ไทยอ่วมรายวัน ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 พุ่งทะลุใกล้แตะ 3 พันคน ตายเพิ่มอีก 8 ศพ ส่วนใหญ่เสียชีวิตหลังติดเชื้อไม่นาน ด้านนายกฯโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กสั่งเพิ่มเตียง-สายด่วน จ่อลดวันกักตัวใน รพ.เหลือ 10 วัน จากนั้นให้ไปกักตัวต่อที่บ้าน พร้อมให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ยกระดับมาตรการป้องกันโรค ทั้ง ปิดสถานที่รวมถึงกำหนดเคอร์ฟิวได้ในบางพื้นที่ “นนทบุรี” นำร่อง ขอความร่วมมืองดออกนอกเคหสถาน 3 ทุ่ม-ตี 4 หลังพบผู้ติดเชื้อยังเกิน 100 คนต่อเนื่อง และมี 43 จังหวัดเอาจริงปรับ 2 หมื่นหากออกนอกบ้านไม่สวมแมสก์ ขณะที่ “ภูเก็ต” ประเดิมโมเดลใหม่รับการเปิดเกาะ จับมือแล็บเอกชน ดักแต่ต้นทาง คนจากจังหวัดโซนสีแดง เข้าพื้นที่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด 20 นาทีรู้ผล

ในขณะที่ยอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทยพุ่งเฉียดสามพันคนในวันเดียว และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มสูงสุดเท่าที่เคยมีการระบาดในไทย ทำให้นายกรัฐมนตรี เปิดทางให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก บริหารจัดการสถานการณ์ได้ตามความเหมาะสม

ติดเชื้อพุ่ง 2,839 ตายนิวไฮ 8 ศพ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,839 คน ซึ่งตัวเลขเพิ่มขึ้นจริง แต่เป็นตัวเลขสะสมค้างเก่าที่เพิ่งสะสางไม่ให้มีการซ้ำซ้อนของข้อมูล โดยตัวเลขการติดเชื้อในประเทศ 2,827 คน และมาจากต่างประเทศ 12 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 53,022 คน รักษาหายป่วยเพิ่ม 377 คน หายป่วยสะสม 30,566 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 22,327 คน อาการหนัก 418 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 113 คน เสียชีวิตเพิ่ม 8 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 2 คน ยอด เสียชีวิตสะสม 129 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 1,095,445 โดส

...

คนตายสูงวัย-มีโรคประจำตัว

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 8 คน อยู่ใน กทม. 3 คน สมุทรปราการ 2 คน นนทบุรี ฉะเชิงเทรา และนครสวรรค์ จังหวัดละ 1 คน ดังนั้น คนแรกเป็นชายไทย อายุ 48 ปี จ.สมุทรปราการ ประวัติไปสถานบันเทิงย่านศรีนครินทร์ และมีโรคประจำตัวเป็นโรคอ้วน เมื่อวันที่ 12 เม.ย. มีไข้ เจ็บคอ ถ่ายเหลว เมื่อวันที่ 18 เม.ย.พบเชื้อและปอดอักเสบ และเมื่อวันที่ 22 เม.ย.เสียชีวิตในเวลา 18.47 น. คนที่ 2 หญิงไทย อายุ 83 ปี กทม. มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันใน กทม. โรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. มีไข้ อ่อนเพลีย เมื่อวันที่ 18 เม.ย.พบเชื้อ และเมื่อวันที่ 22 เม.ย.เสียชีวิตในเวลา 21.05 น.

เสียชีวิตหลังพบติดเชื้อไม่นาน

คนที่ 3 เป็นชายไทย อายุ 89 ปี อยู่ใน กทม.เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นโรคมะเร็งลำไส้ และมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.มีไข้ ไอ หายใจลำบาก และเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ผลพบเชื้อ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน คนที่ 4 ชายไทย อายุ 63 ปี กทม.ประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน มีโรคความดันโลหิตสูงและเกาต์ พบเชื้อวันที่ 22 เม.ย.เสียชีวิตวันที่ 23 เม.ย. คนที่ 5 ชายไทย อายุ 68 ปี จ.ฉะเชิงเทรา มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน พบเชื้อวันที่ 11 เม.ย.เสียชีวิตวันที่ 22 เม.ย. คนที่ 6 หญิงไทย อายุ 82 ปี จ.สมุทรปราการ มีโรคมะเร็ง ปากมดลูก และมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน พบเชื้อวันที่ 14 เม.ย.เสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย. คนที่ 7 ชายไทย อายุ 75 ปี จ.นครสวรรค์ มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน พบเชื้อวันที่ 11 เม.ย.เสียชีวิตวันที่ 22 เม.ย. และคนที่ 8 ชายไทยอายุ 62 ปี จ.นนทบุรี มีประวัติไปสถานบันเทิง และมีโรคไตวายเรื้อรัง พบเชื้อวันที่ 21 เม.ย. และเสียชีวิตวันที่ 23 เม.ย.เวลา 06.30 น.

