“วัคซีนใบยา” ฝีมือคนไทยป้องกันรับมือไวรัสมรณะ “โควิด-19” ตั้งไข่มานานแล้วกำลังจะทดสอบในคนระยะที่ 1 เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ หลายคนอาจจะตั้งคำถาม...วันนี้โลกมีวัคซีนมากมายหลากหลาย ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการนำเข้าวัคซีนมาเรื่อยๆ ถึงวันนั้น “คนไทย” คงจะได้รับการฉีดวัคซีนกันถ้วนทั่วไปแล้ว วัคซีนใบยา...จะล้าสมัยไหม?
เท่าที่คุยกันเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “วัคซีนใบยา” จะใช้เป็นวัคซีนเจเนอเรชัน 2 หมายถึงว่า...วัคซีนใบยาจะมีความสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ประหลาดๆรุนแรงอย่างสายพันธุ์แอฟริกาได้
ไวรัสปรับตัวมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเราก็สามารถปรับเปลี่ยนวัคซีนใบยาของเราได้ให้เท่าทัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในทางเทคนิคถ้าเราเลือกรหัสพันธุกรรมของตัวที่เราต้องการและใส่ผ่านเข้าไปในเซลล์พืช
“เสร็จเรียบร้อยแล้วพืชก็จะผลิตโปรตีนมาตามที่เราสั่ง...ก็สามารถที่จะทำเป็นวัคซีนเจเนอเรชันหรือรุ่นที่หนึ่ง...สอง...สาม...สี่...ห้า ได้หมดเลย แล้วต้นไม้ใบยาก็สามารถที่จะผลิตโปรตีนได้ในเก้าวัน”
...
ให้เข้าใจตรงกันว่า...เมื่อได้โปรตีนเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถที่จะพิสูจน์ทดลอง เอามาฉีดในหนู ว่าสามารถยับยั้งไวรัสตระกูลต่างๆ ได้หรือเปล่า ทั้งหมดนี้ใช้เวลาอยู่ในช่วง 2–3 สัปดาห์เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นการที่วัคซีนรุ่นใหม่ใช้ได้ผลยังไงก็สามารถตอบได้เลย วิธีการของวัคซีนใบยาจะไม่เหมือนกับการผลิตวัคซีนชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นตัว mRNA...ชนิดสารพันธุกรรม หรือ...ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ
จับตาจุดเปลี่ยน...เดือนสิงหาคม “วัคซีนใบยา” อวดโฉมให้เห็นประสิทธิภาพ
อย่างไรเสีย วัคซีนใบยาถือว่ามีความยืดหยุ่นอยู่มาก สามารถปรับเปลี่ยน พัฒนาล้อไปตามไวรัสที่ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ไปได้ทุกขณะเรียกว่า...เราสามารถพัฒนาวัคซีนได้ทันกาลเสมอ แต่วัคซีนที่ออกมา ณ วันนี้ ต้องเข้าใจว่าเป็นวัคซีนที่ใช้ต่อต้านไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อู่ฮั่น ต้นปัญหาซึ่งระบาดเมื่อปีที่แล้ว
