พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดซื้อเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์นำไปใช้ในโรงพยาบาลและโครงการราชทัณฑ์ปันสุข นายกฯรับลูกข้อเสนอภาคเอกชนบริหารจัดการวัคซีนร่วมมือจัดตั้ง “วัคซีน ทีมไทยแลนด์” ทำ 4 เรื่อง กระจายวัคซีน ประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นฉีดวัคซีน หาสถานที่ฉีดวัคซีนที่เหมาะสมและสะดวก จัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้เพียงพอ มอบ “สุพัฒนพงษ์” เป็นแม่งานประสานกับภาคเอกชน เอกชนเริงร่าขอบคุณนายกฯ ที่ให้ความเชื่อมั่นร่วมมือทำงาน ชี้ไทยจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ปีนี้และสามารถเปิดประเทศได้ปี 65 ฟื้นเศรษฐกิจ ด้านยอดป่วยติดเชื้อยังเพียบเจออีกกว่า 2 พันคน เสียชีวิตอีก 15 ราย ศบค.ชุดเล็กเล็งชงปรับโซนสีง่ายต่อการออกมาตรการ นนทบุรียังอ่วมติดเชื้อเพิ่ม 122 ราย กาญจนบุรี 21 ราย ตำรวจเปิดสายด่วน 191 ช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนผู้คิดหลบหนีการกักตัวหรือรักษาตัว ตำรวจตามถึงบ้านนำไปรักษา
สถานการณ์วิกฤติโควิดที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ยังสร้างความเครียดให้กับประชาชนชาวไทย โดยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันแตะหลักกว่า 2 พันคนต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 6 นับจากวันที่ 23-28 เม.ย.ส่วนผู้เสียชีวิตยังมีจำนวนเกิน 10 ราย ขณะที่กรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุด รองลงมาคือสมุทรปราการ
...
ติดเชื้อ 2,012 ราย ดับ 15 ราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 28 เม.ย. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ประจำวัน ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,012 ราย เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ 2,001 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,893 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 108 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 61,699 ราย หายป่วยสะสม 34,402 ราย อยู่ระหว่างรักษา 27,119 ราย อาการหนัก 695 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 199 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 15 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 4 ราย อยู่ใน กทม.ถึง 9 ราย สาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อในครอบครัว 10 ราย มี 1 รายเสียชีวิตระหว่างรอคิวตรวจ 3 วัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 178 ราย
ติดเชื้อ เม.ย.เพราะกักตัวไม่ทัน
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า 5 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในวันที่ 28 เม.ย. ได้แก่ กทม. 830 ราย สมุทรปราการ 161 ราย ชลบุรี 108 ราย นนทบุรี 71 ราย สมุทรสาคร 59 ราย นับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.หลังออกมาตรการปิดสถานบันเทิง พบว่าแม้ตัวเลขลดลงบ้าง แต่ยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ วันนี้มี 9 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อและมี 35 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 11-50 ราย 25 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 51-100 ราย 5 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 100 รายขึ้นไป มี 3 จังหวัด ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ในเดือน เม.ย.ข้อมูลถึงวันที่ 25 เม.ย. อันดับแรกคือการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 9,177 ราย ที่เกิดจากความไม่ระมัดระวังตัวและแยกกักตัวไม่ทันท่วงที เราจึงมีมาตรการออกมาเข้มข้น รองลงมาคือสถานบันเทิง 5,226 ราย อันดับสาม การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,025 ราย
คนอาการไม่แรงไปอยู่ รพ.สนาม
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การระบาดระลอกนี้แตกต่างจากคลัสเตอร์ จ.สมุทรสาคร ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ 90% ต้องอยู่ รพ.สนาม แต่การระบาดระลอกนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มจำนวนแบบก้าวกระโดด สถานการณ์ขณะนี้โรงพยาบาลสนามเปิดเพิ่มได้ แต่บางกรณี เช่น กทม.ไม่ตอบโจทย์ เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นกลุ่มมีอาการรุนแรงปานกลางไปจนถึงอาการหนัก บางส่วนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องบริหารจัดการเตียงให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงขอความร่วมมือว่าหากไม่มีอาการรุนแรง ขอร้องให้ไปใช้ รพ.สนาม หรือฮอสพิเทล เพื่อรักษาเตียงให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ
กักตัวที่บ้านต้องเคร่งครัด
