วิกฤตการณ์ “โควิด-19” ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของจังหวัด “ภูเก็ต” ที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว และ...พึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยในปี 63 ที่ผ่านมาภูเก็ต...“เมืองแห่งไข่มุกอันดามัน” สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 320,000 ล้านบาท

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีความหวัง ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล บอกว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), AIS, POMO, กลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ และสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือจัดทำ...“โครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์-Digital Yacht Quarantine” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในไทย

...

โครงการนี้ทำที่ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต เอไอเอสสานต่อพันธกิจ “AIS 5G สู้ภัยโควิด” นำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ด้วยศักยภาพโครงข่าย AIS NB-IoT และนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ (NB-IoT Wristband Tourist Tracking) มาใช้

รวมถึงเครื่องมือมอนิเตอร์ “ข้อมูลสุขภาพ” หรือ “Health Monitoring” นักท่องเที่ยวระหว่างกักตัว 14 วัน แน่นอนว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจและเสริมความปลอดภัยด้านสาธารณสุขแก่นักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ต

นอกจากนี้แล้วยังจะทำให้การ “กักตัว” บน “เรือยอชต์” ของนักท่องเที่ยวและการทำงานของทีมแพทย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“เราเชื่อมั่นว่าโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine จะเกิดประโยชน์กับผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS อธิบายต่อไปว่า สำหรับขั้นตอนการให้บริการ เริ่มขึ้นเมื่อมีนักท่องเที่ยวประสานเดินทางเข้ามาทางเรือ สมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทยจะเป็นตัวแทนประสานงานกับหน่วยงานทางการแพทย์

เพื่อทำการตรวจโรคในครั้งแรก จากนั้นจะให้ “นักท่องเที่ยว” สวม...“สายรัดข้อมืออัจฉริยะ”

ริสต์แบนด์อัจฉริยะ AIS” จะส่งตัวเลขสุขภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละท่านตลอด 14 วันของการกักตัว เข้ามาที่แดชบอร์ด (Dash Board) ณ ที่ทำการท่าเทียบเรืออ่าวปอ ซึ่งหลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า “นักท่องเที่ยว” มีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด

เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป

ในฐานะ Digital Life Service Provider ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 1 ด้วยเครือข่าย AIS 4G, 5G ที่มีคลื่นมากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ...กลาง...สูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 700 MHz...คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz ตลอดจนเครือข่าย IoT ทั้ง NB-IoT และ eMTC ที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด

“โครงการนี้เราเลือกใช้เครือข่าย Narrow Band IoT ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT บนคลื่น 900 MHz ซึ่งสามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กิโลเมตร พร้อมใช้ Cloud มาเป็นเครือข่ายหลักเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของ NB–IoT Wristband Tracking”

...

บริการเครือข่าย NB-IoT และ EMTC มีคุณสมบัติเหมาะกับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ที่จะเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานระยะไกล, เหมาะกับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ที่ไม่มีการเคลื่อนที่มากนัก...ใช้แบนด์วิดท์น้อยในการส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT, ใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อย

ทำให้อุปกรณ์ IoT ที่มีการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่หรือโซลาร์เซลล์สามารถทำงานได้อย่างยาวนาน ดังนั้นจึงเหมาะที่จะนำไปใช้ในการเชื่อมต่อเครือข่ายสำหรับผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันกลุ่ม Smart Things ที่เน้นการอ่านค่าจากข้อมูล เซ็นเซอร์และรับคำสั่งกลับไปจากเซิร์ฟเวอร์หรือ Cloud ส่วนกลางเป็นหลัก ตอบโจทย์...“สมาร์ทซิตี้”

สำหรับ “NB-IoT Wristband Tracking” พัฒนาขึ้นโดยบริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง (POMO) เป็นส่วนงานที่จะมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว...ส่งข้อมูลต่อมายัง “แพทย์”... “เจ้าหน้าที่” ผู้เกี่ยวข้อง

...

น่าสนใจว่า...ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้แบบเรียลไทม์ ในระหว่างกักตัว 14 วันบนเรือก่อนเดินทางขึ้นบกเพื่อท่องเที่ยวต่อไป

“POMO” เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2557 เป็นสตาร์ตอัพไทยด้าน IoT สำหรับเด็กและนวัตกรรมสร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่รายแรกที่สามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกได้สำเร็จ โดยความร่วมมือกับ เอไอเอส และ ดีป้า ในการนำเทคโนโลยี...นวัตกรรมมาสนับสนุนการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโครงการนี้

ฉัตรชัย ตั้งจิตตรง ประธานกรรมการ บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด เสริมว่า สำหรับ Digital Yacht Quarantine...โครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ เราได้ใช้อุปกรณ์ดีไวซ์ 2 รุ่นคือ Active 10+ และ Smartwatch Active 30+ ที่เป็นทั้ง Tracker และ Health Device...จัดการประสานเครื่องมือตรวจจับอุปกรณ์ทางด้านสุขภาพ ให้นักท่องเที่ยวใส่ที่ข้อมือติดตัวตลอดเวลา เพื่อ “ติดตาม” และ “เฝ้าระวัง” ป้องกันการออกนอกพื้นที่

โดยระบบจะทำงานอย่างแม่นยำด้วยเซ็นเซอร์อัจฉริยะที่สามารถวัดชีพจร ค่าความดัน และวัดอุณหภูมิร่างกายของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังจะสามารถแจ้งสัญญาณ SOS ได้ หากนักท่องเที่ยวเกิดเหตุต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งข้อมูลต่างๆจะแสดงไปยัง “Dashboard”...หน้ากระดานสรุปข้อมูลบนเว็บไซต์แบบเรียลไทม์ทันทีทันใด เพื่อให้ส่งต่อความช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำได้ตลอดเวลา

...

ให้รู้ไว้อีกว่า...รูปแบบของการให้บริการ “Health Monitoring” ผ่านนวัตกรรมสายรัดข้อมืออัจฉริยะนี้ เป็นรุ่นเดียวกันกับที่ใช้บนเกาะเคย์แมน สำหรับ Hotel bubble project ที่ได้ผลอย่างดีอีกด้วย

ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลจาก “ผู้ให้บริการโครงข่าย” และ “สตาร์ตอัพไทย” เข้ามาเสริมเติมเต็มขีดความสามารถด้านการสาธารณสุขและการสร้างมาตรฐานใหม่ของการท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอลไปอีกขั้น

พร้อมขับเคลื่อน “จังหวัดภูเก็ต” สู่ “เมืองอัจฉริยะ” เต็มรูปแบบ สอดรับกับนโยบาย “ภูเก็ตโมเดล (GEMMSS)” ทำให้จังหวัดเป็นต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและการควบคุมโควิด-19 แห่งแรกในประเทศไทย ตามเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะภูเก็ต นั่นก็คือ “เมืองน่าอยู่เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน”

ช่วยกระตุ้นและจูงใจนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย...ชาวต่างชาติให้เดินทางมายังภูเก็ตมากขึ้น ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก...แข็งแกร่งอีกครั้ง

“วิถีนิวนอร์มอล”...กระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอวดสายตาชาวโลก...เป็นที่น่าจับตามากว่าการรวมพลังพลิกฟื้นภูเก็ตจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนชั้นนำในครั้งนี้ จะสามารถขยายผลไปยังจุดท่องเที่ยวทางเรือในจังหวัดอื่นๆได้ต่อไปมากน้อยแค่ไหน.