ข่าวนี้ เริ่มจากชาวบ้านได้ร้องเรียน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรณีมี นายทุนขุดชายหาดบางมะพร้าว หมู่ 13 ต.บางมะพร้าว อ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยนำรถแบ็กโฮไปขุดดินบริเวณชายหาดขึ้นมาถมทำถนนและร่องน้ำ เพื่อวางท่อน้ำขนาดใหญ่ลงไปในทะเลยาว 200 เมตร และสูบน้ำมาใช้ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทเอกชน
ชาวบ้านหวั่นเกรงว่าจะสร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติพื้นที่ชายทะเล และระบบนิเวศชายฝั่ง จึงขอให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปตรวจสอบและเสนอข่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขปัญหา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล
พร้อมกันนี้ผู้สื่อข่าวได้ประสานกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบด้วย โดยมี เลขานุการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมชุมพร ในฐานะ คณะอนุกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ชุมพร ร่วมกับ ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จ.ชุมพร, ผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาค สาขาชุมพร, ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) และ ผอ.ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน จ.ชุมพร ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ
จากนั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้นำเสนอข่าวตีแผ่เรื่อง การขุดชายหาดบางมะพร้าว เพื่อทำถนนและร่องน้ำ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง เป็นฉบับแรกและฉบับเดียว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเข้าไปตรวจสอบจนกระทั่งพบว่ามีการกระทำผิดจริง พร้อมตั้งคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ต่อมา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาชุมพร นำหลักฐานเข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน สภ.ปากน้ำหลังสวน เพื่อให้ดำเนินคดีกับบริษัทที่ขุดทะเล กล่าวหาว่า ขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ในความผิดมาตรา 120 พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 รวมถึงมีการฟ้องร้องทางแพ่งกับบริษัทดังกล่าว
...
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพียงฉบับเดียวที่เกาะติดนำเสนอข่าวการขุดดินถมทะเลวางท่อน้ำฟาร์มกุ้ง ตั้งแต่ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 มีการสอบถามข้อเท็จจริงรอบด้านทั้งจากชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขุดทะเลทำถนนวางท่อน้ำขวางทางเดินเรือ สัมภาษณ์เจ้าของฟาร์มเลี้ยงกุ้ง รวมถึงติดตามรายละเอียดจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการลงพื้นที่หาข้อมูลร่วมกัน
แม้ว่าบริษัทฯจะอ้างว่าได้ขออนุญาตก่อสร้างจาก สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาชุมพร เพื่อวางท่อน้ำรวม 4 ท่อ ขนาด 20 นิ้ว ความยาว 200 เมตร โดยใช้วิธีฝังลึก 1.5 เมตร ลงในทะเล แต่ไม่ได้ปฏิบัติไปตามแบบก่อสร้างที่จะไม่ส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อชายฝั่งและทะเลเช่น ใช้โป๊ะ แพ หรือทุ่นลอยน้ำในการขุด หรือดูดทรายขึ้นมาเพื่อวางท่อ
แต่กลับใช้เครื่องจักรกลหนัก นำรถแบ็กโฮลงไปขุดสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ชายฝั่งและระบบนิเวศอย่างชัดเจนจนนำไปสู่การดำเนินคดีในที่สุด
ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบพบว่าตลอดแนวพื้นที่ชายฝั่งยังมีการขุดทะเลในลักษณะเดียวกันอีกหลายจุด แต่หลังจากมีการตีแผ่ข่าวดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ติดต่อกันหลายวัน กลุ่มนายทุน ที่ลักลอบดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ไม่กล้าดำเนินการต่อรีบเก็บอุปกรณ์เครื่องจักรกลและปรับสภาพพื้นที่ชายหาดให้เรียบร้อย พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มมาตรการคุมเข้มพื้นที่ชายฝั่งทะเลมากยิ่งขึ้น
การเสนอข่าวของ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สามารถหยุดยั้งการลักลอบขุดชายหาด ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และยึดพื้นที่ชายทะเลที่เป็นสมบัติสาธารณะไว้ได้ รักษาปกป้องทรัพยากรของชาติ และระบบนิเวศทางทะเลไม่ให้เกิดความเสียหาย
ช่วยชาวบ้านธำรงไว้ซึ่งอาชีพประมงชายฝั่งที่ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทางทะเลในการหาเลี้ยงชีพ แต่หากพื้นที่ชายฝั่งถูกทำลาย จะส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ถูกคุกคามลดน้อยลง
หยุดพฤติกรรมการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบจากทะเล ไม่เพียงแต่บริษัทฯที่ถูกดำเนินคดีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนายทุนรายอื่นไม่กล้ากระทำผิดท้าทายกฎหมาย
สามารถนำตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี โดยการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด พนักงานสอบสวน สภ.ปากน้ำหลังสวน ดำเนินคดีตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป
ข่าวนี้จึงสมบูรณ์ในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ที่ตีแผ่และหยุดยั้งการทำลายระบบนิเวศทางชายฝั่งทะเลทันที ได้อย่างสมบูรณ์
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้พิจารณาให้ข่าวได้รับ รางวัล “ข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี 2563” ของ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยเป็นผลงานการทำข่าวของ นายทิวา ทองศิริ ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ประจำ จ.ชุมพร.