วัคซีนเหล่านี้...จำกัดการป้องกันเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดียวอย่างนั้น ถ้าหากจะเปลี่ยนใหม่ก็เหมือนกับว่าต้องเริ่มต้นใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการทดสอบที่ช้ากว่า ไม่เหมือนวัคซีนใบยาที่ทำ...ปรับได้เร็วกว่ามากเลย ประเด็นที่สำคัญ...เรา (คนไทย) ทำเองได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ
ไหนๆก็คุยกันด้วยเรื่อง “วัคซีน” กันแล้ว ก็คุยกันต่อไปถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนกันอีกสักหน่อย คนไม่น้อยอาจจะมีคำถาม สมมติว่าฉีดวัคซีนไปแล้วครบโดส ไม่ว่าจะเป็นแอสตราเซเนกา ซิโนแวค แล้วเกิดว่า...มีวัคซีนตัวใหม่ๆเข้ามา อาจจะเป็นไฟเซอร์ จะสามารถฉีดซ้ำเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันสู้โควิด-19 ได้อีกไหม
“ไม่ควรนะครับ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า “เนื่องจากว่าลักษณะวัคซีนสร้างมาจากไวรัสต้นแบบตัวเดียวกัน ถ้าหากว่าเราฉีดซ้ำเข้ามาอีกทีก็ไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไร ถึงแม้ว่าอาจจะมีเคลมว่าไฟเซอร์ดูจะขึ้นดีกว่า แต่ซิโนแวค...ประสบการณ์ที่เคยฉีดเข็มแรกจะไม่เห็นอะไร ต้องรอประมาณสามสัปดาห์ขึ้นไปแล้วก็ฉีดเข็มที่สอง”
เมื่อเข็มที่สองถูกฉีดไปแล้ว ภายในระยะเวลา 5 วัน หลายๆคนที่แล็บก็ฉีดซิโนแวค พอเจาะเลือดขึ้นมาเราก็จะเช็กระดับภูมิคุ้มกันที่จะยับยั้งไวรัสได้ขึ้นมาหมดทุกคนเลย ด้วยเหตุผลนี้เองจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดซ้ำด้วยวัคซีนอีกตัวหนึ่ง
กรณีนี้เป็นความเชื่อมาจากว่า...ยิ่ง “น้ำเหลือง” มีระดับภูมิคุ้มกันเยอะๆยิ่งดี เหมือนกับว่ายิ่งมีมากก็ยิ่งจะหายจากร่างกายไปช้า แต่โดยความจริงแล้ว...วัคซีนไม่ได้ดูแต่ระดับภูมิคุ้มกันว่าขึ้นสูงเท่าไหร่
...
แต่เราจะดูว่าการที่ “วัคซีน” จะสามารถ “ป้องกัน” คนจากการติดเชื้อ หรือติดแล้วไม่ “เสียชีวิต” ...ไม่ได้อาศัยน้ำเหลืองหรือแอนติบอดีอย่างเดียว แต่อาศัยกลไกระบบเซลล์ที่เราเรียกว่า... “ทีเซลล์” แล้วก็ยังมี “บีเซลล์” ที่สร้างแอนติบอดีด้วย
“คนทั่วๆไปเราจะมองที่แอนติบอดีเพราะว่าตรวจสอบง่าย เจาะเลือดปุ๊บสามชั่วโมงก็รู้ผลว่ายับยั้งไหม แต่เรื่องของทีเซลล์ค่อนข้างยากกว่า ด้วยกลไกที่ซับซ้อนและมีราคาแพง เอาง่ายๆอย่าไปฉีดซ้ำด้วยความเชื่อที่ผิดๆดีกว่า”
ยกเว้นเสียแต่ว่า เราฉีดของเก่าไปเรียบร้อยแล้ว ถ้ามี “ไวรัสยี่ห้อใหม่ (สายพันธุ์ใหม่)” ระบาด วัคซีน (ปัจจุบัน) ที่มีอยู่เอาไม่อยู่เลย อันนั้นก็มีความจำเป็นที่จะฉีดวัคซีนของใหม่...เพื่อที่จะครอบคลุม ป้องกันใหม่
ถามต่อไปอีกว่าแล้วถ้าฉีดซ้ำจะเกิดโทษ มีผลร้ายต่อร่างกายไหม?
