ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้เด็กต้องหยุดเรียน โดยปี 2563 เด็กไทยหยุดเรียนไปนานกว่า 90 วัน ส่วนปี 2564 เลื่อนเปิดภาคเรียนไม่น้อยกว่า 10 วันและอาจมีเหตุการณ์ปิดเรียนอีก หากเรายังควบคุมการระบาดไม่ได้ ที่ผ่านมาจากการติดตามภาวะวิกฤติของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของ กสศ. พบภาวะวิกฤติที่เป็นปัญหา 4 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องแรกภาวะเครียดเงียบ เนื่องจากเด็กเป็นห่วงโซ่สุดท้ายในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึมซับปัญหาของครอบครัวที่พ่อแม่ตกงาน ไม่มีเงิน ทะเลาะกัน ใช้ชีวิตยากลำบาก แต่เด็กไม่สามารถระบายออกมาได้ ส่งผลให้เด็กเก็บตัว ไม่ร่าเริง สายตาเศร้าสร้อย สะสมความเครียดในตัวเอง ระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต และวุฒิภาวะทางอารมณ์ เรื่องที่สอง ภาวะการเรียนรู้ถดถอย
โดยพบว่ายิ่งหยุดเรียนยาวนาน เด็กจะเกิดภาวะถดถอยการเรียนรู้ทุกวิชา เรื่องที่สาม ภาวะทุพโภชนาการพบว่าเด็กยากจนพิเศษ ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ก่อนเกิดโรคระบาดมากถึงร้อยละ 40-45 จึงตั้งความหวังอาหารกลางวันที่โรงเรียน เมื่อโรงเรียนปิดยาว เด็กจะยิ่งขาดสารอาหารมากขึ้น เรื่องที่สี่ ภาวะหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่างช่วงชั้น เช่น ปฐมวัยต่อ ป.1, ป.6 ต่อ ม.1 และ ม.3 ต่อ ม.4 เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กยากจนพิเศษที่ครอบครัวตกงาน ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เรียนต่อและต้องทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว
“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤติก่อนเปิดเทอม ผมได้เข้าพบและนำเสนอปัญหาดังกล่าวต่อ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งก็รับฟังปัญหา และตอบรับทันทีเรื่องการจะเข้าไปแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบช่วงรอยต่อ ส่วนเรื่องอื่นๆ รมว.ศธ. ก็รับไว้ ส่วนตัวผมเห็นว่า 7 นโยบายเร่งด่วนของ รมว.ศธ. เป็นเรื่องที่ดี และต้องยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผมได้เสนอว่าเมื่อประกาศนโยบายแล้ว ขอให้ รมว.ศธ.ส่งข้าราชการใน ศธ.ส่วนกลางทุกกรมกองลงพื้นที่ติดตามดูว่านโยบายทุกเรื่องได้ผล หรือติดขัดอะไร เพื่อที่ส่วนกลางจะได้แก้ไข และต้องให้ 7 วาระเร่งด่วนนี้ส่งผลประโยชน์ถึงตัวเด็กอย่างแท้จริง
...
ทั้งเสนอให้ รมว.ศธ.หารือกับเด็กกลุ่มต่างๆ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวและว่า อยากให้ รมว.ศธ.ลงพื้นที่รับฟังความเห็น เดินออกมาจากกระทรวงมาต่อสู้กับปัญหา ต้องเป็นผู้หญิงแกร่งเป็นผู้นำการศึกษา สร้างศรัทธาให้สังคมเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการเอาจริงกับการขับเคลื่อนการศึกษาชาติ.