เปิดเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย จะมีผลบังคับใช้ปีนี้ ส่วนนิวซีแลนด์ จะมีผลบังคับใช้ตามมาในปี 2568 อุตสาหกรรมทั้งโคนม โคเนื้อ และผลิตภัณฑ์ของไทยย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงผลกระทบ

ตัวปัญหาที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสสำหรับเกษตรกรบ้านเราที่สุด นั่นก็คือ เรื่องของต้นทุน ที่บ้านเราใช้ค่อนข้างสูง เกษตรกรรายย่อยยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้

ฉะนั้น การพัฒนารูปแบบการเลี้ยง การบริหารจัดการ ให้เกษตรกรทุกรายเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาการเลี้ยงทั้งระบบ โดยใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืน น่าจะเป็นวิธีเดียวที่พอจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคบ้านเรายืนหยัดอยู่ได้

อีกหนึ่งความร่วมมือล่าสุด จากภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษา คือ การทำเอ็มโอยูกันระหว่างบริษัท ซีพี เมจิ จำกัด ผู้รับซื้อน้ำนมดิบรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเน้นพัฒนาผู้เลี้ยงโคนมไทย ตาม “โครงการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม เชื่อมโยงสุขภาพผู้บริโภค” พัฒนากระบวนการผลิตน้ำนมคุณภาพดี ปลอดยาปฏิชีวนะตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร มุ่งเป้าผลิตอาหารนมที่มีคุณภาพส่งต่อผู้บริโภค

โดยมีการกำหนดพันธกิจสร้างแพลตฟอร์มสนับสนุนงานวิจัย การเรียนการสอน และบริการวิชาการด้านโคนมและผลิตภัณฑ์ ที่มีความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมและอาหารสัตว์

เชื่อมโยงเครือข่ายวิชาการร่วมกับเกษตรกร สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และบริษัทเอกชนในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง

ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนา นำองค์ความรู้ด้านวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมลงสู่ฟาร์มเกษตรกรในรูปแบบ Dairy Veterinary Community Approach ในการสร้างต้นแบบจัดการฟาร์มโคนมแม่นยำสูง เพื่อลดต้นทุน ความสูญเสีย เน้นความปลอดภัยของอาหาร บนพื้นฐานข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องและมาตรฐานสากล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมที่ยั่งยืนของไทยและภูมิภาค

...

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถพัฒนาศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและเกษตรกรโคนมในเครือข่าย 50 ฟาร์ม ภายในปี 2564 พร้อมขยายโครงการไปอีก 150 ฟาร์ม ในปี 2566 คาดว่าจะมีแม่โครีดนมเข้าร่วมกว่า 3,000 ตัว.

สะ-เล-เต