การระบาดไวรัสร้าย “โควิด-19” ทั่วทุกมุมโลก ข้อมูลตัวเลข “ผู้ติดเชื้อ”...เมื่อเช้าวันที่ 26 เมษายน 2564 พุ่งทะยานไปแล้วกว่า 146 ล้านราย...กำลังรักษาตัว 59 ล้านคน ...รักษาหายแล้ว 84.6 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 3.1 ล้านคน

“ประเทศไทย” อยู่อันดับ 105 ของโลก มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 55,460 ราย รักษาหาย 31,113 ราย เสียชีวิต 140 ราย การระบาดอยู่ในช่วงน่ากังวล จนมีเสียงกระชุ่นเตือนออกมาดังๆ

...กลัวว่า “ระบบสาธารณสุข” จะล่ม

ข้อแนะนำไม่แบบซ้ำเติม แชร์ส่งต่อกันมาให้เครดิตต้นทางจาก “ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ถึงรัฐบาล” ระบุว่า จากคนทำงาน เห็นด้วยครับว่าน่าจะชี้แจงว่า “การจัดเตียงว่าง” คืออะไร

จะได้เข้าใจกันทั้งประเทศและคลายกังวลไปได้ โดยเฉพาะที่เราเห็นในหน้างานยังดูสถานการณ์รุนแรงมาก ต้องเข้าใจครับว่าคนไข้หนึ่งรายเข้าไปไม่ใช่มีคนไม่กี่คนที่ต้องรับผิดชอบ

เพราะลักษณะเป็นคนติดเชื้อ จะดูแลยากกว่าธรรมดาหลายเท่า โดยเฉพาะถ้าอาการหนักแล้วต้องประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่มซึ่งมีไม่พออยู่แล้วและต้องใช้เครื่องมือมหาศาล

...

เรียนคุณ...นะครับที่ให้ความเห็นมา เราไม่มีพวกนะครับ กราบเถอะครับ เข้ามาดูสถานการณ์จริงๆ เราต้องดูคนไข้อื่นๆทางสมองที่ไม่ใช่โควิดและรับผิดชอบในการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งโควิดและไม่ใช่โควิด ไม่มีการเมืองครับ ตอนนี้เต็มกลืนจริงๆ

อีกทรรศนะต่อมา...สิ่งที่ “ผู้บริหาร” สถานการณ์โควิด-19 ต้องทำตอนนี้ หนึ่ง...เพิ่มเตียงรับผู้ป่วย จะเพิ่มเตียงใหม่ หรือใช้เตียงเดิมให้มีประสิทธิภาพก็ได้

สอง...ต้องมีการบริหารจัดการผู้ป่วยที่รอเตียงให้ชัดเจน เช่น ตรวจผลเป็นบวก รพ. A และรอเตียงก็ต้องเป็นหน้าที่ของ รพ. A ไปติดตามดูแลอาการที่บ้านให้ด้วย จะเป็นรูปแบบเทเลเมดิซีน หรือทีมเยี่ยมบ้านก็ได้...ถ้า รพ. A ทำไม่ไหว ก็ร่วมมือกับ รพ. B หรือสร้างเครือข่าย

ไม่ใช่ปล่อยให้ “ผู้ป่วย” เผชิญชะตากรรม ชีวิตฝากความหวังไว้กับเสียงตอบรับทางโทรศัพท์

สาม...ปลดล็อก อนุญาตให้ใช้ Favipiravir ที่บ้านได้ เพื่อรักษา...เคสที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง...ภาวะร่วม...โรคร่วมสำคัญ หรือเคสที่มีความเสี่ยงปานกลาง ไม่ให้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงรุนแรง

ทั้งหมดนี้พวกแพทย์ทำกันเองไม่ได้ คนที่เป็น “authorities”... ระดับประเทศ ต้องมองเห็น และดำเนินการ สถานการณ์วันนี้อาจจะกล่าวแบบแรงๆได้ว่า...“ทำไม่เป็นก็ออกไป เลี้ยงเสียข้าวสุก”

สองกรณีข้างต้นสะท้อนสถานการณ์ระบาดช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวย้ำว่า แก้ปัญหาให้ได้ต้องอยู่ที่การยอมรับก่อน

เริ่มจาก...ยอมรับว่ามีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแต่แพร่เชื้อได้มีอยู่มาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน

ถัดมา...ผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวที่มีปริมาณเข้มข้นขึ้นเหล่านี้ เมื่อเข้าไปในสถานบริการที่เปรียบเสมือนเป็น “หม้อเพาะเชื้อ” ยกตัวอย่างใน 100 คน กรณีในสถานบริการที่ไม่มีวินัยใดๆทั้งสิ้น มีผู้ที่แพร่เชื้ออยู่ได้ในนั้นสี่ถึงห้าคน ไม่ใช่คนเดียว ประสิทธิภาพในการแพร่จะยิ่งเก่งเป็นทวีคูณ

และเหตุการณ์ที่ผ่านมา สถานบันเทิงเป็นแค่ “หม้อเพาะเชื้อ” ให้เพิ่มปริมาณและกระจายไปทุกพื้นที่ในประเทศไทย...ข้อที่สาม เชื้อไม่ว่าจะเป็นกลุ่มดั้งเดิม เป็นกลุ่มใหม่ ไม่ว่าในทางทฤษฎีจะแพร่เร็วกว่าหรือไม่ ประเด็นสำคัญคือ “การหยุด” การแพร่เชื้อให้ได้โดยเร็วที่สุด

ข้อที่สี่...การหยุดการแพร่เชื้อในส่วนที่ทางการต้องทำคือการตรวจคัดกรองที่สมาร์ท

คำว่า “คัดกรอง” คือหลุดไม่ได้ เป้าหมายคือแม้แต่คนเดียวก็ตาม และคำว่า “สมาร์ท” คือต้องมีความสะดวก เข้าถึงราคาถูกประหยัด ง่าย รู้ผลเร็ว

...

