• "กลาโหม" ได้ยกไวรัสร้าย โควิด-19 ให้ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ "เหล่าทัพ" มีภารกิจร่วมกันเพื่อคุมการแพร่ระบาด
  • ผบ.ทหารสูงสุด นำทุกเหล่าทัพบูรณาการจัดตั้ง ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล
  • ทหาร เปิดหน่วยจัดตั้ง รพ.สนาม เตียงสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยและสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข พร้อมนำศักยภาพที่มีอยู่เข้าช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ถูกยกให้เป็น "ภัยคุกคามรูปแบบใหม่" แล้ว เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะรมว.กลาโหม ได้ประกาศในที่ประชุมสภากลาโหม ที่มี ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. และบิ๊กทหาร ร่วมประชุม พร้อมเรียกร้องให้ "กองทัพ"นำศักยภาพความพร้อมที่มีอยู่ เข้าไปช่วยสนับสนุนการทำงาน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ประชาชนมีความปลอดภัย และใช้ชีวิตตามมาตรการควบคุมที่กำหนด

เพราะหลังจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเชื้อได้แพร่กระจายจนครบทุกจังหวัดของประเทศไทย ขณะที่การบริหารจัดการดูแลผู้ป่วย ผู้เริ่มป่วย ผู้สัมผัสเสี่ยง ทั้งในเรื่องการเตรียมการ บุคลากร โรงพยาบาล หรือการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการตัดสินใจในเคสเร่งด่วน ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ และล่าช้า

...

ในที่สุด "กองทัพ" จึงต้องโดดเข้ามารับบทบาทหน้าที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 ทั้งการจัดตั้ง รพ.สนาม เตียงสนาม รวมถึงการระดมแพทย์ทหาร พยาบาลทหาร หน่วยเสนารักษ์ และการเปิดค่ายทหารรองรับการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด โดยมีกำลังพล เจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง และเปิดสายด่วนรับเรื่องตลอด 24 ชม.

ขณะที่ภาพรวมทั้ง กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เดินหน้าช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติ พร้อมจัดตั้ง "ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19" ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ณ กรมยุทธบริการทหาร โดยมี พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) เป็นผู้ขับเคลื่อนและบูรณาการการใช้ยานพาหนะของกองทัพเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล

หน.ศปม.จัดยานพาหนะสนับสนุนการเคลื่อนย้ายช่วยเหลือผู้ป่วย ทบ.เสริมรถ 103 คันดูแล กทม.และปริมณฑล

โดยศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้จัดยานพาหนะที่ใช้พร้อมใช้งานทันที 31 คัน โดยจัดจาก กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 15 คัน กองทัพบก จำนวน 10 คัน กองทัพเรือ จำนวน 3 คัน และกองทัพอากาศ จำนวน 3 คัน พร้อมสนับสนุนศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ และเพิ่มเติมอีกจำนวน 21 คัน ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 10 คัน กองทัพบก จำนวน 5 คัน กองทัพเรือ จำนวน 3 คัน และกองทัพอากาศ จำนวน 3 คัน ได้มีการจัดหมุนเวียนปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ เป็นประจำทุกวัน

จัดยานพาหนะที่พร้อมปฏิบัติเมื่อสั่งอีก 16 คัน โดยจัดจากกองทัพบก จำนวน 10 คัน กองทัพเรือ จำนวน 3 คัน และกองทัพอากาศ จำนวน 3 คัน รถพยาบาล จากกองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 4 คัน กำลังพล จากสำนักงานแพทย์ กรมยุทธบริการทหาร โดยมีการประสานนำส่งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ตามที่กำหนด ซึ่งกำลังพลและเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความเข้าใจในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ในงานบริการดูแลผู้ป่วยที่เดือดร้อน ให้กำลังพลที่เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ถือเป็นผู้เสียสละ โดยกองทัพสนับสนุนอาหารครบทั้ง 3 มื้อ ห้องพักผ่อนเพื่อให้ได้รับความสะดวกตามความเหมาะสม

...



นอกจากนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ยังจัดตั้ง "ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19" ส่วนกองทัพบก พร้อมส่งยานพาหนะเข้าร่วมปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของกระทรวงสาธารณสุขอีกทาง เพื่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อให้มีประสิทธิภาพ ในกรณีฉุกเฉิน

โดยมอบให้ "ศบภ.ทบ." บูรณาการศักยภาพด้านการขนส่ง และการบริหารจัดการด้านการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยจัดยานพาหนะ 103 คัน เป็นรถโดยสารขนาดเล็กจำนวน 35 คัน และรถยนต์บรรทุกปกติขนาดเล็ก "ปิกอัพ" จำนวน 68 คัน พร้อมกำลังพลประจำรถที่ผ่านการฝึกอบรมในเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ และมอบให้กองทัพภาคที่ 1 กรมการขนส่งทหารบก หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก รับผิดชอบดำเนินการและยานพาหนะทุกคัน กรมวิทยาศาสตร์ทหารบกได้เข้ามาทำความสะอาดเพื่อให้ปลอดเชื้อพร้อมออกปฏิบัติภารกิจต่อเนื่อง


ทบ. ตั้ง รพ.สนาม 7 แห่ง กทม. ประจวบฯ และสงขลา พร้อมระดมทีมแพทย์

...

