ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย พุ่งกระฉูดหยุดไม่อยู่ ติดอันดับ 91 โลก แซงหน้าคีร์กีซสถานเป็นรองแค่นอร์เวย์แล้ว หลัง ศบค.ระบุพบเพิ่มอีก 2,302 คน ยังไม่รวมยอดจากเรือนจำ 2 วัน อีกกว่า 2.3 พันคน แต่ยอดสะสมทะลุไปแสนกว่าคน ตายเพิ่มอีก 24 ศพจากทั่วประเทศ โดย กทม.ยังแชมป์ยอดตายพุ่งสูง พร้อมสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างย่านหลักสี่ คุมเข้มบริษัทห้ามเคลื่อนย้ายคน ส่วนยอดจองวัคซีนป้องกันโควิดทั่วประเทศเขยิบอยู่ที่กว่า 6 ล้านคน ยอดฉีดวัคซีนกว่า 2.5 ล้านโดส ภูเก็ตยืนหนึ่งฉีดได้เยอะสุด ขณะที่ สปสช.ยันรัฐมีนโยบายเยียวยาผู้มีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน เพื่อให้มั่นใจคนไทยทุกคนต้องได้รับการดูแล

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเฉพาะระลอกสาม ที่เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ยังน่าเป็นห่วง เมื่อยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศพุ่งเกินสองพันคนต่อวันต่อเนื่อง และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน

ไทยติดโควิดสะสมทะลุแสน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่16 พ.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,302 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,279 คน มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,692 คน จากการคัดกรองเชิงรุก 587คน อยู่ในเรือนจำ 0 คน แต่ในที่ประชุม ศบป.ศบค.มีรายงานว่า เพิ่งพบการติดเชื้อในเรือนจำ 1,219คน โดยจะนำยอดดังกล่าวมารวมในตัวเลขของวันที่ 17 พ.ค.2564 และเดินทางมาจากต่างประเทศ 23คนทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 101,447 คน ผู้ป่วยหายเพิ่ม 2,136 คน ยอดผู้หายป่วยสะสม 65,803 คน อยู่ระหว่างรักษา 35,055 คน

...

ตายเพิ่ม 24 ศพ กระจายทั่ว ปท.

สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิต พญ.อภิสมัยระบุว่าเพิ่มอีก 24 คน เป็นชาย 13 คน หญิง 11 คนอยู่ใน กทม. 8 คน ชลบุรี ปทุมธานี กาญจนบุรี จังหวัดละ 2 คน เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ราชบุรี สมุทรปราการขอนแก่น นครสวรรค์ พิจิตร ระยอง นครนายก พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 คน ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง และเบาหวาน โดยปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิดสมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อ โดยขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย จำนวน 589 คน สำหรับสถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 163,165,592 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 3,383,231คน

ยอดติดเชื้อไทยเขยิบสู่อันดับ 91

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับยอดผู้ติดเชื้อในไทยที่วันนี้พบเพิ่มอีก 2,302 คนนั้น ยังไม่รวมยอดผู้ติดเชื้อจากกรมราชทัณฑ์ ที่ระบุไว้เมื่อวันที่ 15พ.ค.ที่ผ่านมาอีก 1,219 คน ทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทย ที่ ศบค.ระบุตั้งแต่มีการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ 101,447 คน แซงประเทศคีร์กีซสถาน ขึ้นไปอยู่อันดับ 91 ของโลก ต่อจากนอร์เวย์ที่อยู่อันดับ 90 ด้วยยอดผู้ติดเชื้อสะสม ณ วันที่ 16 พ.ค.2564อยู่ที่ 119,052 คน เสียชีวิตสะสม 774 คน

