- "บิ๊กบี้" ลงนามปรับย้ายนายทหารคุมกำลัง ระดับพันเอกพิเศษ หรือ "โผผู้การกรม-รอง ผบ.พล." จำนวน 119 นาย ทั่วประเทศ
- จัดแถวนายทหารทุกกองทัพภาค วางไลน์ "ยังเติร์ก" เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ รองรับภารกิจกองทัพบก
- ขยับขุนพล ดับร้อนเมษา เน้นกระจายรุ่น นำมือมือทำงานแก้ปัญหาแนวชายแดน ออกกฎเหล็กคำสั่ง ทบ.388/2563 ห้ามยุ่งเกี่ยวการชุมนุม
อุณหภูมิร้อนการโยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลัง ในระนาบพันเอกพิเศษ หรือเรียกว่า "โผผู้การกรม" และ "รอง ผบ.พล." จากหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ทั้งกองทัพภาค หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ หน่วยบัญชาการ้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งถือเป็นส่วนกำลังหลัก ถูกส่งถึงมือ "บิ๊กบี้" พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก่อนที่จะนำมาเขย่าทัพจัดแถวขุนพลระดับ "ยังเติร์ก" และออกมาเป็นที่เรียบร้อย จำนวน 119 นาย ถือว่าเป็นการลดแรงกระเพื่อมดับเมษาร้อนได้ในระดับหนึ่ง
...
เพราะการจัดทัพนายทหารระดับ "ผู้บังคับการกรม" และ "รองผู้บัญชาการกองพล" ครั้งนี้ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะปรับย้ายเพียงเล็กน้อย แต่ผลออกมาก็มีจำนวนถึงร้อยกว่าตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่ยังเน้นและให้ความสำคัญในตำแหน่งจากกองทัพภาคที่ 1 เป็นหลัก ที่คุมกำลังพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ ซึ่งรับราชการในพื้นที่ดังกล่าวมาทั้งชีวิต จึงถือว่ารู้จักมักคุ้นนายทหารระดับนี้เกือบทุกคน ในขณะเดียวกันก็มีนายทหารในสายตัวเองและใกล้ชิดที่เป็นลูกน้องเก่าจำนวนมาก ทำให้การจัดแถวในทัพภาค 1 จึงเข้มข้นเพื่อวางตัวคนที่ให้ใจได้เข้าสู่ไลน์ตำแหน่งสำคัญ
ขณะที่ กองทัพภาคอื่น พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็มีเพื่อนร่วมรุ่นกระจายอยู่ในทุกกองทัพภาค และได้ลงตรวจเยี่ยมทุกพื้นที่มาโดยตลอดทำให้รู้ข้อมูลดีว่า ใครควรปรับอยู่ในตำแหน่งไหน หน่วยไหน โดยยึดและเน้นการกระจายรุ่น ดูทั้งในแง่อาวุโส หลักความรู้ความสามารถในการนำหน่วย บริหารงานเพื่อพัฒนาองค์กร เพื่อทำให้หน่วยให้เจริญก้าวหน้า และเป็นระเบียบ โดยมี "แม่ทัพ" กลั่นกรองส่งรายชื่อเสนอขึ้นมาให้
และการลงนามของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับพันเอกพิเศษ กองทัพบกที่ 135 / 2564 เรื่องให้นายทหารรับราชการและปรับระดับเงินเดือน เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.64 จำนวน 119 นาย ถือเป็นการจัดแถวทหารที่ได้เหมาะสมกับนโยบายตัวเองที่ได้วางรากฐาน มุ่งเน้นงานกรม กองเป็นหลัก
พร้อมออกคำสั่งกองทัพบก 388/2563 กำหนดให้กำลังพลสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง รวมถึงการโพสต์ข้อความตามโซเชียลต่างๆ หากพบการกระทำผิด กองทัพบกจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน หากพบว่ามีความผิดก็ต้องได้รับโทษ หากเป็นความผิดทางวินัยก็ดำเนินการตามขั้นตอน แต่ถ้าไปเกี่ยวข้องกับคดีอาญาก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยทหารทำได้เพียงการติดตามข้อมูลข่าวสารการชุมนุมเท่านั้น แต่การชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำได้ หากไม่ขัดต่อกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การจัดทัพนายทหารระดับ "ยังเติร์ก" เพื่อลงมาคุมกำลัง ถือเป็นครั้งที่สองในตำแหน่ง ผบ.ทบ. หลังจากเมื่อ ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้ปรับย้ายไปก่อนหน้านั้นจำนวน 277 นาย ทำให้หลายหน่วย "บิ๊กบี้" ได้ส่งคนของตัวเองเข้าไปคุมกำลัง เพื่อให้การทำงานตามนโยบายให้ไหลรื่น
...
โดยในส่วนตำแหน่งสำคัญที่ขึ้นตรงกองทัพภาคที่ 1 พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่รับราชการในหน่วยนี้ และเติบโตจากกองทัพนี้มา จึงได้จัดวางลูกน้องที่ไว้ใจได้เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ ทั้งในกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ที่ดูแลพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตก กาญจนบุรี จนถึง ประจวบฯ โดยโยก พ.อ.สิทธิพร จุลปานะ ผบ.ร.19 (ตท.30) เป็น รองผบ.พล.ร.9 แล้วดึง พ.อ.ยุทธนา มีเจริญ ผอ.กองข่าวกองทัพภาค 1 (ตท.30) เป็น ผบ.ร.19 แทน แล้วให้ พ.อ.พีรภาส บัวเจริญ ผอ.กองข่าว กองทัพน้อยที่ 1(ตท.30) เป็น ผอ.กองข่าว กองทัพภาค1
ขณะที่ พ.อ.เพชรนรินทร์ โชตพินิจ รองผบ.มทบ.18 (ตท.25) ดูแลจ.สระบุรี โยกไปเป็น รอง ผบ.มทบ.14 เพื่อคุมพื้นที่ด้านตะวันออกจรด จ.ตราด พ.อ.ชนมากรณ์ ภิบาลชนม์ ผอ.กองกำลังพล กองทัพน้อยที่ 1 (ตท.26) เป็น รองผบ.มทบ.18
ส่วน กองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) หน่วยรถถังสไตรเกอร์ ได้โยก พ.อ.ยอดยศ เก็บ-เงิน นายทหารปฏิบัติการประจำมณฑลทหารบกที่ 11 ขยับไปเป็น เสนาธิการกองพลทหารราบที่ 11
...
ขณะที่ กองทัพภาคที่ 2 พล.อ.ณรงค์พันธ์ ให้ความสนใจเป็นพิเศษในพื้นที่ยังเป็นเขตอิทธิพลของคนเสื้อแดง จึงให้ความสำคัญในการจัดทัพครั้ง จึงมีการย้ายสลับหลายจังหวัด โดยมีหน่วยขึ้นตรงที่สำคัญ พ.อ.ยรรยง แสงฮาด รอง ผอ.สน.ปรมน.จว.มทบ.29 (ตท.22) เพื่อนร่วมรุ่น ขยับ เป็น รอง ผบ.มทบ.22 ดูแลพื้นที่โคราช พ.อ.ยุทธนา มีทิพย์ รอง ผอ.สน.ปรมน.จว.มทบ.21 (ตท.23) เป็น รอง ผบ.มทบ.24 ดูแลพื้นที่ จ.อุดรฯ พ.อ.ปริชญ์ สุคันธศรี รองผอ.สน.ปรมน.จว.มทบ.28 (ตท.23) เป็น รอง ผบ.มทบ.28 คุมพื้นที่ จ.เลย
พ.อ.ชินวิช เจริญพิบูลย์ รอง ผอ.สน.ปรมน.จว.มทบ.25 (ตท.23) เป็น รอง ผบ.มทบ.25 ดูแลพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ พ.อ.สาธิต อุ่นกาย รองผอ.สน.ปรมน.จว.มทบ.24 (ตท.28) เป็น รองผบ.มทบ.27 คุมพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด พ.อ.พงศ์กฤษฏ์ รุจิโยธิน รอง ผบ.ป.3 (ตท.25) เป็น ผบ.ป.3
ส่วนกองทัพภาคที่ 3 ได้ปรับตำแหน่งสำคัญในพื้นที่ เพราะกองทัพบกยังให้ความสำคัญในการดูพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะปัญหาการสู้รบของประเทศเพื่อนบ้าน และการระบาดโควิด-19 โดยได้โยก พ.อ.อาสาฬหะ พูลสุวรรณ รองผบ.มทบ.310 (ตท25) เป็น รอง ผบ.พล.ร.4 ดูแลนวชายแดนตั้งแต่ จ.ตาก ถึง จ.แม่ฮองสอน พ.อ.สาธิต ไวยนนท์ เสธ.มทบ.310 (ตท.26) เป็น รอง ผบ.มทบ.310 ดูแลพื้นที่ จ.ตาก
...
พ.อ.ธีระ ผดุงสุนทร เสธ.มทบ.33 (ตท.27) เป็น รอง ผบ.มทบ.33 คุมพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พ.อ.สมเจตตะณ์ ภักดีบรรณดิษฐ์ รองผบ.มทบ.37 (ตท.22) เป็น รองผบ.มทบ.34 ดูแลพื้นที่ จ.พะเยา พ.อ.บุญญฤทธิ์ เกษตรเวทิน รองผบ.มทบ.33 (ตท.27) เป็น รองผบ.มทบ.37 ดูแลพื้นที่ จ.เชียงราย พ.อ.กฤษดา ปานทับทิม ผอ.กองยุทธกรกองทัพภาคที่ 3. (ตท.30) เป็น ผบ.ร.17 ดูแลชายแดนจาก จ.พะเยา ถึง จ.เชียงราย พ.อ.สมจิตร เทียมจรรยา รองผบ.ป.21 (ตท.29) เป็น ผบ.ป.21
กองทัพภาคที่ 4 มีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนหลายตำแหน่งโดยโยกฝ่ายคุมกำลังเพื่อเน้นดูแลเหตุความไม่สงบในพื้นที่ จชต.โดยได้โยก พ.อ.อนุชา โนนคู่เขตโขง เสธ.พล.ร.5 (ตท.27) ขึ้นเป็น รองผบ.พล.ร.5 ดูแลพื้นที่ หลายจังหวัดในภาคใต้ พ.อ.ปกรณ์ จันทรโชตะ รองผบ.มทบ.44 (ตท.24) เป็น รองผบ.มทบ.42 ดูแลพื้นที่ จ.สงขลา พ.อ.สุรเทพ หนูแก้ว รองผบ.พล.พัฒนา 4 (ตท.26) เป็น รองผบ.มทบ.44 ดูแลพื้นที่ จ.ระนอง พ.อ.กรกฎ ภู่โชติ รองผบ.มทบ.42 (ตท.26) เป็น รองผบ.พล.พัฒนา 4
นอกจากนี้ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้โยก พ.อ.ชาคริต อุจะรัตน ผบ.รพศ.4 (ตท.28) เป็น รองผบ.ศสพ. พ.อ.อลงกต เพ่งพิศ รองเสธ.พล.รพศ.1 (ตท29) เป็น ผบ.รพศ.2 พ.อ.สุนทร กำลังมาก รองผบ.รพศ.4 (ตท.29) ขยับขึ้นเป็น ผบ.รพศ.4
สำหรับหน่วย ศูนย์การทหารราบ ขยับ พ.อ.อาวุธ พุทธอำนวย รองผบ.รร.ร.ศร. (ตท.26) เป็น รอง ผบ.ศร. พ.อ.สมพร ด่อนสิงหะ เสธ.รร.นส.ทบ. (ตท.25) เป็น รอง ผบ.ศร. และหน่วยศูนย์การทหารม้าปรับเอา พ.อ.สมศักดิ์ รักษาแสง รอง ผบ.รร.ม.ศม. (ตท.25) เป็น รอง ผบ.ศม.
จะเห็นว่าในการทำหน้าที่ 6 เดือนที่ผ่านมาของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ในตำแหน่ง "ผบ.ทบ." ได้จัดทัพปรับขุนพลระดับคุมกำลัง 2 รอบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ต่างๆ ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่รุมเร้าเข้ามา ทั้งปัญหาความไม่สงบ การชุมนุม การระบาดโควิด-19 แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง การป้องกันตามแนวชายแดน ปัญหายาเสพติด รวมถึงการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน
สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่กองทัพบกในฐานะเจ้าหน้าที่ จึงจะต้องส่งนายทหารที่ไว้ใจ และยึดถือนโยบายกองทัพบก มาทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพเพื่อประเทศชาติ บ้านเมือง และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน จึงต้องมีขุนพลที่ไว้ใจ และทหารที่มีความสามารถเข้าไปทำหน้าที่ แก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ลุล่วง
โดยยึดการทำงานเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ตามที่ประกาศเป็นนโยบายของกองทัพบกไว้
ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : sathit chuephanngam