• กระทรวงการคลัง ผุดมาตรการ “เราผูกพัน” ช่วยโควิดฯ ข้าราชการชั้นผู้น้อย
  • "เราผูกพัน" คลังเร่งสรุปโครงการ ดันช่วย ขรก.-ลูกจ้างรัฐ กว่า 1 ล้านคน
  • "คลัง" เร่งดันมาตรการ “เราผูกพัน” แจกเงินช่วย ขรก.ชั้นผู้น้อย-ลูกจ้างรัฐ หลัง "สงกรานต์" นี้ชัดเจน

หลังเจอพิษโควิดฯ ระลอก 2 เล่นงานจน "เมาหมัด" รัฐบาลผุดหลากหลายมาตรการตั้งการ์ดสู้ "ลด-แลก-แจก-แถม" เพื่อช่วยเหลือประชาชนหาเช้ากินค่ำ ในสภาวะการทำมาหากินสุดแสนจะลำบาก เพื่อช่วยลดรายจ่ายผู้มีรายได้น้อย ทั้ง พ่อค้า-แม่ค้า เกษตรกร มนุษย์เงินเดือน-ชาวออฟฟิศ ผู้ใช้แรงงานฯ ให้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อเป็นทุนจับจ่ายซื้อใช้สอย อุ้มชูปากท้อง แต่ก็ยังไม่วายมี "กลุ่มตกหล่น" จากสวัสดิการช่วยเหลือ จากกฎเกณฑ์ของมาตรการต่างๆที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะ "กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย-ลูกจ้างชั่วคราว-ลูกจ้างของรัฐและวิสาหกิจ"

ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงมีแนวคิดผุดโครงการ "เราผูกพัน" เพื่อเยียวยาข้าราชการชั้นผู้น้อยกว่า 1 ล้านคน ช่วยค่าครองชีพช่วงโควิดฯ วันนี้เราจึงรวบรวมรายละเอียดเบื้องต้น หลักเกณฑ์ผู้รับสิทธิ และความชัดเจนของมาตรการดังกล่าว มาให้ดูกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ???  

...

ผุด "เราผูกพัน" เยียวยาโควิดฯ ขรก.ชั้นผู้น้อย

ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่า จะมีการช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าว ผ่านมาตรการ "เราผูกพัน" ซึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กำลังเร่งสรุปรายละเอียดอยู่ เนื่องจากคนกลุ่มอื่นได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไปหมดแล้ว ยกเว้นกลุ่มข้าราชการซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้าย โดยการช่วยเหลือจะเป็นในลักษณะช่วยลดค่าครองชีพ ส่วนรูปแบบจะเหมือนกับโครงการ "เราชนะ" หรือแตกต่างหรือไม่นั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

"กระทรวงการคลังกำลังดูรูปแบบว่าจะจ่ายเงินกลุ่มข้าราชการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งจะศึกษาแนวทางการจ่ายเงินจากโครงการ “เราชนะ” โดยตอนนี้มีข้อมูลข้าราชการที่เหมาะสมได้รับสิทธิ์อยู่ในระบบหมดแล้ว"

ส่วนโครงการ เราชนะ ที่ช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนรายละ 7,000 นั้น ปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการถึง 32.3 ล้านคน ซึ่งมากกว่า ครม.อนุมัติ ผู้เข้าร่วมจำนวน 31.1 ล้านคน วงเงินรวม 210,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรอบวงเงินที่มียังเพียงพอสำหรับดูแลผู้ที่ได้รับสิทธิ์เพิ่มเติม แม้จำนวนคนจะเกินกว่าที่ ครม.คาดการณ์ไว้ ซึ่งกระทรวงการคลังสามารถบริหารได้ในกรอบ 210,000 ล้านบาท จึงยังไม่ต้องโยกเงินส่วนอื่นมาใส่ในโครงการนี้ ขณะที่โครงการคนละครึ่ง จะขยายโครงการไปถึงสิ้นปี 64 หรือไม่นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องดูรายละเอียดประกอบว่าประชาชนได้รับประโยชน์แค่ไหน หรือมีการเอารัดเอาเปรียบกันมากหรือเปล่า

"ข้าราชการ" กลุ่มไหนเข้าเกณฑ์-ได้เงินเท่าไร ?