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า กรณีผู้ป่วยรักษาตัวเป็นเวลา 14 วันจนมีผลเป็นลบและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน ถือเป็นมาตรฐานของสาธารณสุข แต่ยังต้องกักตัวที่บ้านอีก 14 วัน ไม่ให้ออกไปทำงานหรือไปสถานที่ชุมชน เพื่อความปลอดภัย สำหรับการฉีดวัคซีน เราพยายามรณรงค์ให้ฉีดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต หรือการใช้ไอซียู ประชาชนควรฉีดวัคซีน ส่วนแผนการกระจายวัคซีน ตั้งใจจะกระจายให้ประชาชนร้อยละ 70 หรือประมาณ 50 ล้านคนภายในปี 64 หรือคิดเป็น 100 ล้านโดส เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ในสถานการณ์วิกฤติบางครั้งความขัดแย้งต้องมีคำถาม คิดว่าเกิดจากความใส่ใจและห่วงใย เราเห็นต่างกันได้ แต่ต้องมีข้อเสนอชี้แนะบนพื้นฐานความถูกต้องที่เคารพซึ่งกันและกัน
พระราชทานเครื่องเอกซเรย์
วันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่พร้อมระบบ Ai ที่พร้อมปฏิบัติงานภาคสนามให้แก่โรงพยาบาลสนาม 19 แห่ง ทั้งใน กทม.และใน 4 ภาคทั่วประเทศ เพื่อคัดแยกผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาพยาบาลเร็วขึ้น ลดระยะเวลาในการรักษาพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลง จะนำเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่พระราชทานไปใช้ โดยอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่าย และนำออกมาใช้งานในภาคสนามเมื่อมีภารกิจใหม่ต่อไป
...
พระราชทานเครื่องมือครุภัณฑ์การแพทย์
ต่อมาเวลา 18.02 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า พัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณี สิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการ พร้อมคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นำ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เฝ้าทูลละอองธุลี พระบาท รับพระราชทานเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ สำหรับใช้ในเรือนจำ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดซื้อเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ จำนวน 118,547,200 บาท แบ่งเป็นสำหรับโรงพยาบาลแม่ข่าย จำนวน 102,691,400 บาท สำหรับเรือนจำ จำนวน 15,855,800 บาท ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไปและผู้ต้องขังในเขตพื้นที่อำเภอนั้นๆ
ทอดพระเนตรนิทรรศการ
ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิรา เทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปทอดพระเนตรนิทรรศการเปิดโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ระยะที่ 2 ผลการดำเนินงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์พระราชทาน ระยะที่ 2 ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ระยะที่ 1 สามารถช่วยเหลือผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง ให้มีสุขภาพโดยรวมดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนโครงการระยะที่ 2 จะดำเนินการในเรือนจำอำเภอ จำนวน 19 แห่ง ซึ่งเป็นเรือนจำขนาดเล็ก อยู่ห่างไกล ติดชายแดน เรือนจำบางแห่งมีอายุการใช้งานมานาน โดยนอกจากจะเน้นการดำเนินงานเช่นเดิมตามระยะที่ 1 แล้ว ยังเพิ่ม ในมิติของการบริหารจัดการโรคติดต่อ โดยเฉพาะการกักโรค การส่งเสริมเรื่องสุขาภิบาลเรือนจำ อนามัยสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ และโภชนาการ
...
นายกฯถกเอกชนแผนวัคซีน-ศก.
สำหรับความเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม วันที่ 28 เม.ย. นายกฯเดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ และในเวลา 10.00 น. คณะกรรมการหอการค้าไทย เข้าพบนายกฯ ที่ตึกภักดีบดินทร์ หารือนำเสนอแนวทางขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 และการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ร่วมภาครัฐและเอกชน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า วาระสำคัญที่จะพิจารณา คือการหาแนวทางมาตรการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในฐานะทีมประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอและแผนงานเอกชน แม้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากที่ประมาณการไว้ แต่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมบริหารสถานการณ์ไปด้วยกัน เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน
ดีใจรัฐบาล-เอกชนร่วมมือกัน
จากนั้นเวลา 12.30 น. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือว่า นายกรัฐมนตรีดีใจที่รัฐบาลและเอกชนจะร่วมมือ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อไทยเปิดประเทศ นายกรัฐมนตรียังเน้นถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ เอกชน ดูแลกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆให้เกิดความยืดหยุ่นและดำเนินการได้ เช่นเดียวกับการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ใน พ.ร.บ.ทั้ง 31 ฉบับ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นการบูรณาการกฎหมาย เพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณและยืนยันเป้าหมายคนไทย 50 ล้านคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนในปลายปีนี้ รวมถึงการมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปพิจารณาแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก
...
