ไปเยือนเชียงใหม่ในภาวะปกติ ถ้าใครได้ไปแอ่วกาดขั่วอินทรีย์แม่เหียะ เป็นได้เห็นสาวน้อยหุ่นตุ้ยนุ้ย ก้มหน้าก้มตาขายผักเชียงดา ชะพลู ดอกเก๊กฮวย อัญชัน มะเขือเทศแช่อิ่ม กระเจี๊ยบแดงแช่อิ่ม มะม่วงหาวมะนาวโห่แช่อิ่ม และต้นกล้า พืชผักพร้อมปลูกอีกหลายชนิด ที่จำหน่ายในราคาเบาๆ 10 บาท ไปจนถึง 40 บาท แล้วแต่ชนิดพันธุ์ไม้...อย่าได้เมินมองข้าม ดูแคลนเป็นเด็ดขาด

นี่แหละสาวน้อยผู้มีใจรักงานเกษตร เห็นคุณค่าการทำเกษตร จนสามารถส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือได้ เพราะสารพัดพืชผักและต้นกล้าที่เอามาขายนี่ ล้วนแต่เป็นผลงานจากสองมือของเธอทั้งสิ้น

และไม่ใช่เพิ่งจะมาทำกันแค่ 1-2 ปี หากแต่อยู่ชั้น ป.เตรียม โน่นแล้ว ปัจจุบันเธอเรียนอยู่ชั้น ม.4 ร.ร.มัธยมสันกำแพง และเพิ่งจะมีคำหน้านามว่า น.ส.ชมพูนุท จายแค่น หรือ น้องขิง เกษตรกรวัยกระเตาะ บ.สันข้าวแคบ ต.ห้วย-ทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เธอยังคงทำเกษตรส่งเสียตัวเองเรียนอยู่เช่นเดิม

แถมยังขยายกิจการมีบริการส่งถึงบ้านทางออนไลน์อีกด้วย

“เริ่มทำมาตั้งแต่ 6 ขวบ แรกๆแค่ช่วยแม่ผสมดิน กรอกดินใส่ถุงเพาะชำ และไปช่วยแม่ขายผักที่ตลาด เพราะรู้สึกสนุก มีความสุขที่ได้ปลูกต้นไม้ ทำให้บ้านเราร่มเย็น อยู่ตรงไหนก้อได้ใต้ต้นไม้ไม่ร้อน ไม่เหมือนบ้านคนอื่นที่ไม่ค่อยปลูกต้นไม้กัน พอโตขึ้นมาหน่อยแม่สอนให้ทำโน่นนั่นนี่ เพาะต้นกล้าไว้ขาย และแม่มาให้หนูลงมือทำเองแบบจริงจัง เมื่อตอนอยู่ ม.1 มีการทำบัญชีแบ่งแยกรายได้กันไปเลย รายได้ของแม่เป็นส่วนของแม่ ของหนูก็เป็นส่วนของหนู เพราะแม่ต้องการสอนให้เราเห็นคุณค่าของเงิน มันไม่ได้มาง่ายๆ อยากได้อะไร โทรศัพท์มือถือต้องเก็บเงินจากการขายผัก ขายต้นกล้าไปซื้อเอง จนทำให้หนูมีรายได้ส่งตัวเองเรียนได้แล้ว เดือน เดือนหนึ่งมีรายได้จากขายตรงนี้ประมาณ 5 พันบาท พอสำหรับค่าใช้จ่ายวันละ 100 บาท ค่าเทอม 3,000 บาท เรียนพิเศษอีก 1,700 บาท และยังมีเหลือเก็บไว้ซื้อของให้ตัวเอง”

...