จับตาติดเชื้อจากขนส่งสาธารณะ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 (ศปก.ศบค.) รายงานสาเหตุการติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามาจากการติดเชื้อในที่ทำงาน ติดเชื้อจากการพบปะรับประทานอาหารร่วมกัน ติดเชื้อภายในครอบครัว ติดเชื้อจากการมั่วสุม รวมกลุ่ม ไม่เว้นระยะห่าง ติดเชื้อจากกิจกรรมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ และอาจจะเกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

เตียงว่างทั่วประเทศยังไหวอยู่

โฆษก ศบค.ระบุอีกว่า ขณะที่ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) เช้าวันเดียวกัน รายงานสถานการณ์เตียงผู้ป่วยภาพรวมของประเทศ เตียงในรูปแบบต่างๆ ทั้งห้องความดันลบ ห้องความดันลบแบบรวมกลุ่ม ห้องแยกผู้ป่วย หอที่รวมผู้ป่วยโควิด Hospitel และห้องไอซียู ข้อมูลวันที่ 22 เม.ย.มีทั้งสิ้น 40,524 เตียง ครองเตียง 19,386 เตียง เตียงว่าง 21,138 เตียง ถือว่ายังไม่ถึงวิกฤติ ซึ่งตัวเลขที่ตนพูดเมื่อวันที่ 23 เม.ย.จนทำให้หลายคนวิตกนั้น เป็นข้อมูลของ กทม.และปริมณฑล โดยข้อมูล ณ วันที่ 22 เม.ย.มีเตียงทั้งหมด 16,422 เตียง ครองเตียง 11,075 เตียง เตียงว่าง 5,347 เตียง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลภาพรวมต้องพยายามให้เตียงว่างมากที่สุด กทม.แม้จะมีประเด็นพอสมควรแต่ข้อดีคือมีบุคลากรทางการแพทย์มาก จะบริหารจัดการให้ผู้รอเตียงได้รับการรักษา

ขอร่วมมือไม่ปฏิเสธแอดมิต

นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อรอเตียงจนอาการหนักและเสียชีวิตระหว่างรอเตียงว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. มีผู้รอเตียง 1,400 กว่าราย ดำเนินการแล้ว 724 ราย วันนี้มีผู้รอเตียง 2,013 ราย ซึ่งในที่ประชุมอีโอซีพูดคุยถึงกรณีผู้ป่วยรอเตียง 2,013 รายนี้ว่าจะจัดโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel รวม 4 แห่งไว้รองรับ และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 2-3 วันนี้ ถ้าใครมีอาการรุนแรงจะให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ขอให้บุคคลที่รอเตียงอยู่รอรับโทรศัพท์และให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีหลายสายที่ปฏิเสธการแอดมิตและติดต่อกลับไม่ได้ รวมทั้งสิ้น 146 สาย จึงขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือไม่ปฏิเสธการเข้าแอดมิต เราจะดูแลอย่างดีและเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ต้องขออภัย

...

จากสังสรรค์ลามสู่ครอบครัว

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวที่กระทรวงสาธารณสุขว่า วันนี้ผู้ติดเชื้อสูงสุดตั้งแต่รายงานมา แต่ไม่อยากให้กังวลตัวเลขเป็นเฉพาะพื้นที่โดยเฉพาะที่ กทม.ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่ค้างมา 3-5 วัน นำมาเคลียร์เข้าสู่ระบบและดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ส่วนการวิเคราะห์การติดเชื้อ กรณีการติดเชื้อคลัสเตอร์ร้านอาหารที่ จ.สุโขทัย ผู้ป่วยรายแรก เป็นหญิง อายุ 65 ปี พบเชื้อวันที่ 19 เม.ย.จากนั้นเชื่อมโยงติดเชื้อภายในร้านอาหาร 14 คน เป็นเจ้าของร้าน 2 คน พนักงานเสิร์ฟ 2 คน ลูกค้า 10 คน และนำเชื้อไปติดคนในครอบครัว 7 คน เป็นสิ่งที่เน้นย้ำตลอดถึงการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว จึงขอให้เคร่งครัดในบ้านก็ต้องสวมหน้ากาก เข้าบ้านชำระร่างกายและล้างมือให้บ่อยที่สุด

พาเชื้อจากที่ทำงานเข้าบ้าน

นพ.เฉวตสรรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คลัสเตอร์ปาร์ตี้สถานบันเทิงใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้ป่วยรายแรกเป็นนักศึกษาหญิงอายุ 21 ปี ติดเชื้อไม่มีอาการ ประวัติมีการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ปาร์ตี้ดังกล่าวมีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด 97 คน พบเพื่อนร่วมปาร์ตี้ติดเชื้อ 4 คน ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจเบื้องต้นยังไม่พบติดเชื้อ อีกกรณีเป็นการติดเชื้อในธนาคารแห่งหนึ่ง ใน จ.สงขลา มีการประชุมรับประทานอาหารร่วมกันในวันที่ 9-10 เม.ย.โดยหญิง อายุ 38 ปี ผู้ป่วยรายแรกเริ่มป่วยวันที่ 16 เม.ย.และเกิดการติดเชื้อในเพื่อนร่วมประชุมแต่ละคนจนเชื่อมโยงที่บ้าน พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 5 คนจากผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 26 คน จึงเป็นส่วนหนึ่งของการมีมาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และการยกการ์ดสูงจึงสำคัญมาก

...