กทม.ยังแชมป์ติดเชื้อ

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า สำหรับ 5 จังหวัดแรกที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดของวันที่ 16 พ.ค. ได้แก่ กทม.1,218 คน ปทุมธานี 243 คน สมุทรปราการ 117 คน นนทบุรี 103 คน ประจวบคีรีขันธ์ 66 คน ขณะที่วันเดียวกันมี 19 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อ กทม.และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อรวมกัน1,744 คน ส่วนจังหวัดอื่นๆรวมกัน 535 คน

ปิดวอร์ดผู้ป่วย รพ.บ้านโป่ง

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ในที่ประชุม ศบค.หารือถึงคลัสเตอร์ที่มีการติดเชื้อในโรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบเป็นหญิง อายุ 31 ปี เป็นญาติของผู้ป่วยที่เข้าไปเฝ้าแม่ในวอร์ดของผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง ตั้งแต่วันที่ 23-28 เม.ย.ตรวจพบเชื้อในวันที่ 30 เม.ย. ทำให้ผู้ป่วยรายอื่น เจ้าหน้าที่และญาติเจ้าหน้าที่ติดเชื้อรวมกันแล้ว 30 คน กรมควบคุมโรคเข้าไปวิเคราะห์สาเหตุพบว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีญาติมาเฝ้าผู้ป่วยทุกเตียง และญาติรับประทานอาหารร่วมกันที่ระเบียงหอพักผู้ป่วย การถ่ายเทอากาศไม่เพียงพอ จึงเสนอมาตรการปิดวอร์ดถึงวันที่ 24 พ.ค. และให้มีการทบทวนเรื่องการคัดแยกผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยทางเดินหายใจออกจากผู้ป่วยอื่น

ปิดแคมป์คนงานหลักสี่

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กทม.ได้รายงานว่า ขณะนี้มีคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวัง 27 คลัสเตอร์ กระจายตัวใน 17 เขต สามารถควบคุมได้แล้ว 7 คลัสเตอร์ และมีที่น่าเป็นห่วง 5 คลัสเตอร์สำคัญที่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันคือ แคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ แคมป์คนงานก่อสร้างเขตวัฒนา แฟลตดินแดง คลองถมวงเวียน 22 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และตลาดห้วยขวาง เขตดินแดง โดยแคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. มีการตรวจเชื้อเชิงรุก 559 คน ติดเชื้อ 482 คน หรือร้อยละ 86.22 ทำให้มีการปิดแคมป์คนงานดังกล่าวไปแล้ว และให้บริษัทเจ้าของแคมป์ตรวจแคมป์คนงานอื่นๆ ในเครือทั้งหมด

คุม บ.ก่อสร้างห้ามโยกคนงาน

ทั้งนี้จากการสอบสวนโรคพบว่า ความเป็นอยู่ในแคมป์ค่อนข้างหนาแน่น มีการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน พฤติกรรมคนงานยังเดินทางไปในตลาด ชุมชน พื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงเดินทางข้ามพื้นที่ ที่ประชุมจึงกำหนดมาตรการที่จะประกาศให้บริษัทเหล่านี้รับทราบว่าให้มีการจัดที่พักอาศัยไม่ให้มีความหนาแน่น ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง คัดกรองคนงานหากมีอาการให้หยุดปฏิบัติงานและส่งตรวจ ในส่วนของการเดินทางนั้นให้ดำเนินการแบบบับเบิลแอนด์ซีล ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่หากจำเป็นให้ขออนุญาตเข้ามา หลังจากนี้กรมควบคุมโรคจะเข้าไปตรวจสอบ และเมื่อสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานแล้ว จะจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าไปช่วยเหลือ โดยคนงานต่างด้าวจะมีล่ามเข้าไปช่วยสื่อสาร หากพบเป็นผู้ป่วยจะให้อยู่ใน รพ.สนามศูนย์ห่วงใยคนสาคร วัฒนาแฟคตอรี่ และศูนย์ห่วงใยคนสาคร บริษัท วิท วอเตอร์ ซิสเต็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด รวมถึงจะพิจารณาฉีดวัคซีนให้สอดคล้องกันไป

...