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มาตรการ "เราผูกพัน" อยู่ในขั้นตอนพิจารณาเงื่อนไขว่า จะใช้เกณฑ์วัดจากฐานเงินเดือนของข้าราชการตั้งแต่เงินเดือนเท่าไหร่ลงไป? โดยปัจจุบันมีข้าราชการในระบบจำนวน 1 ล้านคน และลูกจ้างหรือพนักงานรัฐอีก 2 แสนคน ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาว่า "ใครสมควร" ได้รับความช่วยเหลือบ้าง แต่ข้าราชการที่มี "รายได้สูง" จะไม่ได้รับการช่วยเหลือในมาตรการนี้อย่างแน่นอน !!!

สำหรับในประเด็นเงินเยียวยาที่กลุ่มข้าราชการที่มีรายได้น้อยจะได้รับจากมาตรการนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายว่า วงเงินที่ข้าราชการได้รับจะได้น้อยกว่ามาตรการ ม.33 เรารักกัน ที่ช่วยเหลือในระบบประกันสังคม เป็นจำนวนเงินรายละ 4,000 บาท อย่างแน่นอน 

ข้าราชการที่มีรายได้น้อย "ไม่จำเป็น" ต้องลงทะเบียน เนื่องจากกระทรวงการคลัง มีฐานข้อมูลอยู่ในระบบทั้งหมดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างการทบทวนว่า รูปแบบการช่วยเหลือนั้นจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด เนื่องจากปกติแล้วกรมบัญชีกลางนั้น มีการจ่ายเงินให้ข้าราชการเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นในมาตรการ "เราผูกพัน" จะเลือกเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารข้าราชการที่มีรายได้น้อย หรือจะเป็นการโอนเงินเข้าแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เพราะข้าราชการบางส่วนได้รับสิทธิ์ในมาตรการ "คนละครึ่ง" และมีการใช้จ่ายผ่านแอปฯ เป๋าตังอยู่แล้ว

...

แย้มหลัง "สงกรานต์" ชัดเจนชัวร์ ได้แน่นอน !!!

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง ยังเปิดเผยอีกว่า ความคืบหน้ามาตรการเราผูกพัน ซึ่งเป็นโครงการที่จะออกมาเยียวยาข้าราชการและพนักงานจ้างของหน่วยงานรัฐต่างๆ ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณ 1.2 ล้านคนนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาเงื่อนไขว่า จะนำเกณฑ์อะไรมาวัดระดับเงินเดือนของข้าราชการ ที่ควรได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล จึงยังไม่ได้สรุปรูปแบบและรายละเอียดของมาตรการ อาทิ มีผู้ควรได้สิทธิ์รับการเยียวยาจากรัฐบาลจำนวนเท่าใด เม็ดเงินที่ควรได้รับ และงบประมาณที่จะใช้ แต่ยืนยันว่าจะมีการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้แน่นอน เนื่องจากฐานเงินเดือนของข้าราชการไม่ได้ปรับมานานมากแล้ว เพราะยังติดข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ

"การให้สิทธิ์เยียวยาข้าราชการที่มีอยู่หลักล้านกว่าคนนั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนสูงอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ยืนยันว่าจะไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยาจากรัฐบาลแน่นอน โดยขณะนี้ประเมินวิธีการให้เงินเยียวยากับผู้ที่ได้สิทธิ์ น่าจะง่ายกว่าโครงการที่ผ่านมา เนื่องจากมีฐานข้อมูลบัญชีของพนักงานอยู่แล้ว ซึ่งจะอ้างอิงกับกรมบัญชีกลางที่มีการจ่ายเงินให้กับข้าราชการประจำอยู่แล้ว ทำให้อาจไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนรับสิทธิ์เหมือนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดโครงการได้ในช่วงหลัง "สงกรานต์" นี้ ซึ่งจะต้องพิจารณาอีกครั้งว่า โครงการดังกล่าวเข้าข่ายการเยียวยาหรือไม่ หากไม่เข้าข่ายก็ต้องใช้งบประมาณของงบกลางในการดำเนินโครงการนี้" 

เรียบเรียงโดย : หงเหมิน

กราฟฟิก : Jutaphun Sooksamphun