หอการค้าฯตั้ง 4 ทีมหนุนฉีดวัคซีน
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้กำลังใจในการทำงานของหอการค้าฯมาโดยตลอด เอกชนพร้อมจะสนับสนุนการทำงานรัฐบาลเพิ่มจำนวนวัคซีนโควิด-19 และการกระจายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้มากขึ้น เร็วขึ้น รวมทั้งการสร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน จึงได้จัดตั้ง 4 ทีมสนับสนุนการฉีดวัคซีนภาคเอกชน โดยมีบริษัทที่ถนัดในธุรกิจนั้นๆ มาช่วยกระจายฉีดวัคซีนลอตใหญ่ ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือน มิ.ย.64 ประกอบด้วย ทีม A สนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ทีม B ทำหน้าที่การสื่อสารข้อมูล เชิญชวนประชาชนมารับการฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม ขณะที่ทีม C เป็นทีมเทคโนโลยีและจัดระบบลงทะเบียนให้รวดเร็วและติดตามตัว ทีม D มีหน้าที่จัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
ตั้ง “สุพัฒนพงษ์” แม่งาน
ต่อมาเวลา 13.30 น. นายกฯประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม เวลา 15.00 น. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงข่าวพร้อมผู้แทนภาคเอกชน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้ง 4 ด้าน โดยมอบให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นแม่งานในการประสานกับภาคเอกชน โดยมี สศช. และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานประสานงานกับภาคเอกชน โดยเฉพาะการจัดหาจุดฉีดวัคซีนร่วมกับภาคเอกชน จะเดินหน้าทำงานตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. เป็นต้นไป มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม รับไปพิจารณาแนวทางการผ่อนคลายกระบวนการพิจารณา อนุญาตให้ใช้วัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ที่อยู่ระหว่างประเมินข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้การจัดหาดังกล่าวของภาคเอกชนดำเนินการได้ทันเวลา
ไม่ปิดกั้นเอกชนจัดหาวัคซีน
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)กล่าวว่า ครั้งนี้ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนทำให้แผนทั้ง 4 ด้านบรรลุเป้าหมายโดยการจัดหาสถานที่รองรับการฉีดวัคซีน หอการค้าแห่งประเทศไทยได้เตรียมไว้หลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยจะให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัด (กรอ.จังหวัด) ร่วมมือกันทั้งประเทศ ขณะที่ ส.อ.ท.ได้เตรียมประสานพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมมารองรับและจะเข้าไปร่วมดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม ที่มองว่ามีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ สำหรับการลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีน ที่จะเข้ามาจำนวนมากในเดือน มิ.ย. ทั้งนายกฯและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้ให้ความเชื่อมั่นที่จะร่วมมือทำงานกับภาคเอกชน อีกทั้งการจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสในปีนี้ ภาครัฐระบุชัดว่าไม่ปิดกั้นภาคเอกชนในการจัดหานำเข้าและกระจายต่อ
เร่งเจรจาสิทธิบัตรฟาวิพิราเวียร์
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามความคืบหน้าการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลจัดหายาและเวชภัณฑ์อื่นๆให้เพียงพอ ยารักษาโรคโควิด-19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข รายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่า หลังจากได้สั่งยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 จากญี่ปุ่นเข้ามาให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ได้กระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆทั้ง รพ.ของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างให้องค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเจรจาสิทธิบัตร เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ในไทยได้เอง ขณะที่ รพ.เอกชนยังนำเข้ายาชนิดนี้ได้ รัฐไม่ได้มีการผูกขาดนำเข้า