ย้ำอยู่นอกบ้านต้องสวมหน้ากาก

พญ.อภิสมัยยังกล่าวถึงกระแสข่าว ศบค.ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องการสวมหน้ากากออกนอกเคหสถานว่าไม่มีแน่นอน ขณะนี้ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยนอกเคหสถานตลอดเวลา แต่ระหว่างนี้จะมีการประชุมทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เราสนับสนุนการประชุมออนไลน์ แต่กรณีที่มีความจำเป็นยังต้องยึดข้อกำหนดสวมหน้ากากอยู่ แต่ให้ผ่อนผันการสวมหน้ากากได้โดยผู้ควบคุมการประชุม เฉพาะเวลาการอภิปรายเท่านั้น บุคคลอื่นยังคงต้องสวมหน้ากาก หากมีการทำผิดข้อกำหนดครั้งแรกจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตักเตือน หากผิดซ้ำสองจะบังคับใช้กฎหมาย

รพ.บุษราคัมรับผู้ป่วยแล้ว 112 คน

ต่อมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รพ.บุษราคัม ทยอยรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเหลืองอาการปานกลางถึงหนักเข้ารักษาต่อเนื่อง โดย ณ เวลา 11.00 น. มีผู้ติดเชื้อเข้ารักษาใน รพ.แล้ว 112 คน ในจำนวนนี้พบผู้ป่วยปอดติดเชื้อ 29 คน ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ 47 คน ส่งต่อเข้ารักษาที่ รพ.หลัก 4 คน การรับผู้ป่วยเข้ารักษามาจากการประสานงานผ่านสายด่วนต่างๆ หากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสามารถขยายพื้นที่ได้อีก 2 อาคาร รองรับผู้ป่วยได้ถึงประมาณ 5,000 เตียง ขอให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบอย่ากังวลว่าจะมีเชื้อปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบวิศวกรรมไว้แล้ว ทั้งระบบฆ่าเชื้อโรคในบ่อบำบัดน้ำเสีย มีเครื่องฆ่าเชื้อโรคในอากาศด้วยแสงยูวี ป้องกันผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ

...

ทุ่ม 100 ล้านเยียวยาแพ้วัคซีน

วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วและเป็นวงกว้างมากที่สุด รวมทั้งมีนโยบายจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน ล่าสุดคณะกรรมการ สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) กรณีการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีนได้เตรียมงบประมาณไว้ 100.32 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.2564 เป็นต้นไป

เชียงใหม่-อุบลฯ ขอเยียวยา

นพ.จเด็จกล่าวว่า หลังจากเริ่มระดมฉีดวัคซีนไปแล้วระยะหนึ่ง ขณะนี้มี 2 เขตที่เสนอข้อมูลการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน คือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ 218 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี อีก 49 ราย ส่วนเขตอื่นๆ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ในส่วนของ สปสช.เขต 1 ซึ่งขอเยียวยา 218 รายนั้น ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ฉีดไปแล้วทั้งหมด 91,551 เข็ม คิดเป็นร้อยละ 0.24 กลุ่มที่มีอาการรุนแรงมีแค่ร้อยละ 0.05 เท่านั้น คำว่ามีอาการรุนแรงนี้ ไม่ใช่อาการรุนแรงน่ากลัวแบบเลือดตกยางออกหรือมีผลจนอาจเสียชีวิต เป็นเพียงวิธีการนับของเขต 1 ว่าผู้ที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล นับเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จาก 218 รายนี้ กว่าครึ่งมีอาการเล็กน้อย เช่น เป็นไข้นิดๆหน่อยๆปวดเมื่อยตามตัว ส่วนที่กลุ่มที่มีอาการรุนแรงคือไข้สูงจนต้องนอนพักโรงพยาบาล ส่วนอาการรุนแรงที่สุดที่พบคือมีอาการชาเท่านั้น จากข้อมูลนี้สะท้อนว่าการรับวัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัย เพียงแต่การที่สปสช.กำหนดวิธีการเยียวยาเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าหากมีอาการไม่พึงประสงค์จะได้รับการดูแล ฝากถึงประชาชนว่าให้รีบมาฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เมื่อมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วจะหยุดการระบาดของโรค

...