นายกฯสั่งเพิ่มเตียง-สายด่วน

ต่อมาเวลา 15.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ว่า ตนในฐานะนายกฯและผู้อำนวยการ ศบค.ได้รับทราบปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้เรียกประชุมกับหน่วยงานต่างๆอย่างเร่งด่วน สั่งการให้แก้ปัญหาทั้งหมด ได้ข้อสรุปเบื้องต้น 1.การดูแลผู้ป่วยสั่งการหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขดังนี้ 1.1จัดเตรียมเตียงเพิ่มเติมที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทุกคน เร่งแก้ปัญหาเตียงเต็มโรงพยาบาลใน กทม.ด้วยการบูรณาการระบบส่งตัวผู้ป่วยกับหน่วยงานขนส่งต่างๆ เพื่อนำส่งไปยังโรงพยาบาลในปริมณฑล 1.2 วันนี้ผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่นอกโรงพยาบาล 1,423 คน จะเริ่มได้รับการติดต่อนัดหมายเพื่อนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามความเร่งด่วนของอาการ ทั้งหมดจะต้องใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วันนับจากวันนี้ 1.3 แก้ปัญหาการเชื่อมโยงเครือข่าย ด้วยการเพิ่มเติมคู่สายผู้รับโทรศัพท์ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

จ่อลดวันใน รพ.ไปกักตัวที่บ้าน

1.4 แก้ปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างสถานที่ตรวจของเอกชนกับระบบของรัฐให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยให้ปรับรูปแบบการคัดกรอง ให้ไปคัดกรองที่โรงพยาบาลสนามแทนโรงพยาบาลทั่วไปเพื่อลดการแออัด จากนั้นทางรัฐจะติดต่อเพื่อสอบถามอาการ ความรุนแรง และนัดเวลาไปรับมารักษา 1.5 เพิ่มบุคลากรอาสาทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ จากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน มาช่วยงานในภารกิจต่างๆ 1.6 หากสถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้น อาจพิจารณาลดเวลากักตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ไม่มีอาการหรืออาการน้อย จาก 14 วันลงเหลือ 10 วัน และให้กักตัวที่บ้านอย่างเคร่งครัดและมีระบบติดตามดูแล ซึ่งจะช่วยทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้น จะช่วยลดภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์

...

ให้อำนาจ ผวจ.ประกาศเคอร์ฟิว

2.เรื่องการควบคุมสถานการณ์ 2.1 สั่งการให้ทุกจังหวัดเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสถานการณ์ ตามกลุ่มที่ได้แบ่งไว้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการพิจารณายกระดับมาตรการการป้องกันโรค ปิดสถานที่ต่างๆได้เพิ่มเติมที่จำเป็น 2.2 พิจารณาความจำเป็นในการออกประกาศปิดสถานที่หรือกำหนดเคอร์ฟิวในบางพื้นที่อย่างละเอียดรอบคอบถึงผลกระทบต่างๆ โดยตนในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.จะติดตามกำชับการดำเนินการทุกข้ออย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติครั้งนี้ให้ลุล่วงไปให้ได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นอันดับแรก

นนทบุรีขอความร่วมมืองดออกนอกบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายกฯจะโพสต์ข้อความดังกล่าวข้างต้น แต่เมื่อเวลา 00.30 น.วันที่ 24 เม.ย.นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.นนทบุรี มีคำสั่งจังหวัดนนทบุรี ที่ 1121/2564 ลงวันที่ 23 เมษายน 2564 เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 37) มีผลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2564 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนนทบุรี ตามมติที่ประชุมจึงมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวและกำหนดมาตรการควบคุมบางสถานที่เพิ่มเติม โดยให้ยังใช้ควบคู่กับคำสั่งจังหวัดนนทบุรีที่ 1019/64 ซึ่งในคำสั่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ทั้งสนามชนโค สนามชนไก่ รวมทั้งสนามซ้อมหรือสนามประกวด แข่งขัน ฝึกซ้อมสัตว์ ปิด สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด ร้านเกม สวนน้ำ และสวนสนุก ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา สระว่ายน้ำ ฯลฯ และขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถานหลังเวลา 21.00-04.00 น. ของวันถัดไป

