อธิบดีกรมการแพทย์ แจง โทรสายด่วน 1668 ขอเตียงรักษา "โควิด-19" แล้วไม่มีคนรับ ระบุมีคนโทรเข้ามากว่า 200 สาย จนคู่สายล้น 

วันที่ 21 เมษายน จากกรณีที่มีข่าวว่า การโทรเข้าเบอร์สายด่วนของ สธ. แล้วไม่มีผู้รับสายนั้น นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า ช่วงนี้พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องระดมจิตอาสา ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ กว่า 200 ชีวิต ซึ่งล้วนแต่มีงานประจำที่ต้องปฏิบัติ มาทำหน้าที่รับสายด่วน 1668 ดังกล่าวโดยไม่มีวันหยุด ซึ่งสายด่วนดังกล่าวเปิดให้บริการทุกวันระหว่างเวลา 08.00-22.00 น.

ทั้งนี้ การทำงานจะแบ่งเป็น 4 ทีมหลัก คือ 1. ทีมรับสาย Hotline 1668 จากผู้ป่วยโควิด-19 สอบถามข้อมูลรายละเอียดของผู้ป่วย 2. ทีมข้อมูล มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจากทีมงานสายด่วนและทีมประสานงาน วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล สรุปข้อมูลรายวัน 3. ทีมแพทย์ มีทีมแพทย์ประเมินอาการระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค และ 4. ทีมตอบสนองและประสานงาน มีหน้าที่ประสานการขอเตียงจากโรงพยาบาลเป้าหมาย หรือศูนย์ประสานงานกลุ่มโรงพยาบาล (ผ่านศูนย์ส่งต่อโรงพยาบาลราชวิถี กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของกรมการแพทย์ และประสานงานผ่านศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์) รวมทั้งโทรเยี่ยมติดตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งแต่ละสายใช้เวลาในการพูดคุยกับผู้ป่วยประมาณ 20-40 นาที

ที่ผ่านมาในรอบ 10 วันเจ้าหน้าที่รับสายรวม 2,476 สาย และโทรเยี่ยมติดตาม 2,307 สาย ผู้ติดต่อขอเตียง 1,204 คน รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว เหลือสีเหลืองประมาณ 50 คน

ทั้งนี้ กรณีที่โทร 1668 แล้วไม่มีผู้รับสายนั้น เกิดจากแต่ละวันมี ผู้โทรเข้า 1668 มากกว่า 200 สาย จนคู่สายล้น ระบบจะส่งต่อวนไปผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน สายไหนว่างจึงมีคนรับ และใช้เทคนิค convert สายเข้าโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของจิตอาสาจากทั่วประเทศ ทำให้แต่ละเวรมีคนช่วยรับสายเพิ่มอีกกว่า 10 คู่สาย ทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้หากสายไม่ว่างขอให้ติดต่อทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน Line @sabaideebot กรอกข้อมูลชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ เพื่อความสะดวกในการประสานส่งต่อ

นายแพทย์สมศักดิ์ ยังยืนยันด้วยว่า มีปรับปรุงระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด.

...