อันนี้มีปัญหาอยู่อันหนึ่ง ซึ่งจริงๆพวกเราชาววัคซีนที่ทำวัคซีนกันมานาน องค์การอนามัยโลกก็ประกาศมาตั้งแต่ต้นเลยว่า...ถ้าหากว่าวัคซีนที่ฉีดไปแล้วได้ภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองเยอะๆถ้าเกิดมีไวรัสตัวใหม่ซึ่งมันไม่ฆ่า แต่จะจับไวรัสตัวใหม่ลากเข้าไปในเซลล์แล้วกระตุ้นสารอักเสบขึ้นมา
อันนี้เองที่เรียกว่าวัคซีนทำให้หลง...โควิดอาจจะมีแค่ร้ายกาจระดับหนึ่งคือไม่ตาย แต่ว่าได้ภูมิคุ้มกันมหาศาลขนาดนี้แล้วไปเจอไวรัสตัวใหม่ ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะยิ่งร้ายแรงขึ้นไปอีกหรือเปล่า
นี่เป็นข้อกริ่งเกรงอย่างยิ่ง...ด้วยว่าเคยเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมาแล้ว กรณี... “ไวรัสไข้เลือดออก” ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ถ้าหากว่าปีที่แล้วเราเจอเบอร์ 1 ของไวรัสไข้เลือดออก ก็คิดว่าเราคงมีภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองขึ้น แต่มาปีนี้เราเกิดไปเจอไวรัสกลุ่ม 3
...
“ปรากฏว่า...ภูมิคุ้มกันกลุ่ม 1 พอเห็นกลุ่ม 3 ไม่ได้ทำลาย แต่ว่าไปจับมือกับกลุ่ม 3 แล้วถึงเข้าไปในเซลล์แล้วก็ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเกิดเป็นกรณีวัคซีนที่บริษัทไบโอเมริเยอร์ฯซึ่งตื่นเต้นขายไปทั่วโลก ปรากฏว่าเมื่อฉีดไปแล้วไปเจอกับไวรัสอีกตัวซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน ปรากฏว่า...คนตายมากขึ้น”
กรณีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แล้ววัคซีนนี้ก็ขายไม่ได้เลยทั่วโลก
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วใน “ไวรัส” โรคไข้เลือดออก แต่กับโคโรนาไวรัส “โควิด-19” ยังไม่ทราบ ฉะนั้นเองก็ต้องระวังในเรื่องของวัคซีน กระนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่อยากจะพูดเพราะกลัวว่าพูดไปแล้วคนจะไม่ยอมรับการฉีดวัคซีน ณ วันนี้เอาที่สบายใจ ฉีดแค่ครบโดสก็น่าจะเพียงพอแล้ว
คำถามต่อเนื่อง...หากเดือนสิงหาคมที่จะถึง “วัคซีนใบยา” สัญชาติไทยสู้โควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ทดสอบผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จะฉีดซ้ำได้ไหม?
...
“วัคซีนใบยาสามารถครอบคลุมป้องกันไวรัสได้กว้างขวางกว่าก็ควรฉีดซ้ำได้...ถ้าครอบคลุมตัวใหม่ เหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีที่แล้วเราฉีด ปีนี้เราก็ฉีดอีกเพราะวัคซีนครอบคลุมตัวใหม่แล้ว”
“วัคซีนใบยา” ที่จะออกมาครอบคลุมป้องกันไวรัสเยอะกว่าแน่ อาจจะเป็นอีกหนึ่งความหวังสำคัญในอนาคต ไม่ว่าจะมองเรื่อง “ต้นทุน” ก็ถูก เพราะผลิตจากใบพืช ยิ่งปลูกเยอะพื้นที่เยอะ ถ้าถามเรื่องปริมาณการผลิตก็สามารถที่จะผลิตได้เป็นสิบล้านโดสภายในระยะเวลาอันสั้น...“ข้อน่าดีใจ โปรตีนที่นำมาผลิตวัคซีนหนึ่งโดสนั้น ไม่ต้องใช้เยอะ...ใส่นิดเดียวก็สามารถกระตุ้นภูมิได้เต็มเลย”
เอาล่ะครับ “วัคซีนใบยา” ของคนไทย ของประเทศไทย...คุมได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่สำคัญปรับเปลี่ยนพัฒนาไปได้เรื่อยๆ ตามพัฒนาการสายพันธุ์ไวรัส ร่วมด้วยช่วยกัน...“วัคซีนใบยา” เป็นอีกความหวังสำคัญยิ่งสำหรับสารพัดโรคร้ายในอนาคต ที่ไม่เฉพาะไวรัสโควิด-19 เท่านั้น.