นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เผยว่า ไหมอีรี่ หรือไหมกินใบมันสำปะหลัง นอกจากเส้นใยจากรังไหมจะสามารถนำมาผลิตสิ่งทอที่ให้ความสวยงามแล้ว ดักแด้ยังนำมาผลิตเป็นอาหารของคนและ สัตว์ได้ เพราะมีโปรตีนสูงถึง 50-55% มีกรดอะมิโนที่สำคัญต่อร่างกายทั้ง 18 ชนิด และมีกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน

“จากการวิจัยของกรมหม่อนไหมร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดโปรตีนจากไหมอีรี่ พบว่าโปรตีนสกัดจากไหมอีรี่เป็นแหล่งโปรตีนที่ปลอดภัย มีประโยชน์และไม่แพง เหมาะแก่การเป็นโปรตีนทางเลือกในอนาคต นอกจากนั้นงานวิจัยของกรมหม่อนไหมยังพบว่า สามารถนำดักแด้ไหมอีรี่มาทดแทน ถั่วเหลืองเลี้ยงไก่เนื้อ ทำให้ได้ไก่เนื้อที่มีคุณภาพ และยังนำไหมอีรี่ไปเป็นส่วนประกอบของอาหารปลาสวยงาม ช่วยเสริมรงควัตถุแคโรทีนอยด์ เพื่อเพิ่มสีผิวและกระตุ้นภูมิคุ้มกันของปลาสวยงามได้”

อธิบดีกรมหม่อนไหมให้รายละเอียดอีกว่า การเลี้ยงไหม 1 ซอง ใช้ใบมันสำปะหลังเลี้ยง 1 ไร่ ได้ผลผลิตรังไหมสด 30 กก. เกษตรกรสามารถปาดรังไหมนำดักแด้ออกจากรัง ได้น้ำหนักรังไหม 3 กก. จำหน่ายราคา กก.ละ 350-400 บาท ได้น้ำหนักดักแด้ 27 กก. จำหน่ายเป็นอาหาร กก.ละ 100-180 บาท หรือนำรังไหมไปสาวเป็นเส้นไหมฟอก ย้อม ทอ จำหน่ายเป็นผืนเมตรละ 600-2,000 บาท

...

ที่สำคัญปัจจุบันมีผู้ประกอบการพัฒนา ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากไหมอีรี่และโปรตีนจากแมลง ทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยบริษัทจะรับซื้อรังไหมอีรี่สดที่ยังไม่ได้ปาดรัง กก.ละ 100–115 บาท ได้รับความนิยมจากเกษตรกรอย่างมาก เพราะไม่ต้องใช้แรงงานปาดรังไหม และได้รับเงินเร็วขึ้น ที่สำคัญใช้เวลาเลี้ยงไหมเพียง 19–22 วัน สามารถจำหน่ายรังไหมสดได้แล้ว หากเกษตรกรเลี้ยงไหมรอบละ 2 ซอง จะมีรายได้เฉพาะค่าดักแด้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000 บาท

“ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความต้องการผลผลิตเดือนละ 25-30 ตัน แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่ผลิตได้แค่เดือนละ 8-12 ตันเท่านั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง สามารถเลี้ยงไหมอีรี่เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพราะมีข้อมูลวิจัยพบว่าการเก็บใบมันสำปะหลังมาเลี้ยงไหมอีรี่นั้น หากเก็บไม่เกิน 30% ของต้น มันสำปะหลังยังคงให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี สนใจ
เลี้ยงไหมอีรี่ติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทั่วประเทศ” นายปราโมทย์ กล่าวเชิญชวน.