งานวิจัยสารคีเลตจุลธาตุอาหาร ที่ภาคเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อยอดสู่ปุ๋ยคีเลต ถือเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตต่างๆช่วยให้เกษตรกรทำน้อยแต่ได้มาก เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ใช้ต้นทุนที่ถูกลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า ปีนี้ทิศทางการเดินหน้าของนาโนเทคด้านเกษตรและอาหาร มุ่งเน้นเทคโนโลยีหลักอย่างเทคโนโลยีคีเลชัน ผนวกกับศาสตร์ด้านนาโนเคมีและการวิเคราะห์ขั้นสูง จนนำมาสู่ผลงาน ปุ๋ยคีเลตของกรดอะมิโนธาตุอาหารเสริมสำหรับพืชเศรษฐกิจ ด้วยการฉีดพ่นทางใบ ที่มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องเพิ่มการดูดซึม เร่งการเจริญเติบโตของพืช ช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหารทางดินและ ธาตุอาหารเสริมอะมิโนคีเลตสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ โดยวิจัยพัฒนาต้นแบบสูตรธาตุคีเลตรวมคุณภาพสูงแบบจำเพาะ ที่พัฒนาให้เหมาะกับสัตว์เศรษฐกิจแต่ละประเภท เช่น สุกร ไก่ไข่ และโคนม ตอบ สนองความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์จากสัตว์

...

“ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคีเลต เป็นการต่อยอดงานวิจัยสารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่พืช โดยภาคเอกชน ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรจำเป็นต้องเติมจุลธาตุอาหาร หรือธาตุอาหารเสริมที่พืชจำเป็นต้องใช้ในปริมาณไม่มากเพื่อให้พืชมีความสมบูรณ์ แต่มักมีปัญหาการสูญเสียและไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ เนื่องจากธาตุอาหารกลุ่มนี้ตกตะกอนได้ง่าย ทำให้พืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างเต็มที่

ทีมวิจัยจึงพัฒนาสารคีเลตจุลธาตุอาหาร ที่เตรียมจากกรดอะมิโน หน่วยย่อยขององค์ ประกอบประเภทโปรตีนของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ผ่านกระบวน การห่อหุ้มจุลธาตุอาหารในรูปแบบสารเชิงซ้อน ให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ดี พร้อมเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะใบด้วยโมเลกุลขนาดใหญ่ สลายตัวได้ตามธรรมชาติ จึงสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ได้ 20% ลดการใช้ปุ๋ยลง 50%”

ดร.วรรณี เผยถึงผลจากการทดลองนำไปใช้กับสวนทุเรียนใน จ.ระยอง ที่มักเจอปัญหาน้ำกร่อย ต้นทุเรียนไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควรซึ่งยังไม่มีทางแก้ไข หลังจากใช้ได้ 2 เดือน พบว่าต้นทุเรียนมีการเติบโตที่ดีขึ้น ใบสีเขียวสด เป็นพุ่มสวย ต้นที่ติดลูกให้ผลผลิตมากขึ้น ผลมีขนาดใหญ่กว่าเดิม.