ขิงเล่าให้ฟังถึงที่มาของชีวิตยังฟาร์มเมอร์วัยกระเตาะ...แต่รายได้ตรงนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการขายที่ตัวเองไปขายได้เฉพาะวันหยุดเรียนหรือวันเสาร์เท่านั้น ส่วนวันอื่นๆ อังคารกับพฤหัสบดี ได้แต่เตรียมผลผลิตฝากแม่ช่วยขายให้เท่านั้น เพราะกาดขั่วอินทรีย์แม่เหียะ เปิดขายแค่สัปดาห์ละ 3 วัน

“เพราะหนูต้องไปโรงเรียน ไม่มีเวลาไปขายด้วยตัวเอง เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น ปี 2562 หนูเลยเริ่มหันมาขายเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าผ่านทางออนไลน์ ทางเฟซบุ๊กเพจ กุ๊บหลวง กับทางโทรศัพท์มือถือ 08-3072-7095 ปรากฏว่ามีปัญหาเหมือนกัน คือ ลูกค้าติดต่อมาทางออนไลน์ ถามโน่นถามนี่ แล้วเราตอบไม่ได้ เพราะตอนอยู่โรงเรียนคุณครูไม่ให้ใช้โทรศัพท์ จะให้แม่ตอบแทน แม่ก็ทำไม่เป็น เลยทำให้มีปัญหากับลูกค้าบ้างพอสมควร ที่ต้องรอเราตอบข้อความช้า เพราะจะตอบได้ ต้องหลังเลิกเรียนแล้วเท่านั้น”

และสินค้าที่ ชมพูนุท ทำส่งขายทางออนไลน์ ล้วนแต่เป็นพันธุ์พืชที่เธอเพาะปลูกขึ้นมาเองในสวนทั้งสิ้น...เมล็ดพันธุ์ มีตั้งแต่มะเขือขื่น กะเพราแดง ถั่วแฮะ ขจร อัญชัน ฯลฯ

ส่วนต้นกล้ามีตั้งแต่หญ้าหวาน สตรอว์เบอร์รี เก๊กฮวย เชียงดา น้อยหน่า น้อยโหน่ง ทุเรียนเทศ ฯลฯ

ขายเมล็ดพันธุ์ขนส่งทางออนไลน์เป็นเรื่องง่ายๆ ใครก็ทำได้ เพราะบรรจุภัณฑ์ไม่มีอะไรวุ่นวาย ใส่ถุง ใส่ซองส่งไปได้ง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องความเสียหายจากการขนส่ง

แต่ขายต้นกล้าทางออนไลน์นี่สิ ไม่ใช่เรื่องง่าย บรรจุภัณฑ์ทำไม่ดี ต้นกล้าช้ำ เหี่ยวเน่าตายได้ง่าย ยิ่งเกษตรกรมือใหม่วัยกระเตาะอย่างนี้ ทำได้อย่างไร

“จากที่ทำมา 2 ปีกว่า หนูส่งต้นกล้าที่มีขนาดความสูง 1 คืบ ไปจนถึง 1 ศอก ส่งมาแล้วเกือบหมื่นต้น ยังไม่เคยได้รับคำตำหนิจากลูกค้าเลยว่าต้นกล้ามีปัญหา มีแต่บอกว่าต้นกล้าที่ส่งไปให้นั้นกำลังเติบโตใกล้จะได้กินลูกแล้ว และเคยส่งไปไกลสุดถึงพัทลุง เป็นต้นกล้าสตรอว์เบอร์รี 3 วันถึง ลูกค้ารายงานมาว่าไม่ช้ำ ไม่มีอาการเหี่ยวจากการขาดน้ำเลย”

...

สำหรับวิธีบรรจุต้นกล้าลงกล่องส่งไปให้ลูกค้า ใครดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องยาก...แต่พอมาเห็นวิธีการที่สาวน้อยคนนี้ทำ มันไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลย

อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการกันกระแทกป้องกันไม่ให้ต้นไม้หักช้ำ ไม่เหี่ยว มีราคาอยู่แค่ กก.ละ 10 บาท...นั่นคือ หนังสือพิมพ์เก่าที่เขาชั่งกิโลขาย

นำมาห่อม้วนต้นม้วนต้นกล้าทีละต้นให้มิดชิด ไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของต้นกล้าโผล่ออกมาจากหนังสือพิมพ์เลย จากนั้นบรรจุลงกล่องกระดาษเท่านั้นเอง

เด็กๆคิดทำอะไรไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน แต่ได้ผลงานเป็นมรรคผล...ช่างต่างจากผู้มีอำนาจสูงวัยซะเหลือเกิน.

ชาติชาย ศิริพัฒน์