จากการเสวนาออนไลน์เรื่อง เปิดเทอมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม : สอนอย่างไร เรียนแค่ไหน เมื่อออนไลน์ไปไม่ถึง จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับวุฒิสมาชิก นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา กล่าวว่า กรรมาธิการทำวิจัยผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการศึกษา พบว่า รอบที่ 3 สาหัสมาก จึงมีข้อเสนอให้จัดการศึกษาตามสภาพจริง โดยพื้นที่ที่ไม่มีการระบาด ควรจัดการเรียนเต็มหลักสูตรเต็มเวลา และยึดมาตรการกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยสถานศึกษาควรจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนและส่งให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อสนับสนุนงบประมาณและมาตรการช่วยเหลือ ที่สำคัญคือควรมีนวัตกรรมการเรียนการสอน โดยถอดบทเรียนชุดความรู้ที่มีส่วนร่วมจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า จากการสำรวจสภาพความพร้อมเรียนรู้ที่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในปี 2564 พบความแตกต่างระหว่างนักเรียนในครอบครัวฐานะดีร้อยละ 20 อันดับแรก สามารถเข้าถึงโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ในพื้นที่เรียนรู้แบบส่วนตัว มากถึงร้อยละ 90 ในขณะที่นักเรียนในครอบครัวยากลำบากที่สุดร้อยละ 20 ลำดับล่าง โอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีมีเพียงร้อยละ 10

นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยด้านการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจัดการศึกษามีความเหลื่อมล้ำคือเรื่อง เวลา เนื่องจากโรงเรียนเปิดเรียนไม่ได้ตามกำหนด การจัดการเรียนการสอนทำตามปกติไม่ได้ ทำให้บางโรงต้องลดเวลาเรียน ค่าเฉลี่ยของปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องลดเวลาเรียนจาก 200 วัน เหลือราว 180 วัน หายไปร้อยละ 10 สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะเปิดเทอมใหม่ มาตรการระยะสั้นคือต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เร็วที่สุด ก่อนเปิดเรียน เริ่มในพื้นที่สีแดงเข้มก่อน โดยต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องผลข้างเคียงของ มีการประเมินความเสี่ยงก่อนรับวัคซีน และต้องมีมาตรการชดเชยกรณีที่เกิดการแพ้วัคซีนร่วมด้วย เชื่อว่าถ้ามาตรการเหล่านี้สื่อสารไปถึงทุกโรงเรียนได้ชัดเจน ก็จะทำให้ครูมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น.

...