดความเสียหายน้อยที่สุด!!
...
สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์