“ศบค.ชุดเล็ก” เล็งชงปรับโซนสี
ผู้สื่อข่าวรายจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ได้หารือข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการยกระดับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ การเพิ่มโซนสีจังหวัด คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้นหรือสีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือสีแดง พื้นที่ควบคุมหรือสีส้ม เพราะเมื่อเพิ่มโซนสีแล้ว จะทำให้การออกมาตรการเข้มข้นทำได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ที่ประชุมให้แต่ละฝ่ายกลับไปพูดคุยรายละเอียดให้ครบถ้วนมากกว่านี้ เพื่อที่จะได้ออกคำสั่งและมาตรการที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 09.00 น. จะมีการประชุม ศบค.ชุดเล็กจะหา ข้อสรุป เพื่อนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในเวลา 14.00 น. เพื่อสรุปผลการออกมาตรการ และข้อกำหนดในกิจการกิจกรรมต่างๆต่อไป
ลงทะเบียนฉีดวัคซีนไลน์ “หมอพร้อม”
อีกด้านวันเดียวกัน นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข แถลงถึงการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรคด้วยไลน์ “หมอพร้อม” ว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาให้ประชาชน 2 กลุ่มนี้ 16 ล้านคน แยกเป็นเดือน มิ.ย. 6 ล้านคน เดือน ก.ค. 10 ล้านคน ตามที่ได้รับจัดสรรวัคซีน
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ แยกเป็นกลุ่มที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์ 1.2 ล้านคน กลุ่มที่ 2 บุคลากรด่านหน้า 1.8 ล้านคน สองกลุ่มดังกล่าวจะฉีดให้ครบภายในเดือน พ.ค. กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค 4.3 ล้านคน มีโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งทุกชนิด เบาหวาน โรคอ้วน กลุ่มที่ 4 ผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน
จองวัคซีนแทนพ่อแม่ได้
นพ.โสภณกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลนำรายชื่อกลุ่มเป้าหมายเข้าในระบบรับบริการแล้วและได้พัฒนาไลน์ “หมอพร้อม” เวอร์ชัน 2 เพิ่มระบบจองคิวฉีดวัคซีน โดยให้เพิ่มเพื่อนไลน์หมอพร้อม ลงทะเบียนใช้งานให้เรียบร้อย จองฉีดวันเวลาที่สะดวก อาจเลือกโรงพยาบาลรับรักษาตัวหรือโรงพยาบาลในภูมิลำเนา หรือหน่วยฉีดวัคซีนภายนอก หากต้องการจองคิวฉีดแทนคนในครอบครัว ให้แก้ไขข้อมูลส่วนตัว กดเพิ่มบุคคลอื่นเข้าไปได้ไม่จำกัด เพื่อจองให้พ่อแม่ได้ โดยลงทะเบียนวันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือไม่พบชื่อในระบบ จองได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรืออาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนกลุ่มที่ 5 บุคคลทั่วไปอายุ 18-59 ปี 31 ล้านคน จะฉีดในเดือน ส.ค.-ก.ย. เปิดจอง ก.ค. ช่วงนี้หากจัดหาวัคซีนได้เพิ่ม เช่น วัคซีนที่ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ เยาวชน 12 ปีขึ้นไป หรือครูที่จำเป็นจะเสริมเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมากที่สุด
ให้จัดหาให้ได้ 100 ล้านโดส
ทางด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไทยจัดหาวัคซีนเข้ามาใหม่ได้แล้ว 63 ล้านโดส สำหรับประชากร 31.5 ล้านคน แต่นายกฯให้จัดหาเพิ่มอีก 37 ล้านโดส เพื่อให้ครบ 100 ล้านโดส สำหรับประชากร 50 ล้านคน โดยวางแผนจัดซื้อแยกเป็นภาครัฐ 30 ล้านโดส กำลังจัดหาทั้งไฟเซอร์ 5-10 ล้านโดส สปุตนิก วี 5-10 ล้านโดส จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5-10 ล้านโดส ซิโนแวค 5-10 ล้านโดส ภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้บริการในภาครัฐ 7 ล้านโดส ได้แก่ โมเดอร์นาหรือซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนอื่นๆ ที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มชะลอคงที่ ที่น่าห่วงผู้เสียชีวิตอาจจะสูงขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากที่รักษาอยู่มีอาการรุนแรงมากขึ้น จังหวัดที่มีการระบาดหนักคงต้องเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมโรคที่มากขึ้น