ยังไม่พบเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน

ด้าน พญ.สุชาดา เจียมศิริ รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังฉีดวัคซีนหรือแพ้วัคซีน เช่น หอบหืด ผื่นขึ้น หน้าบวม เป็นผื่นเฉพาะที่ หมดสติ ช็อก อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้และไม่มีผลในระยะยาว และโอกาสที่จะเกิดการแพ้รุนแรงมีน้อยมาก ส่วนกรณีของวัคซีนโควิดขณะนี้ฉีดเข็มแรกไป 1.46 ล้านโดสแล้ว ไม่มีใครที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนคนที่มีอาการแพ้ ขณะนี้อาการดีขึ้นหมดแล้ว

กทม.จองฉีดกว่า 7 แสนคน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.เฟซบุ๊กหมอพร้อม เปิดเผยข้อมูลการจองคิวฉีดวัดซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนใน 2 กลุ่มเป้าหมายแรก เฟซบุ๊กหมอพร้อม ระบุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ผ่านแพลตฟอร์มหมอพร้อม ทั้งไลน์บัญชีทางการและแอปพลิเคชัน ระบุข้อมูลวันที่ 16 พ.ค. เวลา 14.00 น.มีการจองคิวสะสม 6,066,850 คน แยกเป็นกรุงเทพมหานคร 700,671 คน และต่างจังหวัด 5,366,179 คน นอกจากนี้ เฟซบุ๊กหมอพร้อมยังระบุว่า “ในเดือน มิ.ย. มีผู้จองคิววัคซีนเต็มจำนวนที่ได้รับการจัดสรรแล้ว กรุณาจองคิวในเดือน ก.ค. เป็นต้นไป”

ภูเก็ตยืนหนึ่งฉีดวัคซีนมากสุด

ส่วนจำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่มีการฉีดไปแล้ว เฟซบุ๊กหมอพร้อม ระบุจนถึงวันที่ 15 พ.ค.เวลา 18.00 น.มียอดรวมทั้งหมด 2,524,464 โดส แยกเป็นซิโนแวค 2,409,184 โดส และแอสตราเซเนกา 115,280 โดส จังหวัดที่มีร้อยละความครอบคลุม การฉีดสูงสุดเทียบประชากรรายจังหวัด 10 จังหวัดแรกมีดังนี้ ภูเก็ต เข็มที่ 1 ร้อยละ 25.60 เข็มที่ 2 ร้อยละ 23.48 สมุทรสาคร เข็มที่ 1 ร้อยละ 22.65 เข็มที่ 2 ร้อยละ 15.98 ระนอง เข็มที่ 1 ร้อยละ 8.63 เข็มที่ 2 ร้อยละ 4.97 ตาก เข็มที่ 1 ร้อยละ 8.62 เข็มที่ 2 ร้อยละ 6.64 กรุงเทพฯ เข็มที่ 1 ร้อยละ 7.03 เข็มที่ 2 ร้อยละ 2.45 นนทบุรี เข็มที่ 1 ร้อยละ 4.17 เข็มที่ 2 ร้อยละ 1.91 สุราษฎร์ธานี เข็มที่ 1 ร้อยละ 3.61 เข็มที่ 2 ร้อยละ 2.83 พังงา เข็มที่ 1 ร้อยละ 2.86 เข็มที่ 2 ร้อยละ 2.48 สมุทรสงคราม เข็มที่ 1 ร้อยละ 2.85 เข็มที่ 2 ร้อยละ 1.93 และชลบุรี เข็มที่ 1 ร้อยละ 2.71 เข็มที่ 2 ร้อยละ 1.93 ส่วนจำนวนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง มี 14 ราย เป็นการแพ้รุนแรง 13 ราย ชา 1 ราย ทุกรายอาการหายเป็นปกติ และไม่พบผู้เสียชีวิต