ขณะเดียวกันการระบาดโควิดระลอกใหม่ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนโรงพยาบาลทั่วไปทั้งของรัฐและเอกชนไม่เพียงพอต่อการรองรับดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ติดเชื้อหลายรายไม่สามารถเข้ารับการรักษาหรือดูแลในโรงพยาบาลได้ "กองทัพบก" จึงจัดเตรียมสนับสนุน รพ.สนาม โดยใช้อาคาร สถานที่ในหน่วยทหาร และสิ่งอุปกรณ์ที่มีอยู่ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในขั้นต้นแล้ว จำนวน 19 แห่ง รองรับผู้ติดเชื้อได้ 3,050 เตียง ซึ่งปัจจุบัน รพ.สนามของกองทัพบกได้เปิดดำเนินการแล้ว 7 แห่ง โดยมอบให้ กระทรวงสาธารณสุข เข้าบริหารจัดการแล้ว 3 แห่ง ได้แก่

โรงพยาบาลสนามกองทัพบก "กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1" รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 300 เตียง โดยกระทรวงสาธารณสุข มอบให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจัดบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาบริหารจัดการ ทบ.ช่วยอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัยสถานที่ที่เป็นการทำงานในลักษณะกองอำนวยการร่วม

แห่งที่ 2 คือ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก "ศูนย์การทหารราบ" จ.ประจวบคีรีขันธ์ รับผิดชอบการดำเนินงานโดยโรงพยาบาลค่ายธนะรัชต์ รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 100 เตียง 

...

แห่งที่ 3 คือ คือ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก "กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 5" จ.สงขลา รองรับผู้ติดเชื้อได้ 100 ราย 

กรมพลาธิการ มทบ.11 พล.ร.15 ปรับหน่วยตั้งเป็น รพ.สนาม ส่วน รพ.พระมงกุฎฯ จัดเตียงรองรับกำลังพล ครอบครัว

ส่วนโรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กรมพลาธิการทหารบก) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 200 เตียง โดยหลังกระทรวงสาธารณสุขเข้าตรวจสอบพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายเพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติม ยังไม่มีผู้ป่วยเข้าพัก อยู่ระหว่างการปรับปรุง นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียม โรงพยาบาลสนามกองทัพบก "กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15" จ.กระบี่ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 280 ราย โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กองพลทหารราบที่ 15) จ.สงขลา สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 100 ราย และโรงพยาบาลสนามกองทัพบก "กองพันเสนารักษ์ที่ 1" จ.ลพบุรี สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 150 ราย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วยเข้าพัก

และที่เพิ่มข้ามาคือการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามกองทัพบก "มณฑลทหารบกที่ 11" ที่กระทรวงสาธารณสุขเข้าตรวจสอบความคืบหน้า และยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้เหมาะสมตามคำแนะนำของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งจะจัดบุคลากรทางการแพทย์เข้าบริหารจัดการ โดยมีการแบ่งสัดส่วนชัดเจนเพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลสนามกองทัพบก "เกียกกาย" ซึ่งกองทัพบกบริหารจัดการเอง ดำเนินการโดย ศบค.19 ทบ. และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รองรับผู้ติดเชื้อได้ 137 ราย เพื่อรองรับกำลังพลและครอบครัว เป็นการลดภาระของโรงพยาบาลสาธารณสุขและรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการทุเลาแล้วจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 

ทร. เปิด 3 หน่วยตั้ง รพ.สนาม เปลี่ยนสโมสรกรมแพทย์ เป็นหอผู้ป่วยปิ่นเกล้า

ขณะที่ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. ได้สั่งการให้ หน่วยกองทัพเรือ ทั้ง 3 แห่ง ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว จังหวัดชลบุรี) หน่วยบัญชาการกองพลนาวิกโยธิน (ค่ายมหาเจษฎาฯ จังหวัดชลบุรี) และสนามฝึก กองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี จัดตั้งเป็น รพ.สนาม โดยมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 726 เตียง

พร้อมให้ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ปรับเปลี่ยนสโมสรกรมแพทย์ทหารเรือ ให้เป็น "หอผู้ป่วยปิ่นเกล้า" สำหรับเป็นหอผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 เพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับผู้ป่วยของทางโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 40 เตียง โดยนำกำลังพลจากกรมช่างโยธาทหารเรือ และกรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ จัดเตรียมสถานที่และความพร้อมในการให้บริการ โดยหอพักผู้ป่วยนี้จะรับเฉพาะผู้ป่วยเพศชาย ทั้งที่เป็นกำลังพลของกองทัพเรือ รวมถึงประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ยังให้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นโรงพยาบาลหลักสามารถให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีหอผู้ป่วยวิกฤติ ห้องแรงดันลบ หอผู้ป่วยรวม และห้องแยก มีขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษา ตั้งแต่อาการเล็กน้อย จนถึงขั้นวิกฤติ

