การระบาดโควิด-19 ลากยาวมานานกว่า 15 เดือน แล้ว นับวันยิ่งซ้ำเติมฉุดเศรษฐกิจทรุดต่ำดิ่งลงเหวเรื่อยๆ “คนไทยต่างเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า” โดยเฉพาะ “คนหาเช้ากินค่ำ” ต้องตกงานขาดรายได้ไม่พอกับรายจ่าย “บางครอบครัว” แทบไม่มีเงินซื้อข้าวกรอกหม้อกินด้วยซ้ำ

แม้ว่า “รัฐบาล” จะออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือต่อเนื่อง ทั้งเสริมสภาพคล่อง ลดค่าใช้จ่าย และการแจกเงินมากมายหลายโครงการ “เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน” แต่ก็ไม่อาจมี “เงินมากพอ” ต่อการแจกตลอดปีได้

ด้วยเหตุที่ต้องเจอปัญหารุมเร้าจาก “ถูกเลิกจ้าง ตกงาน มาตั้งแต่ปี 2563” กลายเป็นการเผชิญความกดดัน “ความมั่นคงทางการเงิน” ทำให้ “ประชาชนหาเช้ากินค่ำ” ต่างดิ้นรนเอาตัวรอดพึ่งพา “การหยิบยืมคนใกล้ชิด” ทั้งยังมีหลายคนเลือกทางออก “เงินกู้ในระบบ และนอกระบบ” จนหนี้สินท่วมหัว

...

แต่มีไม่น้อยหันมา “พึ่งพิงสถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำ” ในการนำทรัพย์สินเบ็ดเตล็ดสารพัดนานาประเภท ทั้งทรัพย์สินของมีค่าเก่าเก็บ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ครัวเรือน เครื่องจักรกลการเกษตร ไม่เว้นแม้แต่ครกหิน ซึ้งนึ่ง กระทะทองเหลือง ชานหมาก มาฝากไว้กับโรงรับจำนำ

เพื่อแลกเงินสดมาหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัว ที่เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า “ต่อลมหายใจ” ยามชีวิตตกอับต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินนี้

สถานการณ์ระบาดระลอกแรกคลี่คลายดีขึ้น “ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเกือบ 200 วัน” ผู้คนกำลังกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ “สถานประกอบการ” เริ่มขับเคลื่อนได้ไม่นาน “เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่” เสมือนเป็น “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” กลายเป็นการซ้ำเติม “ความทุกข์คนไทย” ต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสตามมา

เหตุนี้จะหันไปหยิบยืมคนใกล้ชิดอีกก็ไม่ได้ ทำให้ต้องหาทางออกด้วย “การนำทรัพย์มีอย่างจำกัด” เดินเข้าสู่ “โรงจำนำ” อีกครั้ง “ทีมสกู๊ปหน้า 1” จึงสำรวจอัปเดตบรรยากาศ “สถานธนานุบาล จ.เชียงใหม่” ที่คงมี “ประชาชน” นำทรัพย์สินเก่าเก็บ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ครัวเรือน และเครื่องมือช่าง มาจำนำต่อเนื่องอยู่เช่นเดิม

เดชา ปัญญาวุฒิภัทร ผจก.สถานธนานุบาลเทศบาลตำบลป่าแดด บอกว่า ตามปกติ “ประชาชน” มักมาใช้บริการในช่วงก่อน “เปิดภาคเรียน” เพื่อนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายให้บุตรหลาน ทั้งค่าตำรา ชุดนักเรียน และค่าเทอม ในส่วน “ทรัพย์สินมาจำนำ” มีทั้งทองรูปพรรณ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

จนมาต้นปี 2563...มีการระบาดโควิด-19 ระลอกแรก “รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์” ส่งผลกระทบต่อ “ภาคธุรกิจอย่างหนักหน่วง” โรงงานหลายแห่ง “ปิดตัว” ส่วนที่ไม่ปิดต้องลดกำลังการผลิตลง หรือใช้วิธีควบรวมยุบย้ายโรงงาน “พนักงานต้องถูกเลิกจ้าง” กลายเป็น “คนตกงานมากมายหลายชีวิต” ไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว

นับแต่นั้น “ประชาชน” เริ่มออกมาใช้บริการโรงรับจำนำกันอย่างมากเฉลี่ยวันละ 20-30 ราย ส่วนใหญ่นำทรัพย์สินมาจำนำ คือ ทองรูปพรรณ ทองแท่ง และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือช่าง เช่น ตู้เชื่อม เครื่องตัดหญ้า ทีวี สว่านไฟฟ้า กบไฟฟ้า ซึ่งค่าบริการ 5,000 บาทแรกดอกเบี้ย 0.25 สตางค์ต่อเดือน ถ้าเกิน 5,000 บาทดอกเบี้ยร้อยละบาท

ต่อมาราวเดือน ส.ค.2563 “ราคาทอง” ผันผวนอย่างหนักปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 30,000 กว่าบาท ทำให้ “ลูกค้าหลายคน” กลับเข้ามาใช้บริการ “ไถ่ถอนทอง” นำไปขายขาดต่อตาม “ร้านทอง” เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ในบางคนไม่มีเงินไถ่ถอนก็เข้ามาขอเพิ่มวงเงินแทนด้วยซ้ำ

...

อีกทั้งยังมาซื้อทองคำในโรงรับจำนำ เพราะราคาถูกกว่าร้านค้าทองไม่มีค่ากำเหน็จราคารับจำนำด้วย และไม่นาน “รัฐบาล” มีมาตรการเยียวยา “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” ในการช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน บรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบในครั้งนั้น ทำให้ชาวบ้านมีเงินมาไถ่ถอนสิ่งของจำนำเป็นระยะตามมา...

กระทั่งต้องมาเจอ “การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่” แต่กลับไม่มี “ประชาชน” เข้ามาใช้บริการมากเท่าที่ควรนัก เพราะมีโครงการ “ไทยชนะ คนละครึ่ง” เข้ามาพยุงเงินในกระเป๋าประชาชน “ซัพพอร์ต” ในช่วงรายได้หดหายไป กรณี “ว่างงานจากถูกเลิกจ้าง” ก็ได้รับเงินชดเชยร้อยละ 70 ปีละไม่เกิน 200 วัน

ดังนั้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 “คนเข้ามาใช้บริการกับโรงรับจำนำ” ค่อนข้างเงียบเหงาบางตา ที่ไม่เยอะเหมือน “โควิด-19 ระลอกแรก” เพราะเหตุการณ์ “ตกงานเฉพาะหน้า” ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ตอนนี้ “ประชาชน” กำลังเผชิญปัญหา “เศรษฐกิจตกต่ำ” เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายครัวเรือน หรือค่าเล่าเรียนบุตรหลานเป็นหลัก...

...

สิ่งสำคัญการระบาดระลอกใหม่นี้เป็นการซ้ำเติมให้ “ประชาชน” ขาดสภาพคล่องการเงินหนักขึ้น อีกทั้ง “ทรัพย์สินของมีค่า” ก็ถูกนำไปขายขาดจำนำไปก่อนนี้แล้วคงเหลือ “เครื่องใช้ทั่วไป” สังเกตจาก “ผู้มาใช้บริการ” มักขนเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งของเก่าเก็บโบราณ ไม่เว้นแม้แต่ “ครกสากหิน” นำมาจำนำให้ได้เงิน 100 บาทไปประทังชีวิตก็ยังดี

เช่นเดียวกับ “สถานธนานุบาลเทศบาลนครนครราชสีมา 1” มีประชาชนเข้ามาใช้บริการโรงรับจำนำบางตาไม่คึกคักเท่ากลางปี 2563 ปิยะดา วงศ์ละคร ผจก.สถานธนานุบาลเทศบาลนครนครราชสีมา 1 บอกว่า ในปี 2563 ประชาชนต่างนำทรัพย์สินเข้ามาจำนำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะก่อนเปิดภาคเรียนคึกคักเป็นพิเศษ