ห้างปิด 2 ทุ่ม ร้านสะดวกซื้อ 4 ทุ่ม

ต่อมานายญนน์ โภคทรัพย์ สมาคมผู้ค้าปลีก ได้ออกประกาศเลื่อนการเปิด-ปิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ เป็นเวลา 11.00-20.00 น. ยกเว้น ซุปเปอร์มาร์เกต ไฮเปอร์มาร์ท และร้านอาหาร ที่ตั้งในศูนย์การค้าจะให้บริการถึง 21.00 น. ส่วนร้านสะดวกซื้อและคอนวิเนียนสโตร์จะเปิดให้บริการตั้งแต่ 05.00-22.00 น. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.-2 พ.ค.2564 ซึ่งจะใช้เฉพาะจังหวัดสีแดง 18 จังหวัดเท่านั้น สำหรับศูนย์การค้าเซ็นทรัลได้ประกาศปรับเวลาให้บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทุกสาขาเป็น 11.00-20.00 น.ยกเว้นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เกตเปิดถึงเวลา 21.00 น. ซึ่งรวมถึงสาขาในพื้นที่จังหวัดสีแดงด้วย ทั้งนี้ 18 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น ขณะที่นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทยออกแถลงการณ์มีเนื้อหาสำคัญที่ขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดเวลาการนั่งในร้าน หรือสั่งอาหารกลับบ้านอย่างเดียว

ซิโนแวคถึงไทยอีก 5 แสนโดส

เมื่อเวลา 05.35 น.วันเดียวกัน ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จำนวน 5 แสนโดสจากประเทศจีน ที่ขนส่งโดยสายการบินแอร์ไชน่าแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ CA603 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร โดย นพ.วิฑูรย์ เปิดเผยว่า รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จากประเทศจีนเพิ่มอีกจำนวน 5 แสนโดส หลังจากที่นำเข้ามาแล้ว 2 ล้านโดส รวมยอดนำเข้าวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีน 2.5 ล้านโดส วัคซีนลอตนี้ หลังผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนจากองค์การเภสัชกรรม และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว จะกระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆ เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 18-59 ปี คนละ 2 โดส

วัคซีน 3 สัญชาติรอขอขึ้นทะเบียน

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามรับรองให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นสถานที่ผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกาในประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับการขึ้นทะเบียนใช้วัคซีนในประเทศไทยนั้น ตอนนี้รับรองไป 3 ตัว คือซิโนแวค แอสตราเซเนกา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนยี่ห้ออื่นมีมาหารือและยื่นเอกสารเข้ามาก็ต้องขึ้นทะเบียน ต่อให้จัดส่งเร็วที่สุดแค่ไหนก็ตาม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียนอีก 1 ราย คือ วัคซีนของบารัต (อินเดีย) โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และล่าสุดทราบว่ามีผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลคำขอขึ้นทะเบียนยื่นต่อ อย.อีก 2 ราย ได้แก่ วัคซีนสปุตนิก V (รัสเซีย) โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด และวัคซีนของโมเดอร์นา (สหรัฐอเมริกา) โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่ง อย.มีความพร้อมในการพิจารณาอนุมัติวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้โดยเร็ว

วัคซีนไฟเซอร์ติดจำนวน-เวลาส่ง

ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ถ้าไฟเซอร์มีวัคซีนให้ไทยได้เร็วก็มีช่องทางอยู่แล้ว หากไม่สามารถนำเข้ามาได้เร็ว ก็มาขึ้นทะเบียนตามระบบ ซึ่งไฟเซอร์มีเอกสารพร้อมอยู่ คิดว่าน่าจะขึ้นทะเบียนได้ทัน วัคซีนของไฟเซอร์จะนำเข้ามาฉีดฟรีให้กับกลุ่มเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 2 เข็ม แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเคาะที่จำนวนเท่าไหร่ จนกว่าจะมีการทำสัญญา ส่วนตัวเลข 10 ล้านโดสที่ว่านี้เป็นเพียงกรอบกว้างๆ เพราะเขาต้องจัดหาวัคซีนให้เราทันภายในปีนี้ ถ้าจำได้คือเราเจรจามาตลอด สิ่งที่สำคัญคือการที่เขามีข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของการจัดเก็บวัคซีน กลุ่มอายุที่รับวัคซีน ซึ่งเหมาะกับภาครัฐที่จัดหาอยู่ตอนนี้ พร้อมยืนยันไทยไม่ได้ช้าในการจัดหาวัคซีน แต่ช้าที่การผลิตวัคซีนไม่เพียงพอ

