ชื่อบ้านนามเมืองทั่วไป มักมีตำนานเล่าขานให้เชื่อไปทางหนึ่ง ประสิทธิ์ ไชยชมพู เป็นหนึ่งในผู้รู้ ที่สืบค้นไปไกล จนต้องเปลี่ยนความเชื่อไปอีกทาง เขามีหลักการและเหตุผลที่ต้องสนใจฟัง

ในหนังสือภูมิบ้านนามเมือง คำใคร ไทย-มอญ-เขมร รวมเล่มพิเศษ สุจิตต์ วงษ์เทศ คำนำเสนอ ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการ (สำนักพิมพ์มิตรสุวัณภูมิ 2564) ประสิทธิ์ ติดตามสืบค้นไขรหัสคำ“โกรกกราก” คำเดียว เขียนเป็นความยาวถึง 11 หน้ากระดาษ

ภูมิสถาน วัดโกรกกราก ต.โกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เคยปรากฏบนบิลบอร์ดขนาดยักษ์ริมถนนสายหลักเข้า-ออกกรุงเทพฯและปริมณฑล โยงไปถึงชื่อวัดโกรกพระ ต.โกรกพระ อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ และอีกหลายๆโกรก ในหลายๆจังหวัด

ตามศัพท์โกรก คำเดียวกับโตรก คือช่องลึกของเขา

เมื่อไปถึงวัดโกรกกราก พระในวัดเล่าว่า เสียงลากเรือดังโซะซะ โซกซาก กลายเป็นเสียงโกรกกราก แต่เว็บไซต์ของวัดเล่าว่า ชุมชนคนจีนถิ่นนี้เป็นถิ่นอั้งยี่ หัวหน้าก๊กเรียกเจ๊กกั๊ก เล่ากันว่าเจ๊กกั๊กสร้างวัดนี้ เป็นที่มาของชื่อ

ประสิทธิ์ ไม่ฟันธง ก๊ก(เจ๊ก)กั๊ก เป็นต้นศัพท์เรียกวัดโกรกกราก จึงค้นประวัติ วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2375 ผูกโยงไปถึงการที่วัดได้พระประธานศิลาแลง

ครั้งนั้น ชาวรามัญบ้านกำพร้า ไปอัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ องค์หนึ่งเนื้อสำริด องค์หนึ่งเนื้อศิลา พอเรือมาถึงหน้าวัดโกรกกรากเกิดลมพายุฝนตกหนัก ต้องจอดเรือริมคลองข้างวัด ยกพระขึ้นฝั่งหลบฝน

เมื่อพายุหาย จะยกพระลงเรือ ยกไม่ขึ้น ชาวรามัญอธิษฐาน ถ้าพระอยากอยู่ที่วัดนี้ ก็ยกพระขึ้นไปไว้ในโบสถ์ได้ง่ายๆ

ประสิทธิ์ค้นที่มาของชาวมอญบ้านกำพร้า อพยพมาจากบ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง กว่าสองร้อยปีที่แล้ว ชื่อบ้านกะมา-วัก มีประวัติว่า ชาวมอญกำลังขุดบ่อเก็บน้ำจืด กลัวทหารพม่าจะมาเกณฑ์ไปเป็นทหาร ก็หนี

...

ทิ้งบ่อให้ขุดค้างไว้แค่นั้น คำมอญ กะมา-บ่อ อะวัก หรือ วัก-ครึ่ง

ศัพท์เขมร โกรก แปลว่าลุก ตื่น ชื่อสื่อมวลชนกัมพูชา หนังสือพิมพ์แขร์โกรก หมายว่าปลุกชาวเขมรให้ตื่น

กราก คำอุทาน เสียงดังโดยฟั่นอะไรๆ หรือเสียงเกิดจากน้ำ เช่นน้ำเชี่ยวกราก

คำมอญเขมร เกือบพ้องเสียงและมีคำแปลคล้ายกัน ประสิทธิ์ ยกเนื้อเพลงเด็กปั๊ม ตอนหนึ่ง...“ค่าแรงนั้นมันสำคัญจริงเอย แตรรถบีบก็รีบลุกโกรกกราก เป็นความลำบากที่ข้อยต้องเจอ”

ตรงกับศัพท์โคราช โกรกกราก แปลว่าปุบปับ รวดเร็วทันใจ

โยงมาถึงขั้นนี้ ประสิทธิ์ ออกตัวว่า ก๊ะมากวั๊ก หรือ กะมาวัก แผลงเป็นโกรกกรากได้ยาก แต่ก็อาจเป็นได้

ย้อนไปถึงชื่อ “วัดโกรกพระเหนือ” วัดนี้มีเรื่องเล่า การอัญเชิญพระพุทธรูปลงแพล่องน้ำมา เจอน้ำเชี่ยวกรากแพแตก พระพุทธรูปจมน้ำ ชาวบ้านต้องหาวิธีนำพระขึ้น วิธีหนึ่งคือจุดธูปเทียนบนแพหาทิศที่พระจม แต่ไม่เจอ

เหตุสำคัญ พระพุทธรูปตกน้ำ จึงทำพิธีโกรกพระ ชื่อบ้าน ตำบล อำเภอ โกรกพระ ได้มาจากเรื่องนี้

ประสิทธ์ิ ไชยชมพู สันนิษฐาน ตอนที่ชาวรามัญบ้านกำพร้า อธิษฐานถาม เพื่ออัญเชิญพระพุทธรูปศิลาขึ้นวัด พระจึงแสดงอภินิหารให้ยกขึ้น

ชื่อวัดโกรกกรากสมุทรสาครถูกเรียกขานกันมา ทำนองเดียวกับชื่อวัดโกรกพระ ที่นครสวรรค์

อ่านจบแล้ว ก็ขอชื่นชมความเพียรพยายาม นี่คือภูมิปัญญาการค้นหาชื่อบ้านนามเมืองเมืองเดิมๆ ที่ซ่อนความจริงเอาไว้ อ่านได้แล้วได้ปัญหามากกว่าฟังตำนานเหมือนนิทาน ที่เอาสนุกได้ แต่ความจริงแค่ไหน เป็นอีกเรื่อง

ชื่อโกรกกรากตามพจนานุกรมไทย คำแรก เป็นชื่อเครื่องมือสำหรับไชไม้ (โบราณ) คำสอง เป็นชื่อ กระบอกไม้ไผ่มีหลักปักอยู่กลางเติ่งสำหรับทอดดวด ผมเองเท่าที่รู้ ก็มีอยู่แค่นี้ล่ะครับ.

กิเลน ประลองเชิง