เริ่มมาสักพักใหญ่แล้ว “พายุฤดูร้อนถล่มประเทศไทย” ลักษณะฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกทวีความรุนแรงกว่าทุกปี ก่ออันตรายสร้างความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2564 เป็นต้นมา “กรมอุตุนิยมวิทยา” ออกประกาศ “ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ” ทำให้ในตอนกลางวัน “พื้นที่ตอนบนของประเทศ” มีอุณหภูมิสูงสุด 35 องศาฯ ขึ้นไป ส่งผลให้อากาศร้อนอบอ้าวสะสมหลายวัน ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ลักษณะนี้มีโอกาส “เกิดพายุฟ้าคะนอง หรือพายุฤดูร้อน” ในเดือน มี.ค.-เดือน พ.ค. ก่อนเริ่มต้นฤดูฝนของทุกปี ข้อมูล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ “เกิดพายุฤดูร้อน” ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง

ตั้งแต่วันที่ 20-29 มี.ค.ในพื้นที่ 36 จังหวัด 161 อำเภอ 323 ตำบล 782 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 3,936 หลัง สถานที่ราชการ 1 แห่ง ผู้เสียชีวิต 4 ราย คือ จ.นครราชสีมา ลำปาง จังหวัดละ 1 ราย หนองคาย 2 ราย
เหตุเพราะทุกวันนี้ “พายุฤดูร้อน” มีระดับความรุนแรงจากอากาศแปรปรวนรวดเร็วฉับพลัน ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรงหนักขึ้นปัจจัยนี้ กรรวี สิทธิชีวภาค รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่า

...

ปกติแล้ว...“ พื้นที่ประเทศไทย” มีลักษณะเป็น “ภูมิอากาศแบบร้อนชื้น” โดยเฉพาะในช่วง “ฤดูร้อน” ตั้งแต่เดือน มี.ค.- ต้นเดือน พ.ค.ของทุกปี มักมีอากาศร้อนจัดอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน อีกทั้งมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนก็แผ่ลงปกคลุมภาคเหนือ และภาคอีสานอยู่เสมอ

เมื่อเป็นเช่นนี้ “มวลอากาศเย็นจากจีนปะทะกับสภาพพื้นที่ร้อนชื้นที่แห้งของประเทศไทย” ส่งผลให้อากาศบริเวณนั้น “แปรปรวน” ทำให้อากาศเย็นผลักความร้อนชื้นลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศ กลายเป็นไอความชื้นกลั่นตัวเป็นหยดน้ำก่อตัวเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่เกิดเป็น “พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง” ตามมา

บางพื้นที่มี “ลูกเห็บตก” กระทบก่อความเสียหายสิ่งก่อสร้าง สัตว์เลี้ยง พืชผลการเกษตร

แต่ว่า “ฝนตกลงมานี้” มักมีลักษณะแบบสั้นๆ 1-2 ชม. ก็หยุดตกแล้วเปลี่ยนเป็น “ท้องฟ้าเปิดอากาศเย็นลง” ส่วนความเร็วลมกระโชกราว 20 นอต รัศมีกินพื้นที่แคบๆ 10 ตร.กม. หรือรัศมี 2-3 หมู่บ้านเท่านั้น

มีข้อสังเกตอยู่ว่า...ในช่วง 2-3 ปีมานี้ “ฤดูร้อน” มักมี “สภาพอากาศร้อนจัด” สะสมผิดปกติ อีกทั้งมวลอากาศเย็นจากจีนเข้ามาแผ่ปกคลุมค่อนข้างถี่บ่อยขึ้นกว่าเดิม ผลักให้อากาศร้อนลอยตัวสู่ข้างบนสูงเร็ว กลายเป็นปัจจัยก่อชนวน “เกิดลูกเห็บตก” ทั้งยังส่งผลให้ “พายุฤดูร้อนยกระดับกระแสลมกระโชกรุนแรง” ค่อนข้างชัดเจน