เร่งฉีดวัคซีนคนขับรถสาธารณะ

สำหรับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 ใน กทม.ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณชั้น 3 sky Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวหลังตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนว่ากลุ่มผู้เข้ารับการบริการฉีดวัคซีนในวันที่ 16 พ.ค.นี้ เป็นกลุ่มคนขับรถขนส่งสาธารณะ ขสมก. กรมขนส่งทางบก และต่อไปจะให้บริการวัคซีนบุคลากรส่วนหน้า ผู้ที่ขับรถยนต์สาธารณะ พนักงานเก็บค่าโดยสารสาธารณะ จากบริษัทขนส่งต่างๆ มีประมาณ 7,000 คน รวมถึงจะฉีดวัคซีนให้กับพนักงานเก็บขน พนักงานกวาด จากสำนักงานเขต คนขับแท็กซี่ วินจักรยานยนต์พนักงานขนส่งอาหารต่างๆ ผู้มีอาชีพดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ เป้าหมายต่อไปคือบุคลากรครู ไม่ใช่เฉพาะครูในสังกัด กทม.เท่านั้นแต่เป็นบุคลากรครูในกรุงเทพฯ ทั้งหมดจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีประมาณ 170,000 คน ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีน ส่วนกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่นๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนในลำดับถัดมา ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร กทม.จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับ

ช็อกโควิดคร่าผู้หมวดดัง

นอกจากนี้ มีรายงานว่า บช.น.ส่งรายงานด่วน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตจากโควิด-19 อีก 1 นาย คือ ร.ต.ท.ปราโมทย์ ทัศนีย์ไตรเทพ รองสว.กก.ดส.บช.น. อายุ 56 ปี หลังเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.วิภาราม ย่านสวนหลวง กทม. เมื่อเช้าวันที่ 14 พ.ค.และนำศพไปเผาในบ่ายวันเดียวกันที่วัดปากบ่อ จ.สมุทรปราการ หลังเข้ารักษาตัวตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับ ร.ต.ท.ปราโมทย์ หรือหมวดโมทย์ หรือหมวดเบื๊อก เป็นที่รู้จักในแวดวงสื่อมวลชนและวงการตำรวจ เพราะก่อนหน้ารับราชการตำรวจ เป็นนักข่าวสถานีวิทยุไอเอ็นเอ็น ประจำกองปราบฯ มาก่อน ทำ ให้สนิทสนมกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย ทั้งนี้ ร.ต.ท.ปราโมทย์ยังมีจิตอาสาชอบช่วยเหลือทำบุญอยู่เสมอ มักซื้ออุปกรณ์การเรียนให้นักเรียนโรงเรียนวัดปราโมทย์ บ้านปราโมทย์ ต.ปราโมทย์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม รวมถึงมีการประสานเอาปูนที่เหลือจากการก่อสร้างคอมเพล็กไซต์งานข้างแฟลตเฉลิมลาภ แฟลตตำรวจที่เขาพัก มาเทเป็นลานปูนคอนกรีตอเนกประสงค์ จอดรถได้นับร้อยคัน แก้ปัญหาที่จอดรถในแฟลตตำรวจที่ไม่เพียงพอ ไม่ต้องใช้เงินหลวงสักบาท และใช้เงินส่วนตัวซื้อโต๊ะม้าหินหลายตัวมาวางเป็นที่สันทนาการให้ครอบครัวตำรวจในแฟลตด้วย

