เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเกษตรกรปลูกพืชอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตรประสบความความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์แหนแดง ที่ใช้ธาตุอาหารมากกว่าพืชตระกูลถั่ว สามารถนำมาใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้

“ความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตร กับสถาบัน วิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์แหนแดงที่ใช้เป็นปุ๋ยในนาข้าวจากทั่วโลกมาให้เราทำการศึกษาวิจัย และเราได้คัดเลือกพันธุ์ที่ให้ธาตุอาหารสูงมาทำการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ ให้ทนกับสภาพอากาศร้อนแล้งของบ้านเรา จนได้เป็นพันธุ์ที่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เรียกกันเป็นการภายในว่า แหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตร”

ดร.ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร บอกถึงที่มาของ แหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตร...ที่มีลักษณะต้นใหญ่กว่าแหนแดงพันธุ์พืชเมืองของบ้านเรา ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า และสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ภายใน 30 วัน จะให้ผลผลิตแหนแดงถึงไร่ละ 3 ตัน

...

และเมื่อนำไปวิเคราะห์ค่าธาตุอาหาร แหนแดงพันธุ์นี้ จะมีค่าธาตุอาหารหลัก N-P-K ค่อนข้างสูง โดยมีไนโตรเจน (N) อยู่ที่ 5% ฟอสฟอรัส (P) อยู่ที่ 0.8% และโปแตสเซียม (K) 5%

เรียกว่า มีค่าธาตุอาหารสูงกว่าพืชตระกูลถั่ว ที่มีค่าไนโตรเจนเพียงแค่ 3%เท่านั้น และถ้าการปลูกถั่วไม่มีการนำเชื้อแบคทีเรียไรโซเบียมมาคลุกเคล้ากับเมล็ดพันธุ์ถั่ว ธาตุอาหารสำหรับพืชแทบจะไม่มีเลย

“แหนแดงไม่ต้องพึ่งพาไรโซเบียม เพราะใบของแหนแดงมีโพรงใบ เป็นที่อยู่อาศัยของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิดที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาไว้ในตัวได้ เลยทำให้แหนแดงมีค่าธาตุอาหารสูง สามารถที่จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสด และเพื่อให้เหมาะที่จะนำไปเป็นปัจจัยการผลิตสำหรับบำรุงพืชเกษตรอินทรีย์ได้หลายชนิด เราต่อยอดนำไปตากแดดให้แห้งเพื่อให้นำไปใช้ได้สะดวกและเก็บได้นานขึ้น ปรากฏว่าค่าธาตุอาหารลดลงไปเล็กน้อยแค่ 0.5% เท่านั้น และเมื่อนำไปทดลองกับการปลูกผักกินใบ อย่างคะน้า กวางตุ้งและผักสลัด นำแหนแดง 1 กำมือ มาคลุกกับดิน รองก้นหลุมผักโตเร็วกว่ากันอย่างเห็นได้ชัดเจน”

สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินโพรงใบแหนแดง
สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินโพรงใบแหนแดง

สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะนำแหนแดงพันธุ์นี้ไปใช้ประโยชน์ ดร.ศิริลักษณ์ แนะให้ไปขอแม่พันธุ์แหนแดงได้จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแต่ละจังหวัด

เมื่อได้แม่พันธุ์มาแล้ว ให้เตรียมวงบ่อซีเมนต์ไว้เพาะเลี้ยงแม่พันธุ์ 3 บ่อ แต่ละบ่อให้ใส่ดินให้สูงขึ้นมา 1 คืบ ใส่ดินให้สูง 10 ซม. ดินทั่วไปแต่ไม่ควรเป็นดินทรายเพราะมีธาตุอาหารน้อย ใส่ปุ๋ยคอก 0.5 กก. จากนั้นเติมน้ำให้สูงขึ้นมา 10 ซม. ทิ้งไว้ในที่ร่มใต้ร่มไม้ที่ไม่โดน แดดจัดมาก 7-10 วัน

เมื่อแหนแดงขยายพันธุ์จนเต็มบ่อซีเมนต์ ให้ตักไปเลี้ยงขยายต่อในบ่อ สระหรือในกระชังได้ทั้งนั้น แล้วแต่ความสะดวกของเกษตรกร...แต่ให้เก็บแม่พันธุ์ในวงบ่อซีเมนต์ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อขยายพันธุ์ต่อ

ระยะเวลาปลูกเท่ากับใช้แหนแดงรองก้นหลุมผักโตกว่า
ระยะเวลาปลูกเท่ากับใช้แหนแดงรองก้นหลุมผักโตกว่า

...

สำหรับการเลี้ยงขยายพันธุ์ในบ่อ สระ หรือกระชัง ดร.ศิริลักษณ์ แนะให้ดูเรื่องระดับความลึกของน้ำเป็นสำคัญ น้ำควรมีความลึกประมาณ 1 ศอก ถ้าลึกเกินไปแหนแดงจะโตช้า เพราะน้ำลึกรากจะไม่ค่อยได้รับธาตุอาหารจากดิน

เลี้ยงต่อไปประมาณ 1 เดือนจะได้แหนแดงไร่ละ 3 ตัน...แต่ถ้าเป็นหน้าฝน เลี้ยงแค่ 2 สัปดาห์ก็ได้ผลผลิตแล้ว

จากนั้นตักขึ้นมาตากแห้งสัก 2 แดด บรรจุใส่กระสอบจะเก็บไว้ใช้ได้นาน 3-5 ปี หรือจะทำเป็นอาชีพผลิตแหนแดงแห้งขายให้กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชอินทรีย์ได้ด้วย ถ้ามีคนรับซื้อ.

ชาติชาย ศิริพัฒน์