จากเวทีสะท้อนปัญหาความรุนแรงทางเพศและทางครอบครัวสู่การขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นมิตร น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ กล่าวว่า คนวิตกกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น จนขาดความตระหนักรู้และสร้างความรังเกียจ และอาจนำไปสู่ความรุนแรง หรือแม้แต่ประเด็นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ก็เหมือนเพียงนำเตียงไปตั้ง ไม่คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเช่นคนพิการเด็กสตรีมีครรภ์หรือผู้สูงอายุ ซึ่งต้องมีพื้นที่อำนวยความสะดวก คำนึงถึงความปลอดภัย และสิทธิส่วนบุคคลด้วย อย่างกรณีที่แอบถ่ายภาพ ก็ถือเป็นความรุนแรงละเมิดสิทธิ ส่วนบุคคล ต้องทบทวนมาตรการกำหนดโทษเด็ดขาด
ทั้งนี้ในเวทีผู้แทนสตรีพิการ ผู้แทนเครือข่ายผู้ก้าวข้ามความรุนแรง และตัวแทนผู้ชายร่วมก้าวข้ามความรุนแรง ได้สะท้อนเสียงถึงปัญหาความรุนแรง ดังนี้ 1.ควรมีบทลงโทษทางอาญาต่อผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบการกระทำหรือหลอกลวงให้มีเพศสัมพันธ์ 2.ให้ประชาสัมพันธ์หน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 3.ภาครัฐควรมีบริการทางเลือกที่ปลอดภัยให้เด็กและสตรีที่ท้องไม่พร้อม 4.ภาครัฐจัดสรรงบฯและบูรณาการร่วมจัดสถานที่เลี้ยงเด็กให้ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 5.รัฐจัดสรรงบฯจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็ก สตรี และคนพิการที่ประสบความรุนแรงทางเพศและครอบครัวเพื่อการดำเนินคดี 6.รัฐควรจัดบริการทางการแพทย์ สิ่งอำนวยความสะดวกให้ 7.ศูนย์ปฏิบัติการความรุนแรง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ควรคำนึงถึงความต้องการของผู้ประสบความรุนแรง และ 8.ควรปรับปรุงระบบการบริการที่รวดเร็วในชั้นพนักงานสอบสวน.