คืบหน้าผลิตยาฟาวิพิราเวียร์
ด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ขององค์การฯว่า อยู่ระหว่างนำไปศึกษาชีวสมมูลในอาสาสมัครสุขภาพดี เพื่อศึกษาความเท่าเทียมกันในการรักษาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ มีกำหนดจะแล้วเสร็จและยื่นข้อมูลขึ้นทะเบียนให้ อย.ประมาณ มิ.ย.-ก.ค. สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่าย ดำเนินการได้หลังการได้ทะเบียน ตำรับยาจาก อย. ในระยะยาวองค์การเภสัชฯ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บริษัท ปตท. จำกัด วิจัยและพัฒนากระ-บวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ในระดับห้องปฏิบัติการ ขยายขนาดการผลิตสู่กึ่งระดับอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนและการพึ่งพาตนเองด้านยาให้กับประเทศไทย
เลื่อนรายงานตัวทหารเกณฑ์ไป 1 ก.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่เสนอให้เลื่อนการรับ-ฝึกทหารใหม่ออกไปอีก 2 เดือน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายหลังกองทัพบกมีกำหนดให้ทหารกองเกิน เข้าเป็นทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2564 เข้ารายงานตัวยังหน่วยต่างๆในวันที่ 1 พ.ค. ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว. กลาโหม ได้อนุมัติเลื่อนการเข้ารายงานตัวของทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2564 ออกไป 2 เดือน โดยเลื่อนจากวันที่ 1 พ.ค.2564 ไปเป็นวันที่ 1 ก.ค.2564 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนลอตแรก
นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของสยามไบโอไซเอนซ์ พร้อมทยอยส่งมอบวัคซีนลอตแรกให้แก่รัฐบาลไทยภายในเดือน มิ.ย. โดยสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว นายเจมส์ยังได้กล่าวยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนว่า ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลอย่างละเอียดเคร่งครัดโดยหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศต่างๆ ทั้งนี้ วัคซีนของแอสตราเซเนกาได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
“ไฟเซอร์” พัฒนายาเม็ด
ด้านนายอัลเบิร์ต บัวร์ลา ประธานกรรมการบริหารของบริษัทเวชภัณฑ์ “ไฟเซอร์” สหรัฐอเมริกา ยังเปิดเผยด้วยว่า บริษัทอยู่ระหว่างทดสอบยาต้านไวรัสโควิด-19 แบบเม็ด ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ ใช้ชื่อรหัสเพียงว่า PF-07321332 มีรูปแบบการทำงานเข้าสกัดเอ็มไซม์ของไวรัส ไม่ให้ขยายตัวในร่างกาย โดยตัวยาอยู่ระหว่างการทดสอบระยะแรกกับอาสาสมัครกลุ่มเล็กที่มีสุขภาพดีในสหรัฐฯกับเบลเยียมมาตั้งแต่เดือน มี.ค. หลังก่อนหน้านี้การทดสอบกับสัตว์ไม่พบว่ามีผลข้างเคียง พร้อมหวังว่ายาจะมาช่วยพลิกสถานการณ์ ให้คนมีทางเลือกในการรักษาเพิ่ม ทั้งหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเดินทางไปโรงพยาบาล คาดว่าจะสามารถผลิตป้อนตลาดได้ภายในสิ้นปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนายาต้านไวรัสโควิด-19 อีกชนิดเช่นกันเป็นแบบ ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ แต่ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม
ปิดตลาดกิมหยงครั้งแรกรอบ 11 ปี
ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคุมไม่อยู่และพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยอดป่วยสะสมอยู่ที่ 515 คนแล้ว โดยเฉพาะใน อ.หาดใหญ่ พบผู้ป่วยมากที่สุด 402 คน และมีผู้เสียชีวิต ในวันที่ 28 เม.ย. มีการปิดตลาดกิมหยง ตลาดชื่อดัง ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมืองหาดใหญ่ รวม 3 วันตั้งแต่วันที่ 28-30 เม.ย. หลังจากพบพ่อค้าในตลาดกิมหยงติดเชื้อโควิด 1 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้ฉีดยาฆ่าเชื้อภายในตลาดกิมหยงทั้งสองชั้นและบริเวณโดยรอบเพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้บรรยากาศโดยรอบของตลาดกิมหยงเงียบเหงาอย่างหนักจากที่เคยคึกคักเพราะเป็นหนึ่งในตลาดที่เป็นแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยวของ จ.สงขลา เป็นตลาดที่จำหน่ายของฝากและสินค้าต่างแดนเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและผู้คนในพื้นที่ แม่ค้ารายหนึ่งบอกว่าเป็นครั้งแรกที่มีการปิดตลาดกิมหยงเพราะพิษโควิด นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2553 หรือ 11 ปีที่แล้ว ที่มีการปิดตลาดกิมหยงครั้งล่าสุด
เผาทันทีเจ้าอาวาสวัดมรณภาพ
ที่ จ.สุราษฎร์ธานี นายประเวศ ไทยประยูร รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี นพ.มนู ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นพ.ศักดิ์ชัย ตั้งจิตวิทยา ผอ.โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี แถลงมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายแรกของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี คือ พระอธิการทองสุข ฐิติญาโณ อายุ 56 ปี เจ้าอาวาสวัดกรวด ต.กะแดะ อ.กาญจนดิษฐ์ มีประวัติมีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดสมอง และโรคเกาต์ เริ่มป่วยวันที่ 21 เม.ย. เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ด้วยอาการไอ เจ็บคอ วันที่ 26 เม.ย. มีน้ำมูก มีเสมหะ ถ่ายเหลว หายใจลำบาก เอกซเรย์พบความผิดปกติในปอดส่วนล่าง ทั้งซ้ายและขวา แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาความดันต่ำลงไม่ตอบสนองและมรณภาพในที่สุด โดยผลตรวจพบเชื้อโควิดในวันที่ 28 เม.ย. หลังการมรณภาพเจ้าหน้าที่ได้บรรจุศพใส่ถุงซิป 3 ชั้น ทำการฌาปนกิจศพทันทีโดยไม่ใส่โลงนำเข้าเตา
“ชวน” แจกหน้ากากอนามัย
วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและคณะ นำหน้ากากอนามัย 6 พันชิ้นของมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม มามอบให้บุคลากรการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของ รพ.พัทลุง และ รพ.สนามอีก 1 แห่ง ขณะที่ในวันที่ 28 เม.ย. พบป่วยอีก 10 รายกับเสียชีวิต 1 รายอายุ 93 ปี ที่ป่วยติดเตียงและรับเชื้อจากบุคคลภายนอกและคาดจะพบผู้ป่วยอีกหลายราย ที่ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัว นอกจากนี้ จังหวัดพัทลุงยังประกาศล็อกดาวน์ 2 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง คือชุมชนบ้านหน้าท่าเรือและชุมชนบ้านหน้าเขาอกทะลุ ถนนเจริญดิษฐ์อินทร์ ต.คูหาสวรรค์ เป็นเวลา 14 วัน นอกจากนี้ นายชวนในฐานะประธานมูลนิธิเพื่อสังคมและการศึกษา พร้อมคณะ ยังลงพื้นที่จังหวัดตรังมอบหน้ากากอนามัยอีก 8 พันชิ้น
ให้ชาวตรังและเจ้าหน้าที่ อสม. 10 อำเภอในจังหวัด ส่วนผู้ติดเชื้อในจังหวัดตรังพบป่วยวันเดียวถึง 23 ราย ทำให้ยอดป่วยสะสมเป็น 94 ราย และ รพ.รัษฎาออกประกาศปิด รพ.ชั่วคราวหลังมีผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอรัษฎาติดโควิด
กาญจน์ติดเชื้อพุ่งลิ่ว 21 ราย
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 28 เม.ย. นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี ได้โพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “วันนี้โควิดเพิ่มอีก 10 คนที่ อ.หนองปรือ ครับ เกิดจากปาร์ตี้คนจากกรุงเทพฯติดเชื้อมาสังสรรค์กับเพื่อน ขอวิงวอนเลยครับช่วงนี้ แค่เพียงเข้มในการใส่หน้ากาก และลดการรวมกลุ่มมันไม่น่าจะยากนะครับ” ต่อมาเย็นวันเดียวกันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีได้รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 28เม.ย.ว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีก 21 ราย เป็นชาย 7 รายหญิง 14 ราย อายุต่ำสุด 9 ขวบ สูงสุด 62 ปี ยอดผู้ติดเชื้อสะสมห้วงเดือน เม.ย.64 รวม 109 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 28 ราย รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 81ราย