กทม.-สพฉ.ร่วมแก้ผู้ป่วยรอเตียง

สำหรับการแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อใน กทม.ที่มีกว่า 1.4 พันคน ยังรอเตียงอยู่นั้น วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.มาตรวจดูความพร้อมหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) รพ.สิรินธร ที่โรงแรม Elegant Airport Hotel ถนนกาญจนาภิเษก เขตประเวศ ที่เคยเป็นสถานกักตัวของรัฐ (SQ) มาก่อน มี 230 ห้อง โดยผู้ป่วยที่เข้ารับบริการเบื้องต้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ครบทั้ง 5 ข้อคือ 1.ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้ว 4-7 วันและมีผลภาพถ่ายรังสีปอดคงที่ กรณีที่เป็นผู้ป่วยใหม่ต้องเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี ไม่มีอาการและไม่มีภาวะเสี่ยง/ภาวะอื่นร่วม โดยที่ผลการถ่ายรังสีปอดปกติดี โดยทยอยรับผู้ป่วยเข้าพักเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.70 ห้อง ขณะที่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่าได้จัดเตรียมรถรับผู้ป่วยไปยังจุดคัดกรอง 4 แห่ง เริ่มดำเนินการในวันที่ 25 เม.ย.โดยมีรถรับส่งประมาณ 20 คัน สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว รถ 1 คันจะรับได้ 3-4 คน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดงจะเป็น 1 คน ต่อรถพยาบาล 1 คัน จึงขอความร่วมมือประชาชนว่าหากติดเชื้อขอให้แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้จัดรถไปรับอย่างเหมาะสม โดยภารกิจครั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่หน่วยเสริมที่ระดมมาเพิ่มเติม

ส่งอาหาร 4.2 พันกล่องต่อวัน

ขณะที่มูลนิธิร่วมกตัญญูจัดตั้ง “โรงครัวสนาม ร่วมกตัญญู” จุดที่ 1 โดยประกอบการผลิตอาหารปรุงสุก มื้อละ 1,400 กล่อง วันละ 3 มื้อ กำลังการผลิตรวมวันละ 4,200 กล่อง อย่างต่อเนื่องทุกวัน ณ ที่ตั้งโรงครัวสนาม RKU ด้านในของวัดเลา ถนนพระราม 2 ซอย 51 เพื่อนำอาหารที่ผลิตเสร็จเป็นหม้อ แล้วนำไปบรรจุใส่กล่อง และจัดส่งดูแลผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ ณ รพ.สนามผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน กทม.

ยังไม่ได้ใช้เส้นย้าย “น้าค่อม”

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ถึงการย้าย “น้าค่อม ชวนชื่น” ตลกอาวุโส ไปรักษาที่ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ด้วยการประสานงานของนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ต่อมา นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ผอ.รพ.วิภาราม ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กของ รพ.วิภาราม “Vibharam Hospital” ถึงกรณีนี้ว่า เนื่องจากน้าค่อมเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวหลายอย่าง ช่วงแรกที่ตรวจเจอเชื้อโควิด-19 ก็เข้ารับการรักษาใน รพ.แห่งหนึ่ง แต่ต่อมามีภาวะปอดอักเสบรุนแรงมากขึ้น จึงย้ายมารักษาที่ รพ.วิภาราม ซึ่งมีห้องไอซียูความดันลบ 12 เตียง จากนั้นได้ให้ยาต่างๆ แต่อาการยังทรุดลง ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ต่อมาวันที่ 23 เม.ย. มีภาวะของไตวายเฉียบพลัน จึงต้องฟอกเลือดฉุกเฉิน ทำให้อาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์ได้ประเมินการรักษาโดยคาดว่าอาจจะต้องมีการใช้เครื่องเอคโมในการรักษาเพิ่มเติม ซึ่งอาการตอนนั้นยังไม่ถึงขั้นต้องใช้ แต่ถ้ารอให้ถึงเวลาต้องใช้จะช้าเกินไป จึงต้องเร่งหาไว้ก่อน โดยประสานไปยัง รพ.ศิริราช แต่เตียงเต็ม ที่ไหนก็เตียงเต็ม แต่ รพ.รามาจักรีนฤบดินทร์ ขณะนั้น เตียงยังว่างอยู่ สามารถรับได้ นี่เป็นการส่งต่อระหว่าง รพ. เป็นเรื่องปกติระหว่าง รพ.อยู่แล้ว คือสิ่งที่เราทำในระบบสาธารณสุขไม่ได้มีการลักลั่น เราพยายามรักษาเต็มศักยภาพ รักษาคนไทยทุกคน ในเมืองไทยให้ดีที่สุดเพื่อให้รอดปลอดภัย ดังนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเส้นสายอะไร เป็นเรื่องของคลินิกล้วนๆ