ส่วนโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ และโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ มีขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย โดยเน้นในการดูแลในส่วนของกำลังพลกองทัพเรือเป็นหลัก และดูแลเฉพาะโรค จัดตั้งคลินิก โรคระบบทางเดินหายใจ ในพื้นที่หน่วยแพทย์ปฐมภูมิ ที่มีนายแพทย์ปฏิบัติงาน และยังให้จัดตั้งคลินิกให้บริการวัคซีน โควิด ให้กับกำลังพล และประชาชนทั่วไป มีการจัดทีมสอบสวนโรค เมื่อพบผู้ป่วยต้องสงสัยในพื้นที่ที่กองทัพเรือรับผิดชอบ และให้มีการจัดทีมคัดกรอง และตรวจ เมื่อได้รับการประสานให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมกับหน่วยงานภายนอก

"ทัพฟ้า" เนรมิตสนามกีฬาจันทรุเบกษา เป็น รพ.สนาม รองรับ 120 เตียง

ในส่วน พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับขีดจำกัดของสถานพยาบาลต่างๆ โดยโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ (ดอนเมือง) ขึ้นบริเวณพื้นที่อาคารฝึกและทดสอบสมรรถภาพทหารอากาศ 2 สนามกีฬาจันทรุเบกษา รองรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและสามารถดูแลตัวเองได้ สามารถรองรับผู้ติดเชื้อทั้งประชาชนและกำลังพลของกองทัพอากาศได้จำนวน 120 เตียง

มีการแบ่งโซนการเฝ้าระวังของผู้ป่วยชายจำนวน 70 เตียง และโซนการเฝ้าระวังของผู้ป่วยหญิง จำนวน 50 เตียง โดยมีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แต่ละเตียงเรียบร้อย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง การรักษาความปลอดภัยภายในอาคารด้วยการ CCTV รอบอาคาร 22 จุด และเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารอากาศ ดูแลรักษาความปลอดภัยภายนอกอาคาร พร้อมกันนี้ได้นำ "น้องถาดหลุม" หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช มาใช้ในการลำเลียงอาหาร ยา เสื้อผ้า ให้แก่ผู้ติดเชื้อเพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ขณะเดียวกันได้เปิดหน่วย โรงเรียนการบินกำแพงแสน จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นสถานที่รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน จ.นครปฐม โดยได้เตรียมอาคารไว้ 2 หลัง แยกหญิงชาย ใช้ระบบการรักษาเช่นเดียวกับ รพ.สนาม ใน จ.สมุทรสาคร มาดำเนินการ ใช้ระบบ CCTV เข้ามาใช้ตรวจสอบการพักรักษาตัวของผู้ติดเชื้อ มีการแยกสัดส่วนชัดเจน คือ เรือนนอน ห้องอาบน้ำ ห้องซักล้าง และพื้นที่ทิ้งขยะติดเชื้อ

"กลาโหม" ชื่นชม "เหล่าทัพ" ตั้ง รพ.สนาม รองรับผู้ป่วยโควิด

ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม เผยภาพรวมสถานภาพโรงพยาบาลสนาม ที่กลาโหม มอบหมายเหล่าทัพเร่งจัดตั้งขึ้นสนับสนุน กระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดต่างๆ รวม 24 แห่ง จำนวน 3,725 เตียง ปัจจุบันอยู่ในสถานะพร้อมใช้งาน และในต่างจังหวัดอีก 2 พันเตียง รวมแล้วเบื้องต้นรองรับได้เลย 5 พันเตียง

นอกจากนี้ "กลาโหม" ให้กองทัพสนับสนุน กำลังพล ยานพาหนะ เตียง และเครื่องใช้ กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดตั้ง รพ.สนาม ในพื้นที่ต่างๆ โดย รพ.สนาม จะทำงานร่วมกับ รพ.หลักในพื้นที่ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงความคล่องตัวในการส่งตัวผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.เข้ารับการรักษา ทั้งให้นำศักยภาพด้านต่างๆ และทรัพยากรที่กองทัพมีอยู่ ระบบการติดต่อสื่อสาร อุปกรณ์ เตียงสนาม เต็นท์สนาม อาคารโรงเรือน สโมสร อาคารอเนกประสงค์ ที่มีอยู่ในหน่วยทหาร รวมถึงการนำรถยนต์ทหารที่ประจำการอยู่มาดัดแปลงเพื่อใช้เป็นรถส่งผู้ป่วย

ที่สำคัญ "กองทัพ" ยังรวมศูนย์การขนส่งและเคลื่อนย้าย เตรียมบุคลากร และกำลังสำรองที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเสริมงานการดูแลช่วยเหลือประชาชนโดยมีนักเรียนด้านต่างๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักศึกษาวิชาทหาร จิตอาสา และหน่วยทหารเตรียมรถครัวสนาม พร้อมส่งไปช่วยเหลือในโรงพยาบาลสนามหากได้รับการร้องขอ

ทั้งหมดนี้คือบทบาท "กองทัพ" กับภารกิจรับมือเชื้อร้าย "โควิด-19" ที่เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยทุก "เหล่าทัพ" เดินหน้าช่วยเหลือในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยสู่จุดหมายร่วมกันในการรอดพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างดีที่สุด

ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว

กราฟิก : sriwon singha