สาวโควิดราชบุรีดับ 1 ราย
ที่ จ.ราชบุรี สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่นิ่งโดยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ เสียชีวิต 1 ราย โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยรายแรกในการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ เป็นหญิง อายุ 35 ปี ชาวหมู่ 5 ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ การประปาส่วนภูมิภาค จ.ราชบุรีเป็นผู้ป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยันระลอกใหม่รายที่ 64 (พี่สาว) โดยตรวจพบยืนยันติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารักษาตัวที่ รพ.ราชบุรี วันที่ 11 เม.ย. จนวันที่ 15 เม.ย.มีอาการปอดติดเชื้อ แพทย์ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้อาหารทางสายยาง วันที่ 27 เม.ย. เวลาประมาณ 21.00 น. ผู้ป่วยได้เสียชีวิตลง
สระแก้วติดใหม่ 5 รายมีเด็กด้วย
ที่จังหวัดสระแก้วมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 รายมาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาลและการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน เป็นชาย 5 ราย หญิง 3 ราย อายุระหว่าง 21-40 ปี ในจำนวนนี้มีเด็กหญิงอายุ 2 ขวบ 8 เดือน ทำให้การระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 4-27 เม.ย. มีผู้ป่วยสะสม 306 ราย เข้ารักษาตัวอยู่ในสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน และโรงพยาบาลสนามรวม 164 ราย รักษาหายแล้ว 142 ราย ภาพรวมตอนนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของจังหวัดสระแก้วเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิงโบว์ลิ่งผับ 60 ราย รองลงมาเป็น REV UP ผับ 40 ราย งานบวชบ้านสันติสุข ตำบลผ่านศึก อ.อรัญประเทศ 50 ราย ร้านเกอิชา คาราโอเกะ อรัญประเทศ 17 ราย ร้านโรงพักอรัญ 13 ราย ผับที่พัทยา 10 ราย เที่ยวอ่างเก็บน้ำพระปรง อ.วัฒนานคร 6 ราย งานแต่งที่หน้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอรัญประเทศ 3 ราย จากพื้นที่เสี่ยงใน กทม. 8 ราย ส่งตัวกลับจากกัมพูชามารักษาที่ไทย 2ราย และอื่นๆ 60 ราย
ชลบุรีปรับ 3 ระดับไม่ใส่แมสก์
ที่บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านชากพุดซา ต.ห้วยกะปิ อ.เมือง จ.ชลบุรี นายอุทัย สิทธินิสัยสุข กำนันตำบลห้วยกะปิ พร้อมผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน มาตั้งจุดเตือนบรรดาผู้ขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย และพบว่ายังมีผู้ฝ่าฝืน
จำนวนมาก จึงได้ตักเตือนพร้อมทั้งแจกหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ กำชับให้ใส่ เวลาขับรถและขี่รถจักรยานยนต์ หากพบอีกจะถูกจับและปรับครั้งแรก 6,000 บาท ครั้งที่สอง 12,000 บาท ครั้งที่สาม 20,000 บาท
บิ๊กแจ๊สจัดรถบริการตรวจหาเชื้อ
วันเดียวกัน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพร้อมด้วยหน่วยตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ของ อบจ. ปทุมธานี มาตรวจคัดกรองแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและบุคคลทั่วไปที่ อบต.คลองสาม อ.คลองหลวง
จ.ปทุมธานี โดยมี ผศ. (พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายก อบต.คลองสาม อำนวยความสะดวกประชาชนจำนวนมากที่มารับการตรวจ ผศ. (พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ตำบลคลองสามมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม เป็นจำนวนมาก อยู่ในขั้นวิกฤติ อบจ.ปทุมธานี จึงนำเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์มาบริการประชาชน
รอดตายโควิดมอบเครื่องช่วยหายใจ
