การประมูลยางลอตใหญ่ล่าสุด 104,763.35 ตัน แม้ยังมิอาจเปิดเผยตัวเลขการประมูลได้ เพราะอาจกระทบต่อเสถียรภาพราคายาง ...แต่ได้กลายเป็นประเด็นดราม่า ต่างๆนาๆ

โดยเฉพาะข้อสงสัย เหตุใดต้องเร่งรีบดำเนินการประมูล ที่สำคัญมีการล็อกสเปกเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะมีผู้ยื่นประมูลแค่รายเดียว

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไขข้อครหา...อันดับแรกต้องเข้าใจก่อน ยางลอตนี้เป็นยางเก่าเสื่อมสภาพ อายุเก็บ 9 ปี กยท. ต้องดูแลสต๊อกยางลอตนี้ ต้องจ่ายเงินค่าประกันภัยยางพารา และสัญญาเช่าโกดังรวมกันเป็นเงินกว่า 3,822 ล้านบาท

ส่งผลให้ ครม.มีมติเมื่อ 3 พ.ย.2563 ให้ กยท.ระบายสต๊อกยางลอตนี้ โดยคำนึงถึงระยะเวลาและระดับราคาจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อลดภาระงบประมาณ และรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ

กระทั่งคณะกรรมการ กยท. มีมติเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ให้ กยท.ดำเนินการระบายสต๊อกยางในช่วง เม.ย.-พ.ค.2564 เพราะตรงกับฤดูปิดกรีด ปริมาณผลผลิตช่วงนี้ไม่มาก การระบายยางห้วงเวลานี้ จึงกระทบต่อตลาดน้อยหรือแทบไม่มีผลกระทบเลย

ที่สำคัญอายุประกันภัยยางพารา และสัญญาการเช่าโกดังยางลอตนี้ จะครบกำหนดในวันที่ 31 พ.ค.ที่จะถึงนี้ หากยังไม่ระบายออก รัฐต้องแบกค่าใช้จ่ายต่อไปอีก

ฉะนั้น กยท. จึงกำหนดข้อตกลงเพิ่มเติม หรือเงื่อนไขพิเศษให้บริษัทผู้ชนะการประมูล ต้องดำเนินการชำระเงินทั้งหมดให้แก่ กยท. ภายในวันที่ 28 พ.ค. และดำเนินการรับมอบยางให้แล้วเสร็จภายใน 31 พ.ค. หากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนด ผู้ชนะการประมูลต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเองทั้งหมด

และข้อกำหนดอีกประการ...บริษัทผู้ประมูลยางได้ต้องซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูล

...

ขณะที่หลักเกณฑ์ต่างๆของผู้เข้าร่วมประมูล ยังคงเหมือนกับการประมูลยางครั้งก่อนๆ เช่น มีศักยภาพการผลิตและความเข้มแข็งด้านการเงินที่เหมาะสม ฯลฯ ด้วยคุณสมบัติตามประกาศเบื้องต้น ทำให้มีบริษัทที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ 6 ราย

แต่สุดท้ายมีแค่บริษัทเดียวเท่านั้นที่เข้ายื่นประมูล อีกทั้งยังเสนอซื้อยางในราคาที่สูงกว่าที่ กยท.กำหนด นั่นอาจเป็นเพราะอีก 5 บริษัท อาจประเมินตัวเองแล้ว ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขพิเศษที่กำหนดเพิ่มเติมได้.

สะ–เล–เต