ผบ.ตร.สั่งดูแลครอบครัว

วันเดียวกัน พ.ต.อ.หญิงศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ รองโฆษก ตร. เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวข้าราชการตำรวจเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อีก 1 นาย คือ ร.ต.ท.ปราโมทย์ ทัศนีย์ไตรเทพ รองสารวัตรกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวิภาราม และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 64 ร.ต.ท.ปราโมทย์ ทัศนีย์ไตรเทพ เป็นข้าราชการตำรวจที่มีความทุ่มเท และมีจิตใจที่ช่วยเหลือสังคม จนเป็นที่ยอมรับของสังคมในด้านของงานมวลชนสัมพันธ์ และงานจิตอาสาอีกทั้งมีความชำนาญในเรื่องของงานด้านสื่อมวลชนอีกด้วย จากกรณีการสูญเสียข้าราชการตำรวจนายดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของข้าราชการตำรวจผู้เสียชีวิต สั่งการให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือครอบครัวอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของสวัสดิการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ครอบครัวข้าราชการตำรวจต่อไป

“ราชทัณฑ์” แจงผลสอบโควิด “รุ้ง”

ด้านกรมราชทัณฑ์ แถลงชี้แจงกรณี น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า บิดาและมารดาติดเชื้อโควิด-19 จากตนที่ได้รับเชื้อมาจากในเรือนจำ ว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จริงในหลายเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์ยังคงดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้กำหนดไว้ ในกรณี น.ส.ปนัสยา กรมราชทัณฑ์ขอเรียนชี้แจง ดังนี้ กรมราชทัณฑ์ได้รับตัว น.ส.ปนัสยา เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ควบคุมในห้องกักโรคของแดนแรกรับ และได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยการ SWAB ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ผลไม่พบการติดเชื้อ ตรวจหาเชื้อครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ผลไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน จนกระทั่งวันที่ 26 เม.ย.อนุญาตให้ น.ส.ปนัสยาลงจากห้องกักโรค (บนอาคารเรือนนอน) ลงมาอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นภายในแดนแรกรับ จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 พ.ค. ทั้งนี้ แดนแรกรับ เป็นแดนที่ น.ส.ปนัสยาถูกควบคุมตัวอยู่ มีผู้ต้องขังประมาณ 1,500 คน ได้ตรวจคัดกรองผู้ต้องขัง 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.หลัง น.ส.ปนัสยาถูกปล่อยตัวไป ไม่พบผู้ต้องขังแดนนี้ติดเชื้อ รวมถึงผู้ต้องขังที่นอนห้องเดียวกันและใช้ชีวิตใกล้ชิดกับ น.ส.ปนัสยา ตั้งแต่พ้นจากห้องกักโรค 4 คน ตรวจไม่พบติดเชื้อเช่นกัน สำหรับอีกแดนคือแดนผู้ต้องขังเด็ดขาดที่เกิดการระบาดของโรคมีผู้ต้องขังประมาณ 2,900 คน ตรวจคัดกรองผู้ต้องขังทั้งหมด พบผู้ต้องขังติดเชื้อในแดนนี้ 1,039 คน และได้ย้ายผู้ติดเชื้อไปรักษาที่ รพ.สนามของ รพ.ราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ขอสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่ากรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีนโยบายหรือสั่งการให้ปิดบังข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานแต่อย่างใด

เรือนจำพิเศษธนฯ ติดเชื้อเพิ่มหลักพัน

ต่อมาเวลา 16.00 น. กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำและทัณฑสถานพื้นที่เสี่ยง (เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร) พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,104 คน ในเรือนจำพิเศษธนบุรี ทั้งหมดที่ตรวจพบเพิ่มเป็นผู้ต้องขังที่ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และได้รักษาด้วยการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อต้านไวรัสเป็นที่เรียบร้อย พร้อมเร่งตรวจเชื้อซ้ำในกลุ่มที่ยังไม่พบเชื้อเพื่อยืนยันผล ด้วยวิธี RT-PCR เพื่อแยกกลุ่มที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกันอย่างทันท่วงที พร้อมเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งจากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ และจากผู้ต้องขังเข้าใหม่ รวมถึงเป้าหมายสำคัญ คือเร่งจัดหาวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง โดยขณะนี้เริ่มฉีดวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรือนจำส่วนใหญ่แล้ว สำหรับผู้ต้องขังจะเริ่มต้นในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว จนครอบคลุมผู้ต้องขังทุกราย