ที่โรงพยาบาลบางปะกอก-รังสิต 2 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นพ.วิชัย เดชะทัตตานนท์ ผอ.รพ.บางปะกอก-รังสิต 2 นพ.เอกวิทย์ เจริญวานิช แพทย์หญิง พิมพ์จิรา กนกทิพากร รับมอบเครื่องช่วยหายใจจากนายสิทธิชัย มหาชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทธนา เซอร์วิส แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด ไว้ช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤติปอดอักเสบติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นายสิทธิชัยกล่าวว่า ได้รับการตรวจจาก โรงพยาบาลพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ครอบครัวหาโรงพยาบาลเพื่อรักษาแต่หาเท่าไหร่ก็ไม่มีเตียง เวลานั้นตนอยู่ในขั้นวิกฤติ เชื้อลงปอดแล้ว ต่อมาได้เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลบางปะกอกและรอดตายมาได้ ระหว่างรักษาต้องใช้เครื่องหายใจ ตลอดเวลา หลังรักษาหายจึงมีความประสงค์ที่จะมอบ เครื่องช่วยหายใจแก่โรงพยาบาลเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป
นนทบุรีอ่วมติดอีก 122 ราย
ศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 จ.นนทบุรี รายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 122 ราย ส่วนมากเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงและผู้สัมผัสใกล้ชิด เป็นหญิง 67 ราย ชาย 55 ราย ชาวจีน 1 ราย ลาว 1 ราย เมียนมา 2 ราย พื้นที่ภูมิลำเนา อำเภอปากเกร็ด 33 ราย บางบัวทอง 30 ราย อำเภอเมือง 28 ราย อำเภอบางใหญ่ 16 ราย อำเภอบางกรวย 14 ราย อำเภอไทรน้อย 1 ราย ผู้ป่วยแสดงอาการ 76 ราย ไม่แสดงอาการ 46 ราย ความสัมพันธ์เชื่อมโยง 1.สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งเป็นผู้ป่วยก่อนหน้า จำนวน 118 ราย 2.สถานบันเทิง กทม. 3 ราย 3.ตรวจก่อนผ่าตัด 1 ราย
ตร.สนับสนุนเปิดสายด่วน 191
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. นำคณะแถลงข่าวเปิดศูนย์191 เพิ่มช่องทางในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อ ข้อมูลให้หน่วยงานทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. มีทั้งหมด 1,200 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 24 ชม. ใช้ระบบ Government Big Data institute (GBDi) เป็นระบบฐานข้อมูลรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากนี้ยังสนับสนุนรถยนต์ 5 คันพร้อมพลขับปฏิบัติภารกิจรับส่งผู้ป่วย กรณีไม่ยินยอม เข้ารับการรักษา หรือกักตัว มีตำรวจร่วมกับเจ้าพนักงานควบคุมโรค ชี้แจงทำความเข้าใจ เชิญตัวผู้ป่วย หรือผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค หากผู้ป่วยเจตนาหลบเลี่ยงการติดต่อจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค เช่น ปิดโทรศัพท์ หรือ จงใจไม่รับโทรศัพท์ ตำรวจจะช่วยสนับสนุนสืบสวนนำตัวผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษา
กทม.เร่งฉีดวัคซีน
ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการให้บริการวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 ในเดือน มิ.ย. สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค อาทิ ตำรวจ ทหาร พนักงานกวาด และเก็บขนขยะ เจ้าหน้าที่ด่านท่าเรือคลองเตย เจ้าหน้าที่ สถานกักตัวทั้งในส่วนของ SQ, ASQ และ LQ เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและประชาชนทั่วไป หน่วยบริการที่ประชาชนไปรับบริการได้คือใน โรงพยาบาล และหน่วยบริการนอกโรงพยาบาล ในพื้นที่ กทม. ที่เป็นหน่วยฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 14 แห่ง ได้แก่ เอสซีจี บางซื่อ เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว เดอะมอลล์ บางกะปิ โรบินสัน ลาดกระบัง โลตัสมีนบุรี สามย่านมิตรทาวน์ True Digital Park ธัญญาพาร์ค เอเชียทีค เซ็นทรัลสาขาปิ่นเกล้า ไอคอนสยาม PTT Station พระราม 2 เดอะมอลล์สาขาบางแค ห้างบิ๊กซีบางบอน