ข้อที่ห้า...ต้องยอมรับว่าการแยงจมูกกระทำได้ด้วยความยากลำบาก ทั้งคนปฏิบัติหน้างาน และในห้องแล็บ ต้องมีเจ้าหน้าที่ประกบกันอย่างน้อยสองถึงสี่คนขึ้นไป แต่กว่าจะทราบผลขึ้นอยู่กับจำนวนตัวอย่าง ความสามารถของห้องปฏิบัติการ ของคนทำ ของเครื่องมือ ของน้ำยานับรวมไปถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นและความเร็ว จะขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้...ให้รู้ว่าเครื่องอัตโนมัติทำได้วันละ 1,000 ตัวอย่างดี แต่ถ้าน้ำยาไม่ส่งเครื่องหยุดทำงานระบบสายพานจะสะดุดทันที

ข้อที่หก...การแยงจมูก “ครั้งเดียว” ไม่ยืนยันว่าคนนั้นไม่ได้ติดเชื้อ เพราะเชื้อในขณะที่ตรวจอาจไม่พบได้ ถามตัวเองว่า...ทำไม? คนที่มาจากต่างประเทศจึงต้องกักตัว 14 วันและต้องแยงจมูก 3 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจ และขณะนี้ทำไมถ้าแยงครั้งเดียวบอกว่าไม่ติด และที่ผ่านมาจะหลุดไปเพียงใด

ข้อที่เจ็ด...ยอมรับว่าเราต้องการให้คนไทยได้วัคซีนให้มากที่สุดและกรณีของโควิด-19 ไม่ใช่เพียง 60-70% เท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมดแต่เมื่อติดเชื้อแล้วไม่ตายและโอกาสปล่อยเชื้อออกมาจากตัวจะสั้นลงและปริมาณน้อยลง

เท่ากับเรา “สู้” กับ “ศัตรูโควิด” ได้เท่าเทียมกันแล้ว

...

ข้อที่แปด...นั่นเป็นเหตุผลว่าถ้าวัคซีนยังฉีดได้ไม่เร็วพอ ไม่ครบ และถึงแม้ครบคนไทยเกือบทุกคนแล้วก็ตาม ยังคงต้องมีวินัยส่วนตน รักษาระยะห่างอยู่เหมือนเดิมจนกว่าจะพิสูจน์แล้วว่าประเทศไทยสะอาดโดยที่ “ต้อง” มีการตรวจคัดกรองอยู่ตลอดเวลาในทุกพื้นที่ ข้อที่เก้า ...ทำไมต้องตรวจตราคัดกรองตลอดเวลา นั่นคือ “แคร์คนติดเชื้อ” ที่ “ไม่มีอาการ” ก็ต้องกลับไปดูที่ข้อหนึ่งและข้อสอง ไม่เช่นนั้นก็จะวนเวียนซ้ำซากอยู่

ประการสำคัญ...ก็คือการ “ปล่อย” ให้มีการ “แพร่” ออกไปอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะเปิดโอกาสให้เชื้อโควิดมีการปรับตัว หลบหลีกการตรวจหาเชื้อ แน่นอน...ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงอย่างมากมาย

ข้อสุดท้าย...ข้อที่สิบ จบที่ยอมรับ ปรับใจ ปรับตัวเพื่อการแก้ไขร่วมมือกันที่ถูกต้อง การแก้ไขไม่ใช่แก้ไขเฉพาะหน้าแต่ต้องดูมูลเหตุ กระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมา

ปิดท้ายด้วย “6 อย่า” คาถาป้องกันโควิด-19 ...“อย่า” ทะนงตนว่าเป็นหนุ่มสาวหรือไม่มีโรคประจำตัวแล้วไม่เป็นไร นอกจากจะเป็นตัวแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังเสี่ยงอาการหนักได้

...

“อย่า” คิดว่าเมื่อติดเชื้อแล้วและเริ่มมีอาการ จะรักษาง่ายๆ...“อย่า” คิดว่ามียาต้านไวรัสแค่นั้นก็พอ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นจำเป็นต้องให้ยากดการอักเสบซึ่งทำให้ติดเชื้ออื่นได้ง่ายขึ้นจากการกดภูมิคุ้มกัน

ปอดอักเสบที่เห็นนั้นจะกลายเป็นทั้งจาก “ไวรัส” และ “แบคทีเรีย” ซ้ำซ้อน

“อย่า” คิดว่าถ้าตัวเลขลดลงหมายความว่าต่อไปนี้ไม่ต้องระวังตัวแล้ว... “อย่า” เข้าไปในสถานที่แออัด ที่อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก โอกาสที่จะได้รับเชื้อยิ่งสูงขึ้นและจำนวนเชื้อมากขึ้น...“อย่า” นิ่งนอนใจในภาวะโรคประจำตัวทุกอย่าง ต้องคุมให้ได้ โรคประจำตัวจะเปิดโอกาสทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

สรุปสั้นๆว่า...ต้องรักษาตัวให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการเอาตัวเข้าไปในที่เสี่ยง “ช่วยตัวเองได้” เท่ากับ “ช่วยคนไทยทั้งประเทศ”.