ผวาติดเชื้อคุกเชียงใหม่ร่วม 4 พันคน

ผู้สื่อข่าวรายงานในเวลาต่อมาด้วยว่า ได้รับการเปิดเผยจากนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ ถึงกรณีสื่อโซเชียลระบุมีผู้ต้องขังเรือนจำกลางเชียงใหม่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3,929 คนว่า ตัวเลขที่ระบุถึงเป็น “ตัวเลขปิดผนึก” หรือบับเบิลแอนด์ซีล คือยิ่งตรวจยิ่งเจอแบบสมุทรสาคร ยอดติดเชื้อตอนนี้อยู่ที่ 3 พันกว่าคน และจะมีการแถลงรายละเอียดเช้าวันที่ 17 พ.ค. ที่หอประชุม 80 พรรษาเฉลิมพระเกียรติฯ สำหรับเรือนจำกลางเชียงใหม่ มีผู้ต้องขังทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน เมื่อ 2-3 วันก่อนมีการระบุจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 300 คน ซึ่งทางสื่อมวลชนติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่เรือนจำมาตลอด แต่ไม่มีการแถลงถึงตัวเลขที่แน่ชัดแต่อย่างใด

กทม.ขยายเวลาปิดสถานที่ถึงสิ้น พ.ค.

จากนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.ท.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. ได้โพสต์ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติผ่อนคลายมาตรการกิจการร้านอาหารให้เป็นไปตามประกาศ ศบค. และข้อกำหนดฯ แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 23) ที่กำหนดให้กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และนั่งได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนที่นั่งปกติ จำหน่ายอาหารแบบนำไปบริโภคที่อื่นได้ (Take Away) ไม่เกิน 23.00 น. ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และยังคงปิดสถานที่ตามประกาศกรุงเทพมหานครปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) และ (ฉบับที่ 26) ต่อไป โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17-31 พ.ค.64 ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 29)

ยันไม่กระทบการให้บริการ

ส่วนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) จ.สมุทรปราการ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตที่ 6 และ น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมแถลงถึงกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่ามีอยู่ 4 คลัสเตอร์ ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 120 กว่าราย อย่างไรก็ดี คลัสเตอร์ภายในสนามบินสุวรรณภูมิยังเป็นกลุ่มก้อนเล็กกว่ากลุ่มใน กทม.และปริมณฑล ขณะที่ในส่วนของ ทสภ.มีพนักงานและลูกจ้างของฝ่ายขนส่งทางอากาศติดเชื้อ 34 คน มีการดำเนินการและกำชับให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และจะดูแลไม่ให้กระทบต่อการให้บริการ พร้อมกันนี้จะจัดจุดฉีดวัคซีนสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ที่บริเวณห้องโถงผู้โดยสารขาออกชั้น 4 ประตู 9 บริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน Row U และ W โดยปัจจุบัน ทสภ.มีการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานและผู้ปฏิบัติงานไปแล้วกว่า 4,371 คน

นายกฯไม่อนุมัติถอดหน้ากาก

ช่วงค่ำวันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจากที่ประชุม 4 ฝ่ายเตรียมความพร้อมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญในวันที่ 22 พ.ค.โดยจะขออนุญาตไม่สวมหน้ากากอนามัยในการประชุมฯนั้น ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.พิจารณาแล้ว ไม่อนุมัติคำขอดังกล่าว โดยเห็นว่าอยู่ในช่วงของการระบาดขั้นรุนแรงมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคโดยง่าย พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่าไม่ได้มีการอนุมัติในหลักการในเรื่องนี้ และทุกคนไม่มีอภิสิทธิ์อะไรที่จะได้รับยกเว้นจากการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค คนไทยทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการที่เข้มงวด ไม่มีเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เห็นว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการอภิปราย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจในการพิจารณาให้ผู้อภิปรายถอดหน้ากากเป็นรายๆได้อยู่ในอำนาจของประธานสภา