ส่วนใหญ่มักเป็นทองรูปพรรณน้ำหนักชิ้นละ 1 สลึงจนถึงน้ำหนัก 1 บาท ในการเปลี่ยนเป็น “เงินสด” ออกไปใช้จ่ายแก้ปัญหาความเดือดร้อน ก่อนที่ช่วงหนึ่ง “ราคาทองคำผันผวนปรับตัวพุ่ง 3 หมื่นบาท” ทำให้คนแห่มาไถ่ถอนออกไปเพื่อนำ “ทองรูปพรรณขายขาด” ส่วนผู้ติดขัดก็ยังนำสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านมาจำนำอยู่เช่นเดิม

พอต้นปี...มีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ “ประชาชน” กลับไม่มีทรัพย์สินหลงเหลือให้นำมาใช้จำนำได้อีก ดังนั้น “ผู้เข้ามาใช้บริการ” จึงมีค่อนข้างน้อย ส่วนที่มาจำนำก็มี “สารพันสิ่งของเครื่องใช้” ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า โน้ตบุ๊ก ตู้เย็น ทีวี หม้อหุงข้าว เชี่ยนหมาก ขันเงิน เข็มขัดนาก สว่านไฟฟ้า จักรเย็บผ้า เสื้อผ้า

...

ล่าสุดก็มีชาวบ้านนำครกหินอ่างศิลามาจำนำไว้ 100 บาท แม้ว่า “เงินจำนวนนี้จะน้อยนิด” แต่สำหรับ “คนตกอับ” นับว่าเป็น “เงินอันมีค่า” สามารถซื้อข้าวให้คนทั้งบ้านได้อิ่มท้อง

ถ้าเป็น “โรงรับจำนำเอกชน” อาจจะไม่รับสิ่งของเครื่องใช้แบบนี้ แต่ “สถานธนานุบาล” เรารู้สึกเห็นใจ และเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้มักรับจำนำไว้เกือบทั้งหมด เพราะอย่างน้อยสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ “ผ่านวิกฤติโควิด-19” ไปได้ก่อนก็ยังดี

ย้ำอีกว่า...สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นี้ เรายังมีมาตรการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 1 เดือน เช่น จากเดิม 4 เดือน 30 วัน เป็น 6 เดือน 30 วัน มีมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 บาทต่อเดือน เงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน

ไม่ต่างจาก “โรงรับจำนำ จ.ภูเก็ต” ที่มีประชาชนมาใช้บริการน้อยเช่นกัน ธีระ สุวรรณศุภพนา ผจก.โรงรับจำนำอยู่เสง บอกว่า “ผู้อาศัยอยู่ใน จ.ภูเก็ต” มักเป็นคนต่างถิ่นมาจากจังหวัดอื่น เข้ามาทำงานเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เมื่อมีการเกิดการระบาดโควิด-19 “ประชาชน” ต่างเดินทางกลับภูมิลำเนาของตัวเองเกือบหมด

ทำให้ “จ.ภูเก็ต” มีผู้คนน้อยลง ส่งผลกระทบ “โรงรับจำนำ” มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการน้อยมาตั้งแต่ต้นปี 2564 อีกสาเหตุ “ลูกค้า” มีการนำทรัพย์สินออกไปขายขาด และบางคนก็มีการนำมาจำนำไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ในช่วง “โควิด-19 ระบาดแรกๆ” กลายเป็นว่า “ไม่มีทรัพย์สิน” นำมาฝากแลกเงินสดไปใช้ได้อีก

ตอนนี้ “ลูกค้า” ต้องนำ “สิ่งของเก่าเก็บโบราณ” ออกมาจำนำแทนเช่น ธนบัตรเก่า เหรียญเก่า ถ้วยชามโบราณ ส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องคัดเลือกเป็นประเภท เพราะ “หลุดจำนำไป” ไม่สามารถปล่อยขายต่อได้

นี่คือภาพสะท้อนความยากแค้นแสนสาหัสของ “ประชาชน” ในยามวิกฤติโควิด-19 ที่จำใจต้องนำสิ่งของอันเป็นที่รัก และเครื่องใช้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตออกมาแลกเป็นเงิน แม้ว่าจะไม่มากมายนัก แต่ก็เป็นเงินที่สามารถนำมาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัวให้อยู่รอดแต่ละวันในช่วงนี้...