อีก 20 วันจะถึงวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รมว.ศึกษาธิการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ได้ประกาศให้เลื่อนการเปิดเทอมออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ วันที่ 17 พ.ค.2564 ขยับไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย.2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ปะทุขึ้นอีกเป็นรอบที่ 3 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ทุเลาเบาบางลงได้ ทำให้เจ้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องประกาศเลื่อนการเปิดเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 1 มิ.ย.ออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 14 มิ.ย.2564
และแม้ ศธ.จะเลื่อนการเปิดเทอมออกไประลอก 2 แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดก็ยังไม่มีท่าทีที่จะลดความรุนแรงลงแม้แต่น้อย กลับมีผู้เสียชีวิตและพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน
แน่นอนสถานการณ์วิกฤติจากอันตรายไวรัสโควิด-19 ย่อมสร้างความหวาดผวาให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มครูและผู้ปกครองที่เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูกศิษย์และบุตรหลาน ซึ่งหากเปิดเทอมแล้วจะต้องไปเรียนที่โรงเรียน
...
แต่ก็คงยากที่จะทำให้ ศธ.เลื่อนการเปิดเทอมออกไปอีกเป็นรอบที่ 3 เป็นแน่ เนื่องจากเกรงระยะเวลาการจัดการเรียนการสอนจะไม่ครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนด ทั้งไม่ต้องการให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้
“ศธ.ได้ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ผ่านมา ทำให้ต้องคิดหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน เพราะในแต่ละพื้นที่มีการแพร่ระบาดของโรคที่แตกต่างกันตามที่ ศบค.กำหนด ดังนั้น ศธ.จะไม่กำหนดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนเหมือนกันทั้งหมด โดยได้ต่อยอดรูปแบบ การจัดการเรียนการสอนเป็น 5 รูปแบบ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ คือ 1.On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) 2.On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV 3.On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ 4.On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และ 5.On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น” น.ส.ตรีนุชกล่าวกับ “ทีมข่าวการศึกษา” ถึงการเตรียม ความพร้อมจัดการเรียน การสอนของ ศธ.ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
เจ้ากระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ขยายภาพเพิ่มเติมด้วยว่า “สำหรับการจัดการเรียนการสอนแบบ On-line นั้น ขณะนี้ ศธ.เตรียมจัดทำเว็บไซต์ “ครูพร้อม” ขึ้นมาใหม่ เพื่อเสริมแพลตฟอร์มต่างๆที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรม ซึ่งมีข้อมูลทั้งของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีการจัดแบ่งหัวข้อ-หมวดหมู่ตามความสนใจ เป็นการบูรณาการเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ทั้งครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง ส่วนกิจกรรมรูปแบบ Off-line นั้น สถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ ศบค. จังหวัด ซึ่งคิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ร่วมสมัยที่ทันต่อสถานการณ์ ที่สำคัญคือ ทุกคนสามารถเลือกหัวข้อหรือกิจกรรมที่ต้องการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง...”
...
รมว.ศึกษาธิการ ยังกล่าวด้วยว่า “... สำหรับการเตรียมความพร้อมให้กับครู แต่ละหน่วยงานในสังกัดยังได้จัดหลักสูตรอบรมครูให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เน้นเรื่องการพัฒนาครู โดยครู เพื่อคุณครู ภายใต้โครงการ OBEC 2021 WEBINAR การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ยุคปกติใหม่ : มุมมองของผู้บริหาร นักวิชาการ และครู ผ่านช่องทาง OBEC CHANNEL ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สพฐ.ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มชุมชนคุณครูของ สพฐ. ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มารวมตัวกัน เพื่อช่วยพัฒนาแบ่งปันประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่คุณครูด้วยกัน ในการใช้เครื่องมือดิจิทัลร่วมกับศาสตร์การสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการชั้นเรียน เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนรู้ของผู้เรียน บนพื้นฐานความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และการเป็นพลเมืองดิจิทัล...”
“...ขณะที่ สอศ.จะดำเนินการ อบรมพัฒนาครู โดยเน้นเรื่องการ พัฒนาสมรรถนะครู ด้วยเนื้อหาที่ทันสมัย โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆมาช่วยสนับสนุนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนได้นำไปประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า โรงเรียนจะใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอนขอเน้นย้ำว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน โดย ศธ.ขอให้มั่นใจ และรับประกันว่าเมื่อเปิดเทอมแล้วเด็กทุกคนจะได้เรียนอย่างมีคุณภาพ ครบตามที่หลักสูตรกำหนดแน่นอน” เสมา 1 กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด
...
“ทีมการศึกษา” มองความพยายามในการจัดการเรียนการสอนในยุคนิวนอร์มอล ไว้ถึง 5 รูปแบบ คือความพยายามในการเตรียมความพร้อมของ ศธ. และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสาะแสวงหารูปแบบที่หลากหลายในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติในขณะนี้ แม้ ณ วันนี้จะยังไม่มีอะไรที่จะสามารถการันตีได้ว่าสิ่งต่างๆที่พูดมานี้จะถูกผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างที่พูดหรือไม่
แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ “กล้าคิด” ส่วนจะช่วยหนี “กับดัก” การพัฒนาการศึกษาช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้ได้หรือไม่ หรือจะซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้หนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น
คงต้องรอเวลาพิสูจน์ศักยภาพและฝีมือเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ “ตรีนุช เทียนทอง”.
ทีมการศึกษา