“จัสติน ชูเกียรติ” ติดโควิดจริง

ขณะที่นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และอยู่ในระหว่างแยกกักโรค 14 วัน หลังกลับจากศาล ติดเชื้อโควิด-19 จริง โดยตรวจเชื้อไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผลเป็นบวก และส่งตัวไปเข้ารับการรักษาภายในวันเดียวกัน จากการตรวจพบเชื้อดังกล่าวทำให้ต้องกักตัวเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยง 9 คน และผู้ต้องขังในห้องแยกกักโรค และสถานพยาบาลเรือนจำฯ 26 คน พร้อมเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูกตรวจหาเชื้อเรียบร้อยแล้ว และเตรียมพร้อมตั้ง รพ.สนามในเรือนจำขึ้น เพื่อรองรับการรักษาผู้ต้องขังที่มีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ

ด่านภูเก็ตตรวจฟรี 20 นาทีรู้ผล

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ วันเดียวกัน ที่ด่านท่าฉัตรไชย หรือ Gate way ก่อนเข้าพื้นที่จังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต นางอัญชลี วานิช เทพบุตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี และอดีต ส.ส.ภูเก็ต และ ทนพ.วิฑูรย์อารยะพิพัฒน์กุล บริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบ–ราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด หรือ “โปรแล็บ” ร่วมตรวจคัดกรองเชิงรุก โมเดล ภูเก็ต คลีน ป้องกันภูเก็ต (เซฟภูเก็ต) โดยให้ชาวภูเก็ตได้ฉีดวัคซีนครบ 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันผู้ที่จะเข้ามาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตขอให้ตรวจในเชิงรุกด้วยการตรวจผู้ที่เดินทางเข้าสู่จังหวัดทั้ง 2 ด่าน คือ 1.ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต 2.ด่านท่าฉัตรไชย โดยเฉพาะคนไทยจะตรวจคัดกรองฟรี โดยสามารถทราบผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ภายใน 20 นาที มาตรการนี้จะสามารถแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากประชาชนได้ จากนั้นทั้งหมดได้ร่วมติดตามการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าเมืองภูเก็ตทางบก โดยคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดและเป็นโชนสีแดง 17 จังหวัด ได้คัดกรองผู้เดินทางกว่า 1 พันคน ทั้งนี้ การตรวจหากให้ผลเป็นบวกและตรวจยืนยันด้วยหลักการ RT PCR ให้ผลถูกต้องตรงกัน โดยผู้ที่ต้องตรวจคัดกรองด้วยการทำ Swab โพรงจมูก และนำมาทดสอบโดยใช้เวลาเพียง 15-20 นาที น้ำยาที่ใช้คือ SARS-CoV-2 Rapid Antigen Test เป็นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ชนิดเร็ว ให้ผลแม่นยำกว่าร้อยละ 95-97 และน้ำยาที่ทาง PROLAB เลือกใช้เป็นชุดน้ำยาจากสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ซึ่งสอดคล้องกับผลที่ยืนยันด้วย RT PCR

“อัญชลี” จี้ปลดล็อกจัดหาวัคซีน

นางอัญชลีกล่าวว่า ภูเก็ตใช้เวลาออกแบบ ภูเก็ตโมเดลเพื่อเซฟภูเก็ต และเตรียมเปิดเกาะภูเก็ตในวันที่ 1 ก.ค.นี้ให้ได้ โดย ผวจ.และนายก อบจ.ภูเก็ต องค์กรภาคประชาชนทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เรามาถูกทางแล้ว ขอฝากถึงรัฐบาลว่าควรปลดล็อกให้ภาคเอกชน และส่วนท้องถิ่นสามารถจัดหาซื้อวัคซีนได้เอง และให้บริการฉีดวัคซีนให้คนไทยทั้งประเทศให้มีจำนวนมากที่สุดโดยเร็ว และต้องเร่งตรวจเชิงรุกแยกผู้ที่ติดเชื้อออกจากประชาชนใน กทม.โดยตั้งจุดคัดกรองตรวจที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ใช้สกัดการแพร่เชื้อไม่ให้กระจายลงในพื้นที่ภูเก็ตได้อีกทางหนึ่ง

เผาแล้วตายรายแรกนครพนม

วันเดียวกัน สสจ.นครพนม เผยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 4 คน และที่น่าเศร้าคือมีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 คน เป็นชาย อายุ 45 ปี อาชีพค้าขายธุรกิจส่วนตัว ชาว อ.ศรีสงคราม เป็นผู้เสียชีวิตรายแรกของจังหวัด โดยติดเชื้อโควิดจากกลุ่มคลัสเตอร์สถานบันเทิง เข้ารักษาเมื่อวันที่ 17 เม.ย.เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เม.ย.มีโรคประจำตัวทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ทั้งนี้ ญาติผู้ตายจัดพิธีฌาปนกิจแบบเรียบง่ายในวันที่ 24 เม.ย. ณ วัดมหาธาตุ เทศบาลเมืองฯ

ป่วยตายมาอีก 2 จังหวัด

ขณะเดียวกัน พบผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คนจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นชายวัย 70 ปี อยู่ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้ป่วยติดเตียง มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง ติดเชื้อจากลูกสาวและลูกเขยที่ติดเชื้อจากการเที่ยวผับใน อ.หัวหิน แล้วกลับมาเยี่ยมบ้าน ส่วนที่ จ.นครสวรรค์ นพ.อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่าจังหวัดมีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเป็นรายที่ 2 ของจังหวัด เป็นชาย อายุ 47 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยมีอาการปอดบวมรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ประวัติการสัมผัสโรคอยู่ระหว่าง การสอบสวนและตรวจสอบของทีมเครือข่ายสุขภาพอำเภอบรรพตพิสัย โดยวันที่ 23 เม.ย. เข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน รพ.บรรพตพิสัย ด้วยอาการไอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อยมาก แพทย์วินิจฉัยปอดบวม ส่งต่อ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ใส่เครื่องช่วยหายใจ ผลตรวจเชื้อพบเป็นบวกและผู้ป่วยเริ่มไม่ตอบสนองต่อการรักษา ต่อมาวันที่ 24 เม.ย. ผู้ป่วยเสียชีวิตลงอย่างสงบ ในเวลา 08.00 น.

เชียงใหม่-ชล-นนท์ ป่วยทะลุร้อย

ขณะเดียวกัน หลายจังหวัดใหญ่พบผู้ติดเชื้อพุ่งเกินร้อยทั้งเชียงใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 163 คน ส่งผลให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสั่งงดจัดกิจกรรมถนนคนเดินไม่มีกำหนด ส่วนการดูแลป่วยในคลัสเตอร์ต่างๆ อาทิ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบนแม่คือ คืนแรกก็ผ่านไปด้วยดี ขณะที่ จ.ชลบุรี พบผู้ติดเชื้ออีก 119 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.บางละมุง และ อ.เมือง เช่นเดียวกับ จ.นนทบุรี ที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 104 คน จ.นครราชสีมา ติดเชื้อเพิ่ม 42 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.เมือง และยังมีการที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เขตอำเภอเมือง ต่างทยอยเดินทางมาต่อคิวเพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 จากรถชีวนิรภัยพระราชทาน ที่มาให้บริการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 คัน วันนี้เป็นวันที่ 2 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลตรวจกลุ่มเสี่ยงวันแรก 933 คน พบผู้ติดเชื้อ 4 คน

ติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่ผุดเพียบ

นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายจังหวัดเริ่มพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาอีก อาทิ จ.ร้อยเอ็ด พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 23 คน ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์พนักงานรถทัวร์ที่พบติดเชื้อแล้ว 11 คน ส่วน จ.น่าน อ.ท่าวังผา มีมติปิดหมู่บ้านเสี้ยว หลังพบผู้ติดเชื้อในหมู่บ้าน 4 คน จ.พัทลุง เริ่มวุ่นเมื่อพบติดเชื้อเพิ่ม 14 คน อยู่ใน อ.ควนขนุน 3 คน อ.เมืองพัทลุง 4 คน อ.ป่าบอน 1 คน และ อ.กงหรา 6 คน โดยทั้ง 6 คนนี้ ถือเป็นการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนอีกกลุ่ม นอกเหนือจากในพื้นที่ อ.เขาชัยสน ที่หัวหน้าคณะมโนราห์ชื่อดังของภาคใต้และเป็นเจ้าของรางวัลถ้วยพระราชทาน ติดเชื้อแล้วแพร่ไปถึงภรรยา ผู้แสดงมโนราห์และผู้ใกล้ชิด รวม 7 คน ขณะที่ นครศรีธรรมราชพบติดเชื้ออีก 55 คน โดยพบที่ อ.เชียรใหญ่ 21 คน เกิดจากคลัสเตอร์บ้านหลังหนึ่งจัดงานไหว้ครูมโนราห์ช่วงวันสงกรานต์ ทำให้ติดเชื้อกันหมดเกือบทั้งบ้าน, ที่ อ.ปากพนัง 5 คน มาจากงานเลี้ยงสังสรรค์วันสงกรานต์ที่ผ่านมา รวมถึงคลัสเตอร์ที่ อ.ท่าศาลา อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเดินทางไปสอนหนังสือที่ กทม. แล้วติดเชื้อมาติดคนในบ้านหลังเดียวกันรวม 6 คน และคนข้างตัวอีก 2 คน นอกจากนี้ ความเดือดร้องยังลามไปถึงพระสงฆ์วัดทองทั่ว ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี 16 รูป ที่ต้องกักตัวหลังรับกิจนิมนต์บ้านงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ภายใน ต.คลองนารายณ์ และพบผู้ติดเชื้อมาร่วมงาน ที่ทำให้ผู้มาร่วมงานดังกล่าวติดเชื้อโควิดแล้วกว่า 10 คน

43 จังหวัดเข้มไม่ใส่แมสก์โดนปรับ

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ เวลา 19.00 น. วันที่ 24 เม.ย. มี 43 จังหวัดทั่วประเทศมีคำสั่งกำหนดมาตรการให้ประชาชนใส่หน้ากาก อนามัย หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน หากฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับเป็นเงินจำนวน 2 หมื่นบาท ดังนี้ ภาคกลางและภาคตะวันออก 14 จังหวัด ได้แก่ 1.กาญจนบุรี (เฉพาะตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ) 2.ปราจีนบุรี 3.เพชรบุรี 4.สุพรรณบุรี 5.พระนครศรีอยุธยา 6.สมุทรสาคร 7.ลพบุรี 8.สมุทรปราการ 9.ประจวบคีรีขันธ์ 10.ชลบุรี 11.สระบุรี 12.ตราด 13.นนทบุรี และ 14.นครปฐม ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ 1.สุโขทัย 2.ตาก 3.เพชรบูรณ์ 4.อุตรดิตถ์ และ 5.ลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ 1.ยโสธร 2.หนองคาย 3.อุบลราชธานี 4.ชัยภูมิ 5.มหาสารคาม 6.มุกดาหาร 7.ศรีสะเกษ 8.สุรินทร์ 9.อุดรธานี 10.เลย 11.อำนาจเจริญ 12.บุรีรัมย์ และ 13.นครพนม ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ 1.สุราษฎร์ธานี 2.ตรัง 3.นครศรีธรรมราช 4.นราธิวาส 5.ปัตตานี 6.พังงา 7.ภูเก็ต 8.ระนอง 9.สตูล 10.สงขลา และ 11.ยะลา

กทม.เอาด้วยปิดสถานที่เสี่ยง

ช่วงค่ำวันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ว่า ที่ประชุมมีมติปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ เพิ่มเติม 31 แห่ง อาทิ โรงภาพยนตร์ โรงละคร สวนสนุก สวนน้ำในและนอกห้างสรรพสินค้า สวนสัตว์ สถานที่เล่นสเกตบอร์ด โต๊ะสนุ้กบิลเลียด สถานที่เล่นเกม รวมถึงฟิตเนส ศูนย์แสดงสินค้า พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ ร้านสัก สนามม้า ร้านเสริมสวย ฯลฯ รวมถึงห้ามจัดกิจกรรมสังสรรค์ การเข้าค่าย การถ่ายภาพยนตร์หรือรายการทีวี การประกอบกิจกรรมทางศาสนา การปฏิบัติธรรมหรือการพบปะผู้ใหญ่เกิน 20 คน มีผลวันที่ 26 เม.ย. ระยะเวลา 14 วัน รวมถึงจะออกประกาศบังคับใช้กฎหมายการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคห-สถาน/สถานที่สาธารณะด้วย ส่วนการนั่งรับประทานอาหารในร้านนั้นนั่งทานได้ถึง 3 ทุ่ม และโต๊ะจะต้องวางห่างกัน 2 เมตร หรือมีฉากกั้น

อธิบดีอัยการติดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวิช ชูตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครองเพชรบุรี ผู้ได้รับเลือกตั้งให้เป็นคณะกรรมการอัยการ ประเภท ข้าราชการอัยการชั้น 5 ขึ้นไป เมื่อวันที่ 12 มี.ค.64 ด้วยคะแนนสูงสุด ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทรวงอก จ.นนทบุรี โดยมีรายงานว่าบุตรและภรรยาก็ติดเชื้อด้วย อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ก.อ.ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสุวิชไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากขณะนั้นอยู่ระหว่างกักตัว

อินเดียติดเชื้อนิวไฮวันที่ 3

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่อินเดียยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 24 เม.ย. กระทรวงสาธารณสุขอินเดียเผยว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 346,786 คนในชั่วข้ามคืน นับเป็นสถิติใหม่ของการติดเชื้อสูงสุดของโลกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 จนระบบสาธารณสุขอยู่ในภาวะวิกฤติ โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ รวมทั้งขาดแคลนออกซิเจน นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น 2,624 คนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เป็นอัตราการเสียชีวิตสูงสุดรายวันของประเทศ ทำให้อินเดียมีผู้ติดเชื้อรวม 16.6 ล้านคน เสียชีวิตรวม 189,544 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกาอาจมีข่าวดีเมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) อาจกลับมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อีกครั้ง หลังจากหยุดชั่วคราวเพื่อตรวจสอบปัญหาการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้รับวัคซีนจำนวนหนึ่งจากหลายล้านคน ทั้งนี้ จากข้อมูลถึงวันที่ 23 เม.ย.ในจำนวนผู้หญิง 3.9 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่มีอาการรุนแรง 15 คน ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 50 ปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 3 คน และไม่มีรายงานอาการข้างเคียงดังกล่าวในผู้ชาย