จว.สีแดงเข้มติดเชื้อใหม่ยังสูง

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่ม 4 พื้นที่สีแดงเข้มที่ต้องควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.นนทบุรี ศูนย์ ปฏิบัติการโควิด-19 จ.นนทบุรี รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ ณ วันที่ 16 พ.ค. จำนวน 108 คน สาเหตุติดเชื้อส่วนใหญ่ภายในตลาดสด สถานที่ทำงาน และภายในครอบครัว อยู่ในอำเภอเมือง 50 คน อ.บางใหญ่ 18 คน อ.บางบัวทอง 17 คน อ.ปากเกร็ด 10 คน อ.บางกรวย 9 คน และ อ.ไทรน้อย 4 คน ส่วน จ.สมุทรปราการ รายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อกลางดึกวันที่ 15 พ.ค. เพิ่มอีก 201 คน เป็นผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 168 คน มารักษาต่อในพื้นที่ 33 คน เสียชีวิตเพิ่ม 3 คน และ จ.ปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 243 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน

ผู้ป่วยทยอยตายหลาย จว.

นอกจากนี้ มีรายงานเข้ามาต่อเนื่องว่าผู้ป่วยโควิด-19 ในหลายจังหวัดเสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 พ.ค. โดย จ.สุพรรณบุรี มีรายงานพบผู้ป่วยรายใหม่ 5 คน และเสียชีวิต 1 คน เป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 7 ของจังหวัดเป็นหญิงไทย อายุ 62 ปี ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองสุพรรณบุรี ขณะที่ สสจ.นครสวรรค์แจ้งการเสียชีวิตผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายที่ 8 ของจังหวัด เป็นหญิง อายุ 54 ปี ติดเชื้อจากเพื่อนร่วมงาน เช่นเดียวกับ จ.ชัยภูมิ ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่มีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 1 คน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 พ.ค. เป็นหญิง อายุ 86 ปี เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ของชุมชนกุดแคน เข้ารักษาอาการป่วยที่ รพ.ชัยภูมิได้ 3 วันก็เสียชีวิต นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 7 ของจังหวัด จากนั้นในช่วงเย็นเจ้าหน้าที่นำร่างผู้ตายใส่บรรจุถุงพลาสติกห่อหุ้มอย่างมิดชิด มาประกอบพิธีฌาปนกิจ ณ วัดชัยประสิทธิ์ อำเภอเมือง โดยมีบุตรชาย เดินทางมาจาก อ.บำเหน็จณรงค์ ร่วมงานเพียงคนเดียว เนื่องจากญาติคนอื่นๆ ในชุมชนกุดแคน ต่างถูกกักตัวทั้งหมด

ทั่วโลกวันเดียวป่วยกว่าครึ่งล้าน

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ณ วันที่ 16 พ.ค. ในรอบ 24 ชั่วโมง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกกว่า 626,597 คน ทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อทั้งโลกพุ่งไปที่กว่า 163 ล้านคน เสียชีวิตเพิ่ม 11,815 คน รวมสะสม 3.3 ล้านคน ขณะที่อินเดียพบผู้เสียชีวิตตลอด 24 ชม.ที่ผ่านมา 4,090 คน รวมแล้วกว่า 270,000 คนติดเชื้ออีกกว่า 310,000 คน รวมยอดสะสมกว่า 24.6 ล้านคน ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่แม้มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพบเพียง 25,229 คน รวมสะสมกว่า 33.6 ล้านคน เสียชีวิตเกือบ 500 คน รวมสะสมราว 6 แสนคน