ทำให้ “ความเร็วลมกระโชก” มีลักษณะปรับตัวยกระดับความรุนแรงขึ้น 20-30 นอต ส่วนปริมาณฝนตกก็หนักสูงสุด 90 มม.ต่อ ชม. ก่อให้เกิดความเสียหายขยายพื้นที่เป็นวงกว้างขึ้นมากกว่าปกติ

แม้ว่าปี 2564...“เข้าสู่ลานีญา” มีความชื้นเกิดฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ “อากาศไม่ร้อนมาก” เรื่องนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่า “สภาพอากาศเป็นตัวแปรการเกิดพายุลมแรง” แต่กลับมีโอกาสเกิดถี่บ่อยยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ

ต้องอธิบายอย่างนี้ว่า...“ประเทศไทย” ลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแล้งอยู่แล้ว “พายุฝนฟ้าคะนอง” มักเกิดขึ้น “ฤดูร้อน” ที่เป็นสภาพอากาศไร้ฝนตกและร้อนจัดสะสม เหตุนี้ในการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือลานีญา ก็ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่า “พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง หรือเกิดขึ้นถี่หรือไม่โดยตรง” เพราะมีองค์ประกอบอื่น

...

ตอกย้ำเข้ามาร่วมส่งเสริมเป็นตัวกระตุ้นก่อ “เกิดพายุฤดูร้อน” อยู่มากมายหลายอย่างเสมอ แต่ปัจจัยสำคัญของการ “ยกระดับพายุฤดูร้อน หรือทำให้มีลมกระโชกรุนแรง” อันเกิดจากสภาพ “อากาศผันผวนแปรปรวน” เพิ่มมากขึ้นกว่าอดีต มักเกิดมาจากการ “ปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ส่งผลให้สภาวะโลกร้อนมากกว่าก็ได้

ส่วนสัญญาณบ่งบอกแจ้งเตือนระวัง “พายุฤดูร้อน” กำลังเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นสิ่งคาดการณ์เกิดพายุฟ้าคะนองยากมาก เพราะมักเกิดในลักษณะจุดจำกัดพื้นที่แคบๆ แต่เราใช้วิธีตรวจสอบจาก “การก่อตัวจับกลุ่มก้อนเมฆฝน” ปรากฏจาก “จอเรดาร์” บ่งบอกของทิศทางเคลื่อนตัวเมฆฝนไปยังจุดพื้นที่ใด เพื่อทราบโอกาสการเกิดพายุขึ้นได้

ลักษณะเป็นการพยากรณ์ในช่วงระยะสั้น 1-2 ชั่วโมงก่อนการเกิดพายุพื้นที่นั้น ในส่วนคาดการณ์ “เกิดพายุฤดูร้อน” ใช้วิธีคำนวณอากาศเย็นจากจีนเข้ามาปกคลุมพื้นที่อากาศร้อน เพื่อแจ้งเตือนล่วงหน้าแบบกว้างในระดับภูมิภาค จังหวัด ให้ประชาชนรับทราบก่อน แต่ไม่อาจเจาะจงระบุพื้นที่แบบตำบล และอำเภอได้

...

แตกต่างจากพยากรณ์การ “ก่อตัวพายุมหาสมุทรเขตร้อน” ที่สามารถวิเคราะห์ความเร็วลม ความรุนแรง และทิศทางการเคลื่อนตัวระดับ 2-3 ชั่วโมง เช่น พายุดีเปรสชัน ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต พายุโซนร้อนมีความเร็วลมสูงสุด 34 นอต และไต้ฝุ่นหรือเฮอริเคน มีความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป

หลักๆแล้ว...“การเกิดพายุฤดูร้อน” ก็มีข้อสังเกตสัญญาณง่ายๆ “สภาพอากาศร้อนจัดอบอ้าวติดต่อกันมาหลายวัน” ลักษณะความชื้นอากาศสูงมักรู้สึกเหนียวตัว ลมค่อนข้างสงบชั่วขณะจากนั้นท้องฟ้าขมุกขมัวเมฆก่อตัวมากสูงขึ้นมี “ลมพัดแรง” เมฆก่อตัวหนาแน่นรวดเร็ว ทำให้เกิดฟ้าแลบ และฝนฟ้าคะนองในระยะไกล...

สุดท้ายก็กลายเป็น “พายุฝนฟ้าคะนอง” ตามมา ในส่วน “ระดับความแรงลม” ต้องอาศัยตัวแปร “ความร้อนอากาศ” เพราะยิ่งร้อนจัดย่อมมีความรุนแรงลมสูงมาก อีกสัญญาณหากมี “อากาศร้อนจัด” ควรพยายามตามข่าวสาร “มวลอากาศเย็นจากจีน” แผ่ลงมาปกคลุมพื้นที่นั้นก็มีโอกาสเกิดพายุค่อนข้างสูงได้ด้วยซ้ำ

...

ตอนนี้ “มวลอากาศเย็นจากจีน” เข้ามาแผ่ปกคลุม “พื้นที่ร้อนจัด” ค่อนข้างบ่อยถี่ขึ้น โดยเฉพาะ “ภาคเหนือ” จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย “ภาคอีสาน” เช่น สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร มุกดาหาร นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครพนม

“ภาคตะวันออก” คือ นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด “ภาคกลาง” นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่รวมถึงฟ้าผ่าเพิ่มในช่วงนี้

ประชาชนต้องระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงอยู่ที่โล่งแจ้ง อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างไม่แข็งแรง “เกษตรกร” เตรียมป้องกันระวังผลผลิตเสียหายไว้ด้วย

ประการต่อมา “ฤดูร้อน” ยังมีโอกาส “เกิดพายุทอร์นาโด” หรือ “ลมงวงช้าง” ได้ด้วย ลักษณะเป็นลำเหมือนงวงช้างยื่นออกมาจากฐานเมฆ ทำให้มักเห็นเป็นเมฆเป็นลำพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศคล้ายกับมีงวง หรือท่อ สามารถเกิดขึ้นได้ในจุดเล็กๆ มีได้ทั้งทางบก และทางทะเล อัตราการเกิดในไทยเฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อปี

กระแสลมพายุเร็วแรงไม่ต่ำกว่า 100 กม.ต่อ ชม. มักเกิดขึ้นเวลาสั้นไม่เกิน 1 ชม. แต่สามารถทำให้อาคาร บ้านเรือน สร้างความเสียหายหนักเช่นกัน

ในส่วน “สถานการณ์ฝน ปี 2564” โดยภาพรวมทั้งประเทศ มีปริมาณแนวโน้มดีมากกว่าค่าปกติ 5-10% ของค่าเฉลี่ย 30 ปี แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ต้องเผชิญ “ปัญหาขาดแคลนน้ำ” อยู่เช่นเดิม เพราะแม้ฝนตกมากจริงก็ใช่ว่า “ตกทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ” โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาจต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

คาดว่า “พายุ” น่าจะก่อตัวจากทะเลจีนใต้ เคลื่อนตัวเข้าประเทศเวียดนาม และประเทศไทยราว 2-3 ลูก ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.2564 ทำให้พื้นที่ที่จะรับผลกระทบมากสุด คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก แต่ในเดือน เม.ย.-พ.ค. ก็มีโอกาสการก่อตัว “พายุไซโคลน” บริเวณทะเลอันดามันขึ้นเช่นกัน

ทั้งยังส่งผลให้ฝั่งซีกตะวันตกของประเทศไทย เช่น ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณฝนมากกว่าซีกตะวันออก สุดท้ายนี้ “พายุฤดูร้อน” มีลักษณะรูปแบบการเกิดเป็นวงพื้นที่แคบๆ มีรัศมีไม่ไกล แต่เกิดแล้วมักมีระดับความรุนแรงสูง ต้องหมั่นดูแลสภาพอาคาร บ้านเรือน ให้มีความคงทนแข็งแรงด้วย

ย้ำว่าสภาพอากาศแปรปรวนไม่คงที่เช่นนี้ มีโอกาสให้เกิดเหตุอัน เลวร้ายผิดปกติของภัยธรรมชาติได้ “เพื่อความปลอดภัย” จำเป็นต้องหมั่นตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกจากบ้านอยู่เสมอ.