กรมการแพทย์ แจงขั้นตอนสายด่วน 1668 ยอมรับล่าช้าจริงเพราะคนโทรมาก ย้ำ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หาเตียงต้องมีผลแล็บเป็นหลักฐานยืนยัน

วันที่ 22 เม.ย. 2564 นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข กรณีสายด่วน 1668 โดยขอบคุณความห่วงใยจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมขออภัยและยอมรับมีปัญหาเรื่องความล่าช้าจริง จากนั้นชี้แจงต่อไปว่า สายด่วน 1668 เดิมเป็นสายด่วนของโรงพยาบาลโรคทรวงอก รับสายเกี่ยวกับโรคหัวใจ ไม่ได้ถูกเตรียมการไว้รองรับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดต่อมาก แต่เนื่องจากอธิบดีกรมการแพทย์เห็นว่าประชาชนมีความกังวลมากเรื่องติดเชื้อแล้วหาโรงพยาบาลเข้าไม่ได้ จึงจัดตั้งคู่สายนี้มาใช้ เช่นเดียวกับสายด่วนอื่นๆ ในช่วงนี้ที่นำมาใช้เฉพาะกิจ โดยดำเนินการและปรับปรุงไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ จำนวนที่เข้ามามากนั้นในวันแรกๆ มีเพียง 4 คู่สาย และมีทีมรับสายไม่ถึง 10 คนในแต่ละผลัด แต่ต่อมารับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมาร่วมรับสายมากขึ้น แต่ก็เป็นข้อจำกัดเพราะเจ้าหน้าที่ต้องประเมินคนไข้ได้ว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสมตามระดับอาการได้ด้วย เนื่องจากต้องส่งระบบการทำงานให้ทีมถัดไป จึงต้องมีศักยภาพและความรู้ด้านโรคต่างๆ ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยคือพยาบาลต้องเป็นผู้รับสาย แต่เมื่อสถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้น พยาบาลใน กทม. ต้องไปรับงานในการขยายเตียงในโรงพยาบาล บางแห่งขยายขึ้น 50-100% จึงปรับให้สายต่อไปยังโทรศัพท์มือถือให้พยาบาลโดยกรมการแพทย์ทั่วประเทศสามารถเข้ามารับสายได้ 100 กว่าคน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต่อมาจึงมีการรับอาสาสมัครทั้งแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลกรมการแพทย์ทั่วประเทศ แต่สายก็ยังล้น

...

นพ.สกานต์ ระบุต่อไปถึงข้อผิดพลาด ยอมรับไม่ได้คิดว่าจะเตรียมระบบรองรับมากจึงไม่ได้มีเสียงแจ้งระหว่างรอสายว่าเจ้าหน้าที่กำลังให้บริการเต็มทุกคู่สาย ทำให้กลายเป็นเสียงรอสายที่ไม่มีคนรับ ประชาชนจึงอาจจะเข้าใจผิดในเรื่องนี้ พร้อมสรุปการทำงานว่า หลังจากทีมหน้ารับสายและข้อมูล จะส่งต่อให้ทีมทำข้อมูล นำข้อมูลที่รับมาดำเนินการ และส่งไปยังทีมประสานและตอบสนอง โดยแบ่งกลุ่มคนไข้เป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ติดตามอาการจนกว่าจะแอดมิตจึงจะตัดออกจากระบบ

  • สีแดง โทรทุก 4 ชั่วโมง
  • สีเหลือง โทรทุกวัน
  • สีเขียว โทรวันเว้นวัน

ข้อมูลปฏิบัติงาน ณ สิ้นวันของวันที่ 21 เม.ย. 2564

  • รับสาย 3,477 ครั้ง
  • โทรเยี่ยมติดตาม 3,277 ครั้ง
  • ผู้ติดเชื้อขอเตียง 1,733 ราย
  • ยังรอเตียง 442 ราย

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังรอเตียง 442 ราย มีการตัดยอดเตียงไปที่โรงพยาบาลปลายทางแล้ว แต่อยู่ระหว่างรอรถไปรับหรือรอเอกสารต่างๆ จึงยังไม่ถูกตัดออกจากฐานจนกว่าจะเข้าไปนอนโรงพยาบาลจริง พร้อมขอให้ผู้รับบริการโทรเบอร์ใดเบอร์หนึ่ง ไม่จำเป็นต้องโทรทุกหมายเลข เนื่องจากเชื่อมกันหมด นอกจากนี้ ยังมีช่องทางในแอปพลิเคชันไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต) จะมีระบบให้กรอกข้อมูล และจะมีการดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องมีเอกสารผลแล็บยืนยันการติดเชื้อเพื่อความสะดวกในการเข้